วิกฤตภัยแล้ง อีอีซี ยังสาหัส-ชง ครม.สัญจร บี้ 54 โครงการ

อ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก

วิกฤตน้ำแล้งยังสาหัส 3 จังหวัด EEC “ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา” ฝนน้อย 6 เขื่อนมีใช้แค่ 22% อ่างเก็บน้ำประแสร์มี 15% บางพระเหลือ 4% สนทช.หารือหอการค้าเสนอ 54 โครงการ 5 หมื่นล้านเข้า ครม.สัญจรระยอง 25 ส.ค.จี้เอกชนสร้างสระน้ำสำรอง แก้ปัญหาตัวเอง หากฉุกเฉินเตรียมผลิตน้ำจืดจากทะเล แต่ต้นทุนสูงเกิน ระยองวอนเอกชนหาแหล่งน้ำอื่นจำหน่าย

ปัญหาภัยแล้งยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นความหวังด้านการลงทุนของประเทศไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะสัญจรไปประชุม ณ จังหวัดระยอง ในวันที่ 24-25 สิงหาคมที่จะถึงนี้

แล้งหนักต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากพื้นที่ภาคตะวันออกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประชุมร่วมกับหอการค้าภาคตะวันออกเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยประชุมผ่านระบบ conferrence ถึงประเด็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ปี 2563-2580 ตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคตะวันออก

จากรายงานในที่ประชุมถึงการลงพื้นที่พบว่า ปีนี้ฝนตกน้อยต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้น จากสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก ณ 11 ส.ค. 2523 มีปริมาณน้ำใช้รวม 326.20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 22 ถือว่าต่ำมาก

ทั้งอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่อย่าง “อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล” ก็มีเพียง 1 แห่งเท่านั้นที่มีน้ำใช้ได้เกินกว่าร้อยละ 50 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้ 104.37 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 64

ขณะที่อ่างเก็บน้ำอื่น ๆ คงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้งสิ้น ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล มีน้ำ 71.97 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32, เขื่อนนฤบดินทรจินดา 80.24 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27, อ่างเก็บน้ำประแสร์ 44.33 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 15%

ที่น่าตกใจคือ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำเหลือแค่ 20.25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 รวมถึงอ่างเก็บน้ำบางพระ ที่มีน้ำเหลือเพียง 5.04 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4 เท่านั้น

“น้ำเกือบหมดอ่างแล้ว และไม่สามารถสูบผันน้ำมาเติมได้ เพราะระยองมีน้ำจำกัด หากผันน้ำมาช่วยตอนนี้ ปีหน้าจะลำบาก ยิ่งบางปะกงมีน้ำทะเลหนุนสูงก็มีแนวโน้มจะใช้น้ำมากขึ้นอีกในอนาคต” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เสนอ 54 โครงการเข้า ครม.

สทนช.จึงนำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขต EEC ปี 2563-2580 ทั้งหมด 54 โครงการ รวมมูลค่า 50,691.09 ล้านบาท มาหารือกับหอการค้าภาคตะวันออก เพื่อทบทวนอีกครั้ง ก่อนเสนอ ครม.สัญจรที่จังหวัดระยอง ในวันที่ 24-25 สิงหาคมนี้ หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

“ที่ปรับแผนคือเพิ่มระบบสูบน้ำและผันน้ำจากคลองต่าง ๆ มาใช้ก่อน เราหวังว่าช่วง 2 เดือนก่อนจะหมดฤดูฝน จะมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาเติมในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำบ้าง” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังกล่าวในที่ประชุมอีกว่า ปัญหาหลักในภาคตะวันออกแยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เช่น พัทยา จะขาดน้ำประปาในฤดูแล้ง รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม และเขต EEC จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก ทั้งภาคเกษตร ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และน้ำรักษาระบบนิเวศหลังฤดูฝน

2.ปัญหาน้ำท่วมที่ปราจีนบุรี ต้องระบายสู่แม่น้ำบางปะกงลงทะเล หรือการที่ฝนตกหนักจะทำให้น้ำท่วมชุมชนเมืองพัทยา ชลบุรี สระแก้ว และ 3.เรื่องคุณภาพน้ำ ทั้งน้ำเสีย และการบำบัดน้ำเสีย น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงที่หนุนถึงปราจีนบุรี ทำให้ฤดูฝนมีน้ำเค็มจะกักเก็บไม่ได้ ซึ่งปี 2580 ประชากรภาคตะวันออกจะเพิ่มจาก 6 เป็น 8 ล้านคน และ EEC จะเพิ่มจาก 4 เป็น 6 ล้านคน จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วย

ตั้งทีมเฉพาะกิจ

“ปีนี้ภาคตะวันออกแล้งหนักสุด กนช.จึงตั้งคณะอนุกรรมการจัดการน้ำภาคตะวันออกมารีบแก้ปัญหา โดยอนุมัติงบฯกลางให้เร่งสถานีสูบน้ำจากคลองบางพระ ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ ให้ทันในฤดูฝนนี้” แหล่งข่าวกล่าวและแนะว่า

ภาคเอกชนควรมีสระน้ำสำรองไว้ใช้ 1-2 สัปดาห์ หรือ 1-2 เดือน เป็นการแก้ปัญหาของตัวเอง เพราะการผลิตน้ำจืดจากทะเลยังมีต้นทุนสูงเกิน 40 บาทต่อ 1 ลบ.ม. สทนช.ยังต้องศึกษาต่อไป

ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ปีนี้มีปัญหาน้ำบริโภคที่ชัดเจน แหล่งเก็บน้ำของกรมชลประทานจุน้ำได้เพียง 480 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องพึ่งลุ่มแม่น้ำปราจีน นครนายก ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คลองรังสิต มาช่วย จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำบางพระศรีราชา เป็นศูนย์กระจายน้ำไปแอ่งเล็ก ๆ ปริมาณฝนตกไม่เต็มความจุของอ่าง ทำให้การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรอบ ๆ เมืองพัทยา แหลมฉบัง ชลบุรี น้ำไม่พอใช้

อ่างเก็บน้ำระยอง ความจุ 590 ล้าน ลบ.ม. ความต้องการใช้ 494 ล้าน ลบ.ม. ปี 2563 จึงมีปัญหาน้ำน้อย แล้วน้ำบางส่วนต้องส่งไปช่วยชลบุรี ที่ผ่านมาต้องสูบน้ำจากลุ่มแม่น้ำจันทบุรี ลุ่มแม่น้ำวังโตนดในฤดูฝน มาเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์ 10 ล้าน ลบ.ม.

ตามแผนปี 2563-2580 จะสูบน้ำ 70 ล้าน ลบ.ม. มาช่วยพัฒนาพื้นที่ EEC และมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่อีก 10 แห่ง ภายใต้งบประมาณปี 2563-2570 และทำเครือข่ายเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-คลองบางพระ ลุ่มแม่น้ำจันทบุรี บางส่วนกับอ่างเก็บน้ำประแสร์ สร้างสถานีผันน้ำถาวร จากอ่างเก็บน้ำพานทอง-บางพระ ขุดคู คลอง แก้มลิง เจาะบ่อบาดาลใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ภาคเกษตร อุปโภค

ซึ่งแผนระยะสั้นในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำฯ มี 16 โครงการ ทำไปแล้วในระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี งบประมาณ 14,611.45 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2565 คาดว่าจะมีความจุน้ำเพิ่มขึ้น 253.60 ล้าน ลบ.ม. แผนระยะยาวมี 38 โครงการ เช่นแผนการผลิตน้ำจืดจากทะเล 50-70 ล้าน ลบ.ม.

จี้เอกชนหาแหล่งน้ำอื่น

แหล่งข่าวจากจังหวัดระยองกล่าวว่า ปีนี้มีการใช้น้ำจนแห้งขอดติดก้นอ่าง ยิ่งฝนตกน้อย ปริมาณน้ำในอ่างก็ยิ่งน้อย หากใช้เฉพาะในจังหวัดระยอง คาดว่าจะใช้ได้ถึงฤดูฝนปี 2564

แต่หาก บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW มาดูดไปจำหน่ายให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการในจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทราด้วยอีก จะยิ่งทำให้น้ำไม่เพียงพอแน่นอน

“ทางระยองจึงขอให้บริษัทเอกชนไปหาแหล่งน้ำอื่นเพื่อจำหน่าย เพราะน้ำเริ่มมีปริมาณจำกัด และจังหวัดก็ต้องไปดึงน้ำจากวังโตนดที่จันทบุรีมาใช้ ซึ่งจันทบุรีก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน”