ท่องเที่ยว จ. ตราด ทรุดหนัก ร้องประกันสังคมอุ้ม จี้แบงก์แก้กฎ “ซอฟต์โลน”

ทะเล
สัมภาษณ์

“ตราด” หนึ่งในจังหวัดที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท วันนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวอื่น “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์” ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด ถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจ จ.ตราดช่วงไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 ปี 2563 ว่า ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงไตรมาส 1 ก่อนเกิดโควิด-19 และเมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้ไตรมาส 2-3 ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดตราดมีผลกระทบมากกับการท่องเที่ยวที่เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจหลัก

หวั่นโรงแรมปิดกิจการเพิ่ม

แม้ไตรมาส 3 ปลดล็อกดาวน์มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้และการเพิ่มมาตรการกระตุ้นของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.ตราด และโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาล ทำให้ไตรมาส 4 มีกระแสการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวคึกคัก โรงแรมที่พักเต็มในช่วงวันหยุดยาวเดือนกรกฎาคมและน่าจะต่อเนื่องไปไม่เกินตุลาคม แต่อีกด้านหนึ่งโรงแรมที่พักโดยเฉพาะเกาะช้างที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จำนวนโรงแรมทั้งหมดเกือบ 300 แห่ง มีโรงแรม 20-30% ยังไม่ได้เปิดบริการ และไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเปิดได้ทั้งหมดเหมือนเดิมหรือไม่ ตราบใดที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังเป็น 0

รายได้จากการจัดเก็บภาษีปี 2563 ภาพรวมลดลงประมาณ 40% หรือประมาณ 150-160 ล้านบาท เพราะรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวหายไปช่วง 3 เดือนที่มีโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้ด้านท่องเที่ยวปีละเกือบ 20,000 ล้านบาทลดลงด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นรายได้หลักที่เกี่ยวเนื่องภาคท่องเที่ยวลดลง ภาคอุตสาหกรรมภาษีมูลค่าเพิ่มน้อย ธุรกิจโรงแรมที่ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ หรืออาจจะปิดกิจการ 20-30% นั้น ในจำนวนนี้ 70% เป็นธุรกิจ SMEs ขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น โฮมสเตย์ เกสต์เฮาส์ ลองสเตย์ ขนาด 5-10 ห้องที่รองรับชาวต่างประเทศเป็นหลัก ตอนนี้ที่เกาะช้างเริ่มมีการประกาศขายกิจการบ้างแล้ว

อีก 30% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรมขนาดกลาง 40-50 ห้องรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เปิดแต่นักท่องเที่ยวมาพัก 10 ห้อง รายได้ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ไม่มีเงินมาเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ท้ายสุดอาจต้องปิดกิจการ ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น-ระยะยาวรองรับ ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม-สิงหาคม มีนักท่องเที่ยวคนไทยมาเที่ยวกันคึกคัก ประเมินว่าช่วงอายุ 18-40 ปี และเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่ในช่วงปิดเทอม ส่วนโครงการเที่ยวปันสุขของรัฐบาลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น ๆ ถึงเดือนตุลาคม ถ้าไม่มี travel bub-ble และการเปิดน่านฟ้าให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะทำให้การท่องเที่ยวซึมยาว

รายย่อยเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน

ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือให้ธุรกิจประคับประคองตัวรอให้สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว คือ 1) การลดอัตราประกันสังคมนายจ้าง : ลูกจ้าง 4 : 1 ในช่วงโควิด และการรับเงินประกันสังคม 62% ครบ 3 เดือน ในเดือนกรกฎาคม นายจ้างลูกจ้างต้องกลับมาจ่ายเงินอัตรา 5 : 5 ตามปกติ และถ้ายังปิดกิจการอยู่ต้องจ่ายเงินเดือน 75% ควรผ่อนปรนอัตรา 4 : 1 ควรผ่อนปรนเหมือนช่วงโควิดอีกระยะหนึ่งเพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างมีเงินหมุนเวียนและจับจ่ายใช้สอยในภาคธุรกิจอื่น ๆ

2) ปัญหาเลิกจ้างแรงงาน สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมที่หยุดหรือปิดกิจการ 20-30% นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือน 75% ให้แรงงานที่ยังไม่ได้กลับมาทำงาน จะชะลอการเลิกจ้างไปไม่กี่เดือนเท่านั้น ในที่สุดต้องเลิกจ้าง ทางออกคือต้องพยายามไม่ให้ธุรกิจล่มเพื่อให้มีการจ้างงาน แต่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สร้างรายได้หลัก 70-80% ตอนนี้เป็น “0” การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ travel bubble ไม่น่าจะทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้นมากนัก เพราะมีข้อจำกัดตามมาตรการ เงื่อนไข รวมทั้งปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของต่างประเทศที่ลดลง ตลาดนักท่องเที่ยวไทยเป็นเพียงส่วนน้อย กำลังซื้อลดลง ถูกลดเงินเดือน การใช้จ่ายประหยัดเพื่อเก็บเงินสดไว้ 3) มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ระยะเวลาผ่อนชำระ 2 ปี ยังติดปัญหา SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลางเข้าไม่ถึง

สถาบันการเงินต้องเร่งปล่อยกู้ซอฟต์โลน แม้รัฐบาลมีวงเงินให้ถึง 500,000 บาท แต่ทั่วประเทศกู้ไปเพียง 120,000 ล้านบาท เพราะติดเงื่อนไขปัญหา NPL และงบกำไร-ขาดทุน สถานการณ์จริงบางธุรกิจส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ก่อนมีโควิดนำมาเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่มีโควิดทำให้ขาดทุน และทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขขอกู้ แม้ว่าต่อมาจะผ่อนปรนให้ใช้งบฯ 3 ปีขาดทุนได้ในปีที่ 1 แต่ปีที่ 2 และ 3 ขอให้มีกำไรรวมกับค่าทรัพย์สินของทุนไม่ติดลบ แต่สำหรับ SMEs รายย่อยมีทุนจดทะเบียนน้อยเป็นหลักแสน ถ้าปีแรกขาดทุนปีที่ 2 ปีที่ 3 จะลดลง การกู้จะได้วงเงินน้อยลง ถ้าจะให้ทุนมากเพื่อให้กู้วงเงินสูงขึ้น ต้องทำงบบัญชีเพิ่มทุน สภาพความจริงถ้าผู้ประกอบการมีเงินมาเพิ่มทุน 4-5 แสนบาทไม่จำเป็นต้องกู้เงินแล้ว

เปรียบเทียบกับกิจการขนาดใหญ่เงินลงทุน 10-20 ล้านบาท ขาดทุน 1-2 ล้านบาท ต้นทุนไม่ติดลบ การกู้ผ่านเกณฑ์ง่ายกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือลูกค้าเดิม ๆ ที่กู้มาใช้แทนเงินสดที่เก็บไว้ บางธนาคารเข้ามาขอให้กู้ด้วยซ้ำ เงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ธนาคารควรเร่งปรับตามความน่าจะเป็น ไม่ควรใช้ข้อมูลย้อนหลังปี 2562 รัฐบาลไม่น่าห่วงเพราะมี บสย.ค้ำประกันอยู่แล้ว ควรโฟกัสไปข้างหน้า ดูสินค้าที่ผลิตและบริการที่เป็นไปได้ มีตลาดรองรับ ธนาคารเองมีข้อจำกัดในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีต้นทุนสูงต้องตั้งเงินสำรอง 100% ป้องกันกรณีที่คาดว่าจะเป็น NPL และไม่มีเงื่อนไขพิเศษช่วยธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กให้เข้าถึงได้ การประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสินยังไม่เข้าถึงธุรกิจอื่น ๆ บุคคลทั่วไปยังเข้าใจว่าช่วยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว

ขอลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1%

หลักการธุรกิจต้องทำให้เกิดสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียน ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่ภาคธุรกิจยังไม่สามารถทำรายได้กลับมา 100% ก่อนเกิดโควิด-19 มีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปี 2562 ขอลดจาก 3% เหลือ 1% ตั้งแต่เมษายน-กันยายน 2563 แต่รัฐบาลลดให้เหลือเพียง 1.5% เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 คณะกรรมการเงินและภาษี ส.อ.ท.ได้เสนอรัฐบาลขอลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1% ตั้งแต่ 1 ตุลาคม2563-30 กันยายน 2564

ตอนนี้เข้าสู่ยุคภาวะเงินเฟ้อติดลบ ได้แค่ประคองตัวไปเพราะตลาดการบริโภคเป็นภายในประเทศ 1 ใน 3 ต่างประเทศ 2 ใน 3 เมื่อตลาดบริโภคต่างประเทศไม่ดี ตลาดภายในอัตราการบริโภคน้อยไม่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น จังหวัดตราดแม้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก คือ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร การประมงหดตัวลง ออร์เดอร์ลดลง หรือการประสบกับภาวะต้นทุนสูง ขาดแคลนวัตถุดิบ ภาวะเงินเฟ้อส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ก่อนโควิด-19 เมื่อมีสถานการณ์โควิดโรงงานบางแห่งถือโอกาสปิดไป คาดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศฟื้นตัวกลับมาได้เร็วสุดประมาณกลางปี 2564 หรือช้าสุดปลายปี 2564 ส่วนตลาดต่างประเทศยังมองไม่เห็นเพราะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ

เกษตรทางรอดเร่งทำมาตรฐาน

ด้านเกษตรกรรม จ.ตราด ปี 2563 เลี้ยงตัวเองได้เพราะตลาดจีนฟื้นตัวหลังโควิด-19 มีความต้องการปริมาณมากโดยเฉพาะทุเรียน และมีแรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาทดแทนแรงงานต่างชาติ แต่อนาคตคู่แข่งจากเพื่อนบ้านและการทำการค้าตลาดต่างประเทศ ปัญหาการพัฒนาคุณภาพ GAP ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งการรับรองมาตรฐานผ่านหน่วยงานราชการจะได้รับความเชื่อถือมากกว่าองค์กรภาคเอกชน ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนได้เตือนผลไม้ไทยที่ส่งไปไม่ได้มาตรฐานหลายครั้ง และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมภาคอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรจากตลาดต่างประเทศอาจถูกกีดกันทางการค้า วัตถุดิบต้องตรวจสอบแหล่งผลิตได้ และสิ่งสำคัญต้องพยายามหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่พึ่งพาตลาดใหญ่ เช่น จีน และสหรัฐ เพียง 2 ประเทศ


“การท่องเที่ยวเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดตราด ทำรายได้ปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท ควรให้กระจายตัวอยู่บนฝั่งตัวเมืองไปอำเภอคลองใหญ่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและให้เศรษฐกิจตัวเมืองได้ขยายตัว ไม่ใช่เฉพาะเกาะ 3 เกาะ คือ เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เพราะช่วงโควิดประกาศปิดเกาะช้างเศรษฐกิจจังหวัดตราดกระทบอย่างหนัก และแผนการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านท่าเส้น จ.ตราด-บ้านทมอดา จ.โพธิสัตว์ ประเทศกัมพูชา จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดได้ เพราะมีคนจีนมาทำธุรกิจอยู่ชายแดน 1-2 แสนคน หากเปิดให้มีการเดินทางเข้า-ออก ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามชายฝั่ง การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคหาวิธีการดึงให้ท่องเที่ยวและจับจ่ายในจังหวัดตราดก่อนจะไปเที่ยวเกาะช้าง พัทยา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนขับเคลื่อนด้วยกัน”