ชุมพรเปิด “ศูนย์ส่งออกผลไม้ OSFEC” ดึง CCIC – ศุลกากรตั้งเพิ่มอีก 4 จังหวัด

ทุเรียน

“ชุมพร” หนึ่งในจังหวัดที่มีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา สร้างรายได้จากการส่งออกให้จังหวัดมหาศาล

หลายปีที่ผ่านมาในการส่งออกสินค้า หลายประเทศมีการออกกฎระเบียบมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวด ทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ล้งส่งออกต่าง ๆ มีปัญหาต้องติดต่อกับหลายหน่วยราชการในการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ดังนั้นจึงได้เกิดการผลักดันให้ตั้ง “ศูนย์บริการส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ กระทรวงพาณิชย์” (One Stop Fruit Export Center = OSFEC) ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร (AGQC) ตลาดกลางผัก และผลไม้ในการส่งเสริมของกรมการค้าภายในจังหวัดชุมพร (ตลาดมรกต) ซึ่งได้มีการเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่14 สิงหาคม 2563 โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปเป็นประธานเปิด

ชู 5 จว.ตามรอย ชุมพรโมเดล

นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ เพื่อให้บริการด้านการส่งออกผลไม้ของประเทศเกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร หลังจากนี้จะใช้ “ชุมพรโมเดล” ในอีกหลายพื้นที่ที่จำเป็นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งได้มีการเตรียมการไว้แล้วที่จังหวัดราชบุรี ปทุมธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี

ต่อไปการสร้างศูนย์ให้บริการการส่งออกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ไปสร้างอาคารใหญ่โต แต่จะใช้สถานที่ของเอกชนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว จะเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมาอยู่ร่วมกันในจุดเดียวเพื่อให้บริการกับผู้ส่งออกและเกษตรกร รวมทั้งล้ง (ผู้รวบรวมผลไม้) ที่ตลาดมรกตนี้จัดเป็นศูนย์ส่งออกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จศูนย์แรกของประเทศไทย เกิดจากการร่วมมืออย่างเข้มแข็งของกรมการค้าภายในและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เอสเอ็มอีแบงก์ ซีซีไอซี กรมศุลกากรและเซ็นทรัลแล็บ กรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ส่งออกด้วย

การดำเนินการของศูนย์มีทั้งการคัดแยกขนาด คุณภาพ ตรวจสอบสารตกค้าง โรคพืช แมลง และเก็บรักษา รวมทั้งการบรรจุลงรถห้องเย็นเพื่อการส่งออก และไม่ต้องไปตรวจที่ด่านชายแดน เหมือนที่เคยทำมาในอดีตเพื่อไปประเทศจีน การให้การรับรองของไทยจะมีคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นการรับรองให้อัตโนมัติจากทางการของจีนด้วยจึงไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อนอีกต่อไป

เมื่อไปถึงด่านจะได้เลนพิเศษเรียกว่า “กรีนเลน” กระบวนการจะสั้นลง ค่าใช้จ่ายถูกลงจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้ คล่องตัวขึ้น ล้งและเกษตรกร ซึ่งเป็นต้นทางจะมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มูลค่าการส่งออกคล่องตัวขึ้น

“ไทยส่งออกผลไม้ปีละประมาณ 120,000 ล้านบาท ผลไม้ที่ส่งออกมากคือ ทุเรียน ปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกได้มูลค่า 50,800 ล้านบาท แต่ในครึ่งปีแรกของปีนี้ส่งออกไปแล้ว 47,000 ล้านบาท ทั้งที่ประสบวิกฤตแต่กระบวนการในการเร่งรัดการเปิดด่าน โดยเฉพาะการเปิดด่านเวียดนามไปจีน จะช่วยให้กระบวนการส่งออกสินค้าไทยไปจีนคล่องตัวขึ้น

ผลไม้อันดับที่ 2 ลำไย ปีที่แล้วมูลค่าส่งออก 30,100 ล้านบาท อันดับที่ 3 มังคุด ปีที่แล้วส่งออก 16,700 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2563) ส่งออกมูลค่า 10,400 ล้านบาท การเปิดศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำรายได้เข้าประเทศ ก่อนนำรายได้มาสู่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ศูนย์บริการเกิดขึ้น และจะใช้ชุมพรโมเดลนี้เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดมรกตจะให้บริการคัดแยกตัวแทนส่งออกและตรวจโรคพืช สารตกค้าง และบริการพิธีการศุลกากรเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ มีผลไม้หลักคือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด และเงาะ โดยในช่วงแรกยังไม่คิดค่าบริการและค่าสถานที่ ดำเนินงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการตรวจด้านสุขอนามัย และมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร มีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) มาให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว

โดยหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท CCIC (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน เพื่อให้บริการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรด้วย หาก CCIC ติดสติ๊กเกอร์ QR code ให้ สินค้าที่ส่งออกไปจะได้เข้าช่อง fast track ไม่ต้องเปิดค้นตู้อีก ทั้งในไทยและประเทศปลายทาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พร้อมลดระยะเวลาหรือขั้นตอนในการส่งออก

โดย สสว.ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดและเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการด้วย ตอนนี้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเอสเอ็มอีแบงก์ ส่งเสริมการขับเคลื่อนไปสู่สังคมผู้ประกอบการ

ส่วนบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (Central Lab) มี 6 ศูนย์ทั่วประเทศ สามารถทดสอบสินค้าได้เร็วสุด 24 ชั่วโมง ช้าสุด 35 วัน และให้การรับรองมาตรฐาน GAP GMP/HACCP ตรวจยาฆ่าแมลง โรค สารโลหะหนัก โดยสุ่มตัวอย่างในตู้สินค้า