ประชา งามรัตนกุล จี้รัฐแก้ผังเมือง-หาแหล่งทุนอุ้ม โรงงานไม้ยาง

ยางพารา
TENGKU BAHAR / AFP
สัมภาษณ์

จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1.6 ล้านไร่ ดังนั้น อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงเกี่ยวเนื่องกับยางพาราเป็นหลัก ประชาชาติธุรกิจมีโอกาสสัมภาษณ์ “ประชา งามรัตนกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในจังหวัด การส่งออก และทิศทางราคา

ประชาบอกว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดตรัง ประสบปัญหาในการพัฒนาธุรกิจค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาวิกฤตโควิด-19 การขาดสภาพคล่อง เนื่องจากยอดการขายทรุดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราจังหวัดตรัง เคยทำรายได้เข้าจังหวัดวันละ 25 ล้านบาท หรือประมาณ 1,000 กว่าล้านบาทต่อปี วันหนึ่งผลิตสินค้าอยู่ 4,000 ตู้ แต่ละตู้มีมูลค่า 5 แสนบาท ยังไม่รวมปีกไม้ที่เลื่อยจะมีรายได้อีกประมาณ 5 ล้านบาทต่อวัน รวมโรงงานทำยางอัดก้อน แต่ทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราหาเงินให้จังหวัดได้วันละ 8 ล้าน ต้องคอยดูสิ้นปีนี้ไม้ยางจะมีเงินเข้าจังหวัดเป็น 100 ล้านบาทได้หรือไม่

เนื่องจากธุรกิจไม้ยางพาราพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทแข็ง ยิ่งส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลงไปอีก การค้าขายลำบาก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของจังหวัดตรังถดถอยลดลงไปด้วย ต่อไปอุตสาหกรรมขนาดกลางจะอยู่ได้บางส่วน ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นมิเช่นนั้นจะอยู่กันไม่ได้แน่นอน

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทุกคนพยายามปรับตัวกันอยู่เรื่อย ๆ การเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ถือเป็นตัวซ้ำเติมเหตุการณ์เศรษฐกิจที่แย่มายาวนานหลายปี คล้าย ๆ ร่างกายบอบช้ำอยู่แล้ว บอบช้ำหนักไปอีก ภาคอุตสาหกรรมถดถอยมาอยู่ในระดับล่าง ปัจจุบันนี้ไม่รู้จะถอยไปไหนแล้ว หมายถึงน่าจะไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว ถ้าถอยไปกว่านี้ไม่ต้องอยู่กันแล้ว หลังจากนี้คงจะดีขึ้น

ขณะที่ช่วงแรก ๆ ที่เกิดโควิด ผู้ประกอบไม้ยางพาราไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ เพราะจีนปิดท่าเรือ ตอนนี้ที่มีการระบาดของโควิดรอบ 2 ในจีน ยังมองไม่ชัดว่ารัฐบาลจีนจะเอาอยู่หรือไม่

การระบาดของโควิดมีผลดีเฉพาะราคาน้ำยางสด เพราะโรงงานผลิตถุงมือยางขายดี ผลพวงสุดท้ายกลับไปสู่เกษตรกร

SMEs ขาดสภาพคล่องหนัก

สถานการณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ใหญ่ กลาง เล็ก โดยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มีผลกระทบ แต่อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก เดือดร้อน เพราะโรงงานพวกนี้ใช้เงินจากธนาคาร รอบการส่งสินค้าที่ผ่านมาช้ามาก ไปถึงจีนเรือต้องจอดรอไม่ให้เข้า กว่าสินค้าไปถึงต้องใช้เวลานานมาก แต่พอสินค้าไปถึงจีน ผู้นำเข้าจีนบอกว่า ธุรกิจแย่มาก ขายสินค้าไม่ได้ ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กถึงเวลาหาเงินกลับมาไม่ทัน ซื้อวัตถุดิบน้ำยาง ไม้ยางพารา ใช้เงินสด ทำให้กิจการพวกนี้สภาพคล่องไม่ดี

นายประชากล่าวอีกว่า รัฐบาลบอกให้ธนาคารช่วยลูกค้าด้วยการให้หยุดชำระเงินต้น 6 เดือน และให้ชำระดอกเบี้ย พร้อมเพิ่มวงเงินกู้มาให้ แต่ธนาคารไม่ปล่อยให้ ตอนนี้ความเดือดร้อนไปยังอุตสาหกรรมระดับกลาง และ SMEs ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะเงินกลับมาไม่ทันตามระยะเวลาที่ต้องการ คนที่ไม่ไหวต้องปิดโรงงาน แรงงานเมียนมาที่อยู่ในโรงงานต้องกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่ให้เคลื่อนย้ายคนระหว่างประเทศ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะทำอย่างไร ชีวิตคนต้องอยู่ ต้องกิน ต้องใช้ รัฐบาลช่วยไม่เต็มที่

“ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมบอกได้เลยว่า มีคนทำผิดกฎหมายอยู่ รวมถึงภาคเกษตรและบริการผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการจะมาให้รัฐบาลไทยออกบัตรสีชมพูรัฐบาลบอกไม่ออกให้แล้ว ตอนนี้ถ้าสังเกตให้ดีมีคนงานผิดกฎหมายในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และมีเจ้าหน้าที่ไปรีดไถ นี่ก็คือความเดือดร้อน ซ้ำเติมขึ้นมาทันที รัฐบาลต้องชัดเจนในเรื่องแรงงานต่างด้าว การจัดหางาน รัฐบาลช่วยกรุณาให้เจ้าหน้าที่รัฐเดินไปในทิศทางเดียวกัน”

หากรัฐบาลต้องการปลุกเศรษฐกิจขึ้นมา เพียงช่วยกรุณาหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการมีเงินใช้หมุนเวียน มาซื้อไม้ยางพารา ซื้อน้ำยางไปทำยางแผ่น สามารถเลี้ยงแรงงานได้แล้ว คนเหล่านี้เป็นแขนขาให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก แต่ตอนนี้ไม่มีเงินพอจะซื้อวัตถุดิบ รัฐบาลต้องช่วยให้ผู้ประกอบการ ดีกว่าเอาเงินไปแจก

ติดขัดอำนาจรัฐไม่เอื้อธุรกิจ

นายประชาบอกว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้รัฐบาลช่วยในระยะยาว ไม่ใช่ช่วยเพียงระยะสั้น รัฐเป็นผู้ส่งเสริม และควบคุมกฎหมายบังคับทุกเรื่อง แต่กลับทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของผู้ประกอบการไทยลดลง และอ่อนแอ โลกทุกวันนี้แข่งขันกันด้วย 2 อย่าง คือ 1.คุณภาพ และ 2.ราคา เรื่องคุณภาพ ผู้ประกอบการต้องพัฒนา แต่เรื่องต้นทุนติดขัดจากอำนาจรัฐ ต้องรีบแก้โดยเร็ว

ยกตัวอย่าง ผมต้องการลดต้นทุนพลังงาน ผมติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในโรงงาน ก็โดนกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานมาควบคุม ลงทุนมาปีครึ่งแล้ว รอให้การไฟฟ้าฯมาจัมป์ไฟ แต่ผมเพิ่งจ่ายไฟไปได้3 วันที่ผ่านมา โดยการไฟฟ้าฯให้เหตุผลว่า ติดโควิดมาตรวจคุณภาพไม่ได้ ขอเลื่อนไปก่อน การอำนวยความสะดวกทางภาครัฐเพื่อให้เกิดธุรกิจประเทศไทยเรามีน้อยมาก นั่นคือสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข

นอกจากนี้ ผมเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา กว่าจะได้ใบอนุญาต ต้องขออนุญาต 2 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่รู้ต้องผ่านกี่ขั้นตอน รัฐแก้ได้หรือไม่ ทำไมต้อง 2 กระทรวง ทำไมต้องเก็บค่าธรรมเนียมเยอะ

รวมเรื่องกฎหมายป่าไม้ ที่โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484 สมาคมไม้ยางพาราขอแก้มาเป็นเวลา 20 ปี ไม่ได้รับการแก้ไข ปี พ.ศ. 2514 เรื่องเครื่องเลื่อยยนต์ที่โดนจับอยู่ ทุกวันนี้คนแปรรูปไม้ยังถูกจับเรื่องเครื่องเลื่อยยนต์ กฎหมายเขียนไว้ว่าจะต้องขึ้นทะเบียนเสมือนปืนพก ถ้าเกิดเครื่องเสียต้องไปขอใหม่ต้องขอยอดซื้อ ต้องจำหน่ายโดยผู้นำเข้าอย่างถูกต้อง พูดง่าย ๆ เหมือนไปซื้อปืน 1 กระบอก ผิดมือผิดกฎหมาย ตำรวจนำตัวไปส่งให้พนักงานสอบสวน ทำบันทึกการจับกุม ส่งฟ้องศาล กฎหมายเดียวกันกับปืน แต่ในข้อเท็จจริงเครื่องยนต์ใช้ได้ไม่นาน มันหมดสภาพ

จี้ จว.เร่งแก้ผังเมืองรับลงทุน

นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐเร่งปรับแก้ผังเมืองรวม ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายหรือพัฒนากิจการค่อนข้างมาก เนื่องจากผังเมืองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นฉบับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 หรือกว่า 17 ปีมาแล้ว ซึ่งล้าสมัยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนพยายามนำเสนอในที่ประชุมระดับจังหวัดหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข พอสอบถามไปยังทางจังหวัดก็บอกมีการนำเสนอไปยังส่วนกลางแล้ว สุดท้ายเรื่องเงียบหายไป

“ผมพยายามนำเสนอที่ประชุมจังหวัด จนที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรมีการปรับแก้ผังเมือง โดยเฉพาะการแก้มาตรา 26/1 โดยเอาแนบท้ายมาแก้ส่วนที่เดือดร้อนและจำเป็น ต้องรีบทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและการเติบโตของเมืองของเราด่วนเลย มิเช่นนั้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจะไม่ก้าวหน้า และจะเสียโอกาสมากมาย

ที่ผ่านมาทราบว่ามีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้วยเงิน 40 กว่าล้านบาท รับปากว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปี เสร็จหมายความว่า ปี 2562 เราจะได้ใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เสร็จ พอไปทวงถามก็บอกว่า ครม.ออกผังเมืองฉบับใหม่ทำให้ที่เราขอปรับแก้ไม่มีผลแล้ว จึงต้องรอให้ผังเมืองตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่เสร็จก่อน”

ตอนนี้ที่พูดกันหนักหนาว่าอยากให้มีโรงงานที่เกี่ยวกับยางรถยนต์เกิดที่จังหวัดตรัง อยากถามว่าจะมีคนมาลงทุนหรือไม่ ในเมื่อติดขัดผังเมืองไม่เอื้ออำนวย แม้จะมีความพยายามในการทำนิคมอุตสาหกรรม จนบัดนี้ยังไม่มีพื้นที่ แล้วอย่างนี้ใครจะมาลงทุน ดังนั้นถ้าอยากให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัว จะต้องเร่งทำผังเมืองใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะที่ใช้อยู่ล้าสมัยมาก ทำอย่างไรจะสามารถแก้ไขเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินต่อไปได้