ลิงเก็บมะพร้าวทำ “ชาวเกาะ” ยอดวูบ 30% เชิญ 4 ทูตลงสวนกู้ภาพกะทิไทย

แก้ภาพลักษณ์ - สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ร่วมกับบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด พาคณะทูต 4 ประเทศ ลงพื้นที่ จ.นครปฐมและสมุทรสงคราม ชมกระบวนการผลิตและเก็บมะพร้าวโดยใช้คน หลังประเทศไทยถูกกล่าวหาใช้ลิงเก็บมะพร้าว

“เทพผดุงพรมะพร้าว” เจ้าของแบรนด์กะทิชาวเกาะ สูญส่งออกตลาดอังกฤษ 30% เหตุ PETA เล่นกล่าวหาใช้ลิงเก็บมะพร้าว ผนึกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแก้เกมกลับ เชิญทูต 4 ประเทศ”สวีเดน-สวิตเซอร์แลนด์-เนเธอร์แลนด์-รัสเซีย” ลงพื้นที่สวนมะพร้าว 2 จังหวัด “นครปฐม และสมุทรสงคราม” ให้ข้อมูลการสอยมะพร้าวโดยใช้คน เร่งดึงภาพลักษณ์แบรนด์กะทิไทยกลับ เผยที่ผ่านมาชาวเกาะทำ MOU ไม่ใช้แรงงานลิงกับชาวสวนและซัพพลายเออร์ 5 จังหวัด “สมุทรสงคราม ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช นราธิวาส”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้ร่วมกับบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ได้พาคณะทูตและตัวแทนจากสถานทูตของประเทศยุโรปจาก 4 ประเทศ ลงพื้นที่เข้าชมกระบวนการผลิตและสวนมะพร้าว ภายหลังจากที่องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ออกมากล่าวหาประเทศไทยมีการใช้ “ลิงกัง” เป็นเสมือนหนึ่ง “เครื่องเก็บมะพร้าว” พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริโภคไม่สนับสนุนการใช้แรงงานลิง โดยเลิกซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ผลิตและส่งออกจากไทย ส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ต่างขานรับข้อเรียกร้องของ PETA ด้วยการหยุดนำเข้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทยออกจากชั้นวางของทันทีนั้น

ทูต 4 ชาติดูวิธีเก็บมะพร้าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณี PETA กล่าวหาว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงเป็นเครื่องจักรในการเก็บมะพร้าว เพื่อส่งเข้าโรงงานผลิตกะทิ ส่งผลกระทบเพียงประเทศอังกฤษเท่านั้น ซึ่งเป็นผลกระทบในวงจำกัด เพราะว่าไม่ได้เกิดการแบนจากรัฐบาลอังกฤษ แต่เกิดจากห้างค้าปลีกบางรายซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 ห้างที่มีการนำผลิตภัณฑ์สินค้าออกจากชั้นวางจำหน่าย ดังนั้น ทางสมาคมจึงได้พาคณะทูตและตัวแทนจากสถานทูต 4 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย รวมถึงสื่อมวลชนและภาครัฐของไทยลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม และสมุทรสงคราม เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต การสอยเกี่ยวมะพร้าวโดยไม่มีการใช้ลิง รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ ซึ่งทุกขั้นตอนมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) และเร่งดึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ผลิตภัณฑ์กลับมาให้เร็วที่สุด

“หลัก ๆ มีกะทิ 2 แบรนด์ที่ได้รับผลกระทบคือ กะทิตราชาวเกาะ และอร่อยดี แต่ผลกระทบตอนนี้ถือว่ายังไม่มากนัก มีเพียงไม่กี่ห้างที่นำสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่าย สร้างความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์ ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับประเทศไทย จึงจำเป็นต้องช่วยกันสื่อสารความถูกต้องออกไป ซึ่งการพาคณะทูตลงพื้นที่ครั้งนี้ถือว่าผลการตอบรับดีมาก เพราะทางคณะทูตบอกว่าไม่เคยเห็นอุตสาหกรรมมะพร้าวแบบนี้ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งทางสมาคมต้องการให้ทุกภาคส่วนมาช่วยสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไปให้ประชาคมโลกได้รับทราบว่าความจริงของอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยนั้นเป็นอย่างไร”

นายวิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 ประเทศไทยส่งออกกะทิมูลค่า 12,766 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ประเทศไทยมีการส่งออกกะทิมูลค่า 5,073 ล้านบาท หดตัวประมาณ 4.5% เนื่องจากเจอสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ของประเทศเกือบทั่วโลก

ลิงทำกะทิชาวเกาะวูบ 30%

นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานชาวเกาะ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด เจ้าของแบรนด์กะทิชาวเกาะ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สืบเนื่องจากกรณี PETA กล่าวหาไทยว่ามีการใช้แรงงานลิงอย่างทารุณ ทำให้ภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ “กะทิชาวเกาะ” ที่มีการส่งออกสัดส่วน 80% และขายภายในประเทศ 20% ได้รับผลกระทบเฉพาะตลาดในประเทศอังกฤษประมาณ 20-30% เนื่องจากมีการนำสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่จำนวน 4 แห่ง ถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ทางบริษัทมองว่าเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ผลิตภัณฑ์มากกว่า เพราะลูกค้าหลายรายถามเข้ามาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

“ลูกค้าประเทศอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอังกฤษหรือโซนยุโรป มีการถามประเด็นนี้เข้ามา ซึ่งทางบริษัทได้ให้ข้อมูลตอบกลับไปว่าเป็นอย่างไร ทั้งกระบวนการเก็บเกี่ยวมะพร้าว การแปรรูปเบื้องต้นและระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ซึ่งเรามีเอกสารยืนยันการลงนาม MOU กับเกษตรกรว่าไม่มีการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ซึ่งลูกค้าพอเข้าใจในส่วนนี้ ส่วนประเด็นการนำผลิตภัณฑ์ออกจากชั้นวางจำหน่ายมีเพียงที่ประเทศอังกฤษ ส่วนทางโซนยุโรปยังไม่แน่ใจ ส่วนใหญ่ห้างเฉพาะกลุ่มไม่ได้กระทบทั้งหมด เพราะต่างชาติบางส่วนเข้าใจในวิถีชีวิตของคนไทย”

ที่ผ่านมาบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าวได้ออกประกาศยืนยันว่า สินค้าบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว และได้พาคณะทูตและตัวแทนจากสถานทูตของประเทศยุโรปจาก 4 ประเทศลงพื้นที่เข้าชมกระบวนการผลิตและสวนมะพร้าวเพื่อชี้ให้เห็นว่าบริษัทดำเนินการตามมาตรฐานสากล โดยทางบริษัทได้มีการเซ็น MOU ว่าด้วยการไม่ใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวร่วมกับชาวสวนและซัพพลายเออร์ทั้งหมด 5 จังหวัดประกอบด้วยสมุทรสงคราม ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์นครศรีธรรมราช และนราธิวาส

ทั้งนี้ ทางบริษัทยังได้มีการตรวจสอบคุณภาพของซัพพลายเออร์ เพื่อรับประกันว่าซัพพลายเออร์จะปฏิบัติตามมาตรฐานของบริษัทประกอบด้วย 5 เกณฑ์คือ กระบวนการเก็บมะพร้าว คุณภาพของมะพร้าว ความสูงของต้นมะพร้าว การจัดการสวน และการไม่ใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว ปัจจุบันได้ทำการตรวจคุณภาพของซัพพลายเออร์ไปแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม และราชบุรี พบว่าไม่มีการใช้แรงงานลิง โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบโค้ดดิ้ง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบตลอดซัพพลายเชนของการผลิตสินค้าได้ว่าผลิตภัณฑ์มะพร้าวของบริษัทได้นำวัตถุดิบจากที่ไหนมาใช้ในการผลิต