ตรังเปิดรับฟัง EIA บริหารลุ่มน้ำฝั่งตะวันตกรับเมืองโต

แหล่งน้ำ
แฟ้มภาพประกอบช่าว

ตรังประชาพิจารณ์ EIA ยุทธศาสตร์และแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก 11 จังหวัด หวังแก้น้ำท่วม จัดหาแหล่งน้ำดิบรองรับท่องเที่ยว-พัฒนาเมือง

นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ จังหวัดตรังได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เวทีที่ 2 โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก (EIA) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงข้อมูลรายละเอียดของโครงการ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน สำหรับลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 12.31 ล้านไร่ ครอบคลุม 11 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี สภาพปัญหาของพื้นที่ คือ ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแหล่งน้ำธรรมชาติ การใช้น้ำส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตร โดยมีพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ยางพารา รองลงมาเป็นการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว

“สภาพปัญหาในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาน้ำท่วม บริเวณลุ่มน้ำกระบุรี ลุ่มน้ำคลองละอุ่น คลองตะกั่วป่า ในขณะที่ปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่ในระดับปานกลาง ไม่มีพื้นที่วิกฤตแล้ง แต่ปัญหาสำคัญของลุ่มน้ำ คือ การขยายตัวของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ซึ่งจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองได้ยาก ต้องเน้นการจัดการด้านความต้องการน้ำ จัดทำมาตรการด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองที่เหมาะสม”

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นควรมีการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก เพื่อให้การพัฒนาของลุ่มน้ำสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือมีผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการบริหารทรัพยากรน้ำ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแผนงานการพัฒนาโครงการในอนาคตการป้องกันอุทกภัยและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การดำเนินการแก้ไขปัญหาของพื้นที่เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการบริหารทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแผนงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณและสามารถบริหารทรัพยากรน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”