กำลังซื้อหมูภาคใต้วูบ 40% สวนทางราคาเขียงพุ่ง

กำลังซื้อวูบ - การเลี้ยงสุกรในภาคใต้ส่วนหนึ่งส่งขายให้กับจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ แต่วันนี้ไม่มีต่างชาติเข้ามา ทำให้ยอดการบริโภคสุกรลดลงมาก

โควิดทำพิษกำลังบริโภค “หมู” ภาคใต้วูบ 40% สวนทางราคาสุกรขาขึ้น เหตุกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดฝั่งอันดามัน ภูเก็ต-กระบี่-สมุย-ชายแดนไทย-มาเลเซีย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หายเกลี้ยง ผู้เลี้ยงภาคใต้ปรับตัวดันส่งออกป้อนผู้บริโภคเวียดนาม-จีนขาดแคลนหนัก ราคาขายหมูเนื้อแดงจีน-เวียดนาม-กัมพูชาพุ่งทะลุ 250-350 บาท/กก. เทียบหมูเนื้อแดงไทยเฉลี่ย 160-180 บาท/กก.

นายปรีชา กิจถาวร กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะราคาสุกรได้เคลื่อนไหวขยับขึ้นโดยภาพรวมทั้งประเทศ เนื่องมาจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) กลุ่มประเทศใกล้เคียงได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล เช่น ประเทศจีน และเวียดนาม ฯลฯ กำลังผลิตสุกรหายไปปริมาณมาก แต่สำหรับประเทศไทยสามารถสกัดป้องกันโรค ASF ไว้ได้ทำให้มีความต้องการสุกรของไทยเข้ามาจากหลายประเทศ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงสุกรของไทยทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาต่างได้ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ประกอบการบางส่วนยุติการเลี้ยงสุกรไป ส่งผลให้สุกรหายออกไปจากระบบประมาณ 20% และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ภัตตาคาร ศูนย์การค้า โรงแรม เปิดบริการ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้เปิดการเรียนการสอน ส่งผลให้กำลังการบริโภคในตลาดมีปริมาณเพิ่มขึ้น

“หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลงช่วง 2 เดือนนี้ ราคาสุกรได้เคลื่อนไหวขยับขึ้นตลอด จนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต้องร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กำหนดราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาหมูเนื้อแดงที่เขียงจะบวกต้นทุนการผลิตอื่น ๆ เพิ่มเป็น 160-170-180 บาท/กก.และราคาหมูพรีเมี่ยม 200 บาท/กก. เช่น สันคอ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดงที่เขียงหมูเหมาะสมที่ 160 บาท/กก. และขอยืนยันถึงรัฐบาลและประชาชนว่า สุกรภายในประเทศจะไม่เกิดการขาดแคลนอย่างแน่นอน”

นายปรีชากล่าวอีกว่า สำหรับผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้หายออกไปจากระบบประมาณ 20% ส่งผลให้สุกรที่มีกว่า 100,000 แม่พันธุ์ ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 80,000 แม่พันธุ์ ขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคสุกรในภาคใต้กลับลดลงมากกว่า 40% เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวหลักในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ สมุย และพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศได้หดหายไปหมด จึงมีผลต่อการบริโภค แต่ถึงอย่างไรผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้ยังได้อานิสงส์การส่งออกสุกรไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดเวียดนามและจีนประมาณ 5% ทั้งนี้ การส่งออกมีการจำกัดปริมาณเพื่อป้องกันไม่ให้สุกรภายในประเทศไทยขาดแคลน

“ถ้าเทียบราคาเนื้อหมูต่างประเทศที่เกิดปัญหาการขาดแคลนเนื้อหมู เช่น จีนราคา 350 บาท/กก. เวียดนามประมาณ 250 บาท/กก. และกัมพูชาประมาณ 200 บาท/กก.”

นายปรีชากล่าวอีกว่า ในขณะเดียวกันทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมสุกรส่วนภูมิภาค และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัด “มหกรรมหมูธงฟ้า” ไปทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรพบกับผู้บริโภคโดยตรง เป็นนโยบายการสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภค จะทำให้ราคาถูกลงกว่าเขียงมาก เช่น หมูเนื้อแดง ขายในราคา 130 บาท/กก.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63 ได้จัดมหกรรมหมูธงฟ้าที่ จ.ชลบุรี ได้รับการตอบรับที่ดี และวันที่ 30 ก.ค. 63 จะจัดมหกรรมหมูธงฟ้าที่ จ.พัทลุง บริเวณสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง และวันที่ 7 ส.ค. 63 จะจัดพร้อมกันทั่วประเทศทุกภูมิภาค แต่ไม่ครบทุกจังหวัด โดย จ.สงขลาจะจัดที่บริเวณห้างสรรพสินค้าโอเดียน เทศบาลนครหาดใหญ่ และจะทยอยจัดไปวันละ 1,000 กก. โดยผู้บริโภคซื้อได้ประมาณ 1 กก.ต่อคนสูงสุด