ชาวประมงภูเก็ต 500 คน คัดค้าน บ.มาร์ซัน ตั้งอู่ต่อเรือ-หวั่นถูกไล่ที่

ชาวประมงภูเก็ต ประท้วง

ชาวประมงภูเก็ต ชุมนุมประท้วงคัดค้าน บ.มาร์ซัน สร้างอู่ต่อเรือซ่อมเรือ ด้านผู้บริหารมาร์ซันเปิดใจเหตุผลลงทุนก่อสร้าง งบลงทุน 500 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 บมจ.มาร์ซัน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการอู่ต่อเรือและซ่อมเรือ ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต องค์การสะพานปลา ซึ่งบริษัทมาร์ซัน เป็น ผู้ได้รับการคัดเลือกให้พัฒนาที่ดินดังกล่าวจากองค์การสะพานปลา

ก่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็น นายสมยศ วงศ์บุณยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ตพร้อมสมาชิกกว่า 500 คน ได้ชูป้ายผ้าคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยเขียนข้อความ เช่น หยุดเอาพื้นที่ชาวประมงไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว,พวกเราชาวประมงภูเก็ตไม่ต้องการอู่ต่อเรืออุตสาหกรรมหนัก ,วอนภาครัฐเลิกสนับสนุนอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ขนถ่ายสัตว์น้ำ

โดยนายสมยศ กล่าวว่า ทางสมาคมชาวประมงภูเก็ตได้ทำหนังสือคัดค้านโครงการดังกล่าว และได้ยื่นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับรัฐมนตรี

“ขอว่าบริษัทมาร์ซัน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อย่าเข้ามาสร้างเลยเพราะจะทำความเดือดร้อนให้กับชาวประมง พื้นที่ตรงนี้เป็นสถานที่ขนถ่ายสัตว์น้ำและEUเพิ่งปล่อยไฟเขียวให้เรา ถ้าการขนถ่ายสัตว์น้ำปนสารพิษ สินค้าส่งออกไปเมืองนอก อาจถูกแบนได้ และทั้งประเทศจะทำอย่างไร จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องเอาอุตสาหกรรมหนักเข้ามาลงในพื้นที่

สำหรับคลองซึ่งอยู่ติดบริเวณดังกล่าวเป็นของแผ่นดิน องค์การสะพานปลาไปยกให้เอกชนได้อย่างไรเพราะเป็นที่สาธารณะใช้จอดเรือ ซ่อมเรือแล้วมาไล่ชาวประมงถือว่าไม่มีความเป็นธรรม เป็นโครงการที่หมกเม็ดมาจากข้างบนทางองค์การสะพานปลาไม่คุยกับชาวประมงเลยจะมาไล่ที่อย่างเดียวทำให้ชาวประมงเดือดร้อนโดยตรง ไม่ควรมารังแกกัน เราคัดค้านเต็มที่ ถ้ายังไม่หยุดเรายกระดับแน่นอน ขอให้มาร์ซันอย่ามาสร้างเลยขอให้ไปหาพื้นที่อื่นก่อสร้างเถิด ” นายสมยศ กล่าว

โครงการอู่ต่อเรือ 500 ล้าน

ด้าน นายภัทรวิน จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บมจ.มาร์ซันกล่าวว่า การพัฒนาโครงการอู่ต่อเรือและซ่อมเรือ ในพื้นที่ขององค์การสะพานปลา หมู่ 1 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต พื้นที่โครงการประมาณ 66-0-24.38 ไร่ เพื่อรองรับการต่อเรือและซ่อมเรือประมง เรือสำราญ เรือยอช์ทจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกทางทะเลและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถสนับสนุนกองเรือของส่วนราชการ ลดการขาดดุลที่ไม่ต้องส่งเรือไปซ่อมในต่างประเทศ

ที่ผ่านมา ทางบริษัทมีการพัฒนาระบบคุณภาพได้รับรองมาตรฐานต่างๆ ทุกด้าน จึงเชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ทางบริษัทได้มอบหมายให้ บริษัท อินโนเวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัดเป็นบริษัทที่ปรึกษาและจัดทำรายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโครงการเพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

การเข้ามาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้มุ่งหวังพัฒนาวิชาชีพอุตสาหกรรมการต่อเรือให้เจริญมากขึ้น ที่ผ่านมาได้พยายามเข้ามาเสนอตัวเองในการพิจารณาขององค์การสะพานปลา คือประเด็นในหลายเรื่องของจังหวัดภูเก็ตจะต้องมองภาพใหญ่พาณิชย์นาวี ตั้งแต่เรือท่องเที่ยว เรือสินค้า เรือประมง เรือขนส่งต่างๆ อู่ต่อเรือ อู่ซ่อมเรือ การศึกษา นายท้ายเรือ คนซ่อมเรือ ไต้ก๋งเรือ ทุกคนอยู่ในพาณิชย์นาวีดังนั้นในกรอบของการปฏิบัติตอนนี้ พยายามให้ภาคประชาชนเข้าใจ

“การที่ชาวบ้านออกมาต่อต้านเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่การประชาสัมพันธ์ที่ชาวประมงรับรู้มาเป็นข้อเท็จจริงที่ผิด โดยกล่าวหาบริษัทว่าจะเข้ามาใช้พื้นที่ 300 กว่าไร่ ชาวบ้านในพื้นที่จะหายไป ลิงจะหายไป ไม่ใช่ความจริง เราใช้พื้นที่บางส่วนเท่านั้นเอง ถ้ามาทะเลาะกับชาวบ้านคงไม่มา เราเหมือนคนมาเช่าบ้านใหม่ ไม่ได้มาเพื่อไล่ใคร จะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ยังต้องอยู่อีกหลายสืบปี ไม่มีเจ้าของเรือคนไหนอยากถูกไล่ที่ หรืออยากจ่ายเงินเพิ่ม”

“รูปแบบโครงการเป็นอู่ต่อเรือซ่อมเรือ มีความสามารถต่อเรือลำเล็กๆ จนถึง 50-60 เมตร เป็นอู่ต่อเรือในไทย เป็นผู้นำในการออกแบบในการสร้างซ่อมด้วยศักยภาพของคนไทยทั้งหมด ดังนั้น การมาทำตรงนี้ เราถูกตีปลาหน้าไซตลอดเลยทุกคนไม่อยากให้ภูเก็ตเจริญขึ้นหรือ? ในแง่มุมต่างๆ พาณิชย์นาวีกับจังหวัดคืออะไร? มีหลายเรื่องหลายประเด็นมากทางภาครัฐของจังหวัดต้องให้ความเป็นธรรมด้วย” นายภัทรวิน กล่าวและว่า

เหตุผลของการเข้ามาเลือกลงทุนในภูเก็ต ตรงนี้คือการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่สีม่วงที่สามารถลงทุนอุตสาหกรรมได้ ในบริเวณนี้ทั้งหมดเข้ามาติดตามทำความเข้าใจเป็นเวลาปีกว่าแล้วได้ขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามระยะที่กำหนดทำถูกกฎหมายทุกขั้นตอน การชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ สามารถเข้ามาชี้แจงได้ตลอดถ้าไม่สุจริตจริงคงไม่มา

ในส่วนสิ่งแวดล้อมมีการทำการศึกษาผลกระทบแล้วซึ่งสภาพพื้นที่ตอนนี้มีฝุ่นและน้ำเสียอยู่แล้ว ทางบริษัทฯเข้ามาสร้างความเจริญให้พื้นที่ ใช้งบประมาณการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ในแง่ของปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ระยะเวลาคืนทุนยาวพอสมควรไม่ต่ำกว่า 10 ปี

นายภัทรวิน กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้จะเริ่มเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ เพราะสัญญายังไม่ได้เซ็นเพราะทำตามข้อกฎหมาย ถ้าจะรวบรัดตัดตอนคงเซ็นไปแล้ว กระบวนการอยู่ที่ชุมชนหรือชาวบ้านให้โอกาสมากน้อยเพียงใด เพราะต้องทำรายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) ผ่าน ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายต่างๆ จึงจะเริ่มดำเนินการได้

วันนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการตามข้อกฎหมายทั้งหมด ส่วนการจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ คิดว่า ณ วันนี้ จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนและดูองคาพยพของภาพใหญ่ของจังหวัดให้ได้ ต้องการมีอู่ต่อเรือ อู่ซ่อมเรือที่ได้มาตรฐานหรือไม่

“ทุกวันนี้เราเสียเงินให้กับต่างชาติ ลังกาวี สิงคโปร์ ประเทศต่างๆในอันดามันเป็นเงินมหาศาลเท่าไรที่เรือไปจอดซ่อมใช่บริการในประเทศเหล่านั้น เราไม่อยากเก็บไว้ในประเทศไทยของเราหรือ”

หวั่น 200 ครัวเรือนถูกไล่ที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุหลักที่ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงต่อต้านบริษัทมาร์ซันในการสร้างอู่ต่อเรือ และอู่ซ่อมเรือ เพราะชาวประมงกลุ่มดีงกล่าวอาศัยตั้งบ้านเรือนภายในพื้นที่ขององค์การสะพานปลากันหลายร้อยครัวเรือน จึงเกรงว่า หากบริษัทมาร์ซันเข้ามาทำโครงการจะถูกไล่ที่ โดยที่ทางจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าไปดูแล จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ขาวบ้าน

แหล่งข่าวสมาคมชาวประมงภูเก็ต กล่าวว่า ชาวบ้านที่มารวมตัวคัดค้านกันกว่า 500 คน เพราะเกรงว่าหากบริษัทมาร์ซันเข้ามาจะถูกไล่ที่ได้ จะทำให้กระทบกับที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือนที่ตั้งบ้านเรือนในที่ดินบริเวณดังกล่าวขององค์การสะพานปลา

รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การขนถ่ายสัตว์น้ำทั้งระบบ โรงงานกลุ่มแปรรูปปลากะตัก ธุรกิจห้องเย็นที่หมดสัญญาจะถูกขับไล่ที่เช่นกัน