ระดับแม่น้ำโขงหนองคาย ขึ้นวันเดียว 80 ซม. หวั่นกระชังปลานับพันเสียหาย

แม่น้ำโขง หนองคาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วันเดียวขึ้นเกือบ 80 ซม. คาดพรุ่งนี้ (5 ส.ค.2563) ขึ้นเกิน 1 เมตร เนื่องจากเกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของไทย และ สปป.ลาว จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ซินลากู” เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขงต้องดูแลกระชังอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยปรับกระชังให้มีความเหมาะสมกับระดับน้ำที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และคอยระวังเศษไม้ ท่อนไม้ที่จะชนกระชังปลาจนเกิดความเสียหายได้

ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วันนี้ (4 ส.ค.2563) มีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีฝนตกหนักทางตอนเหนือของไทย และ สปป.ลาว จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ซินลากู” ทำให้มีน้ำไหลลงในแม่น้ำโขงจากลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขงทั้งในไทย และ สปป.ลาว ในปริมาณมาก

ระดับน้ำ แม่น้ำโขง

ล่าสุดระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 4.20 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ถึง 76 ซม. ซึ่งระดับน้ำโขง 2 วัน (3 – 4 สิงหาคม 2563) รวมกันมีระดับสูงขึ้นถึง 1.05 เมตร และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ววันเดียวเกิน 1 เมตร ในวันพรุ่งนี้ (5 สิงหาคม 2563) เนื่องจากระดับน้ำโขงทางตอนเหนือ คือที่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย วันนี้ (4 สิงหาคม 2563) มีระดับเพิ่มขึ้นมากถึง 1.70 เมตร คาดว่าจะไหลมาถึงจังหวัดหนองคาย ภายใน 18 – 20 ชั่วโมงนี้

ระดับน้ำโขงที่มีระดับขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่บ้านพร้าวใต้ และบ้านเจริญสุข ต.หินโงม อ.เมือง จ.หนองคาย ที่มีผู้เลี้ยงปลากระชังกว่า 100 ราย กระชังปลากว่า 1,000 กระชัง ต้องอยู่เวรยามดูแลกระชังอย่างใกล้ชิด ต้องคอยปรับเชือกและสลิงที่ยึดกระชังให้เหมาะสมกับระดับน้ำที่ขึ้นลง และคอยตรวจเช็กเชือกและสลิงที่ยึดกระชังปลาไว้ว่ามั่นคงแข็งแรงหรือไม่ หากไม่มั่นคงแข็งแรงก็ได้เปลี่ยนออก

อีกทั้งยังต้องมีการตรวจเช็กความแข็งแรงของกระชังปลา เพราะช่วงที่น้ำขึ้นฉับพลัน อาจจะมีท่อนไม้ลอยมากับน้ำมาชนกระชังปลาให้เสียหายได้ และยังได้มีการนำไม้ไผ่มาผูกมัดไม้ไผ่เป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณกระชังปลากระชังแรกเพื่อป้องกันเศษไม้และท่อนไม้ลอยมาชนกระชังปลา เพราะหากกระชังก็จะทำให้กระชังเสียหายปลาที่เลี้ยงอาจจะออกได้ ซึ่งปลาที่ยังมีขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะปลาที่ขนาดเล็กจะแข็งแรงกว่าปลาที่มีขนาดใหญ่ ปลาขนาดใหญ่ที่เลี้ยงมา 4 – 5 เดือนใกล้จะได้จับขายแล้วจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากน้ำที่ขึ้นเร็วและเชี่ยวจะซัดกระชังปลา ปลาที่เลี้ยงจะไปชนกับกระชังทำให้ปลาเกล็ดถลอก ป่วยและตายได้

ระดับน้ำ แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขง กระชังปลา