“ตราด” ลุ้นท่องเที่ยวทางน้ำ เชื่อมโยง CLMV Sport Healthy

เกาะหมาก
สัมภาษณ์

“จังหวัดตราด” มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 19,713 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 2.18 ล้านคน เดินทางเข้ามาเยือน เมื่อมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนหยุดชะงักตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563

ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค ถูกวางและขับเคลื่อนโดยภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วม ตั้งเป้าพัฒนาท่องเที่ยวทางน้ำ เชื่อมโยง CLMV Sport & Healthy Tourism และท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงบนฝั่ง-เที่ยวเกาะ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “อำไพ ศักดานุกูลจิตสไลวินสกี้” นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด ถึงการขับเคลื่อนบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด งบประมาณปี 2565 และผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ภาคตะวันออก 2 และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Active Beach)

อำไพกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคหลังโควิด-19 และจุดแข็งของจังหวัดตราดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงปัจจุบัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวจังหวัดตราดทั้งด้านท่องเที่ยวและกีฬา ปีงบประมาณ 2565 เมื่อเดือนสิงหาคมจึงได้ระดมภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ท้องถิ่น วางแผนและขับเคลื่อน ภาพรวมการท่องเที่ยว โรดแมปเป็นการบูรณาการร่วมกันทั้งด้านการกีฬาและด้านการท่องเที่ยว

อำไพ ศักดานุกูลจิตสไลวินสกี้
อำไพ ศักดานุกูลจิตสไลวินสกี้

ชู Sport & Healthy Tourism

ด้วยศักยภาพของจังหวัดตราดทั้งทรัพยากรธรรมชาติ มีชายทะเล หาดทราย ภูเขา อากาศดีเหมาะกับการพัฒนากีฬาทางน้ำและทางบกและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเมืองชายแดน เป้าหมายพัฒนาจังหวัดตราดด้านกีฬาเป็น sport tourism และนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอาเซียน (Tourism of ASEAN) เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน

เช่น เรือใบ แพดเดิลบอร์ดจักรยาน วิ่ง วอลเลย์บอลชายหาด สามารถเป็นสนามแข่งขันได้ และกีฬานำมาซึ่งการท่องเที่ยวจังหวัดตราดมีที่พัก บนเกาะช้างที่จะรองรับนักกีฬา ผู้ติดตามหรือผู้เข้าชมในแมตช์ใหญ่ ๆ ได้ รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีต่อเพื่อนบ้านจึงวางเป้าหมายพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวด้านเชิงกีฬาและสุขภาพ (sport & healthy tourism) เพื่อนบ้านสามารถมาท่องเที่ยวและใช้บริการทางการแพทย์ได้

“จังหวัดตราดมีการแข่งขันฟุตบอลระดับลีกทั้งปี ตราด FC มีทีมต่างจังหวัดมาแข่งขันได้พัฒนาสนามฟุตบอลที่รองรับผู้เข้าชมได้ 7,000 คน และได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเยาวชน ครั้งที่ 36 คาดว่าโรงแรมในจังหวัดตราดเต็มทั้งหมด คาดจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท จากนักกีฬา ผู้ติดตามและผู้เข้าชมร่วม 20,000 คน ในข้อจำกัดของธรรมชาติที่เป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ สามารถหากิจกรรมใหม่ ๆ อาหารท้องถิ่นเฉพาะฤดูกาล รวมทั้งกีฬาต่าง ๆ ทั้งรูปการแข่งขันและการนันทนาการที่เหมาะกับฤดูฝน เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดที่มีเสน่ห์สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้ จ.ตราดต้องสร้างแบรนดิ้งแหล่งท่องเที่ยวใหม่”

บูมเส้นทางเชื่อมโยงอาเซียน

มุมมองด้านการท่องเที่ยวโอกาสของจังหวัดตราด คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอาเซียน พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (southern corridor) แผนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงบนพื้นที่ระเบียงชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ

โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผ่านความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ กัมพูชา-เวียดนาม-ไทย(CVTEC) เป็นการเชื่อมโยงเส้นทางทางบกคือ เส้นทาง R10 ไทย-กัมพูชา-เวียดนามที่พัฒนาไปแล้ว และเส้นทางทางน้ำที่จะมีขึ้น คือ เรือเฟอรี่เชื่อมโยงจากพัทยา จุกเสม็ด เกาะช้าง เกาะกง สีหนุวิลล์ ฟูโกว๊ก ที่มีภาคเอกชนเตรียมการลงทุนไว้แล้ว

ปี 2565 อนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงมาถึง จ.ตราด ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกทำให้ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นศูนย์กลางประตูสู่เพื่อนบ้าน และความพร้อมท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ขนาด 500 ตันกรอสที่สร้างเสร็จแล้ว กรมเจ้าท่าเตรียมจะเข้ามาบริหารเปิดให้ใช้งานได้ในเดือนพฤษภาคม 2564

ดังนั้นการทำแผนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวTourism of ASEAN จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวอย่างรอบด้าน ทั้งตัวบุคลากรที่มีความรู้ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้ได้มาตรฐาน ความปลอดภัย การจัดทำฐานข้อมูล การทำตลาดการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่ได้กว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งโครงการพัฒนาท่องเที่ยวเชื่อมโยง Tourism of ASEAN จะพัฒนาส่วนต่าง ๆ ไปด้วยกัน

กระจายเที่ยวชุมชนบนฝั่ง

ปัญหาพื้นที่บนฝั่งจังหวัดตราดนักท่องเที่ยวเดินทางไปน้อย แผนพัฒนาท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดจะเน้นการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งมี 12 แห่งกระจายครบทั้ง 5 อำเภอบนฝั่ง ผลักดันให้มีการท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อนบ้านอาเซียน แนวทางชุมชนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยรักษาวิถีชีวิต นำทรัพยากรเดิม ๆ มาพัฒนาให้เป็นที่ชื่นชอบ การรีโนเวตอาคารบ้านเรือนที่ยังมีการอนุรักษ์ไว้เป็นโซนท่องเที่ยว เช่น อาหารทะเลสด ๆ แปลกกว่าที่อื่น สินค้าที่โดดเด่นมาต่อยอด เช่น กั้งทะเล สับปะรดตราดสีทอง สินค้า GI “สร้างตลาด” ให้เกิดขึ้นในตัวเมือง จ.ตราด

หลาย ๆ หน่วยงานต้องช่วยกันแบบบูรณาการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน เพราะมีโปรดักต์ขายต่างประเทศได้อย่างชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง นำเรื่องราว สิ่งดีหรือการทำกิจกรรมที่ไม่เหมือนใคร หรือค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำของเดิมเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชนเป็นการท่องเที่ยวแบบเจาะลึกมากขึ้น มีการสื่อสารออกไปทั้งนักสื่อสารมืออาชีพและนักสื่อสารในชุมชนเอง ผลิตภัณฑ์ของฝาก ของที่ระลึก ต้องสร้างแบรนด์ตราดที่ได้มาตรฐาน

การร่วมกันช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและมีการสร้างเครือข่าย มีการจัดทำฐานข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ ต้องมีวิธีการให้นักท่องเที่ยวพักบนฝั่งก่อน-หลังไปเที่ยวเกาะ 1 คืน ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ตั้งใจมาเที่ยวยังมาไม่ได้ เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมมาวันหยุด เทศกาล ช่วงนี้คนไทยเที่ยวกระแสแรง มีงบประมาณจากภาครัฐมาช่วย การทำตลาดเชิงรุก เสนอแพ็กเกจ ลด แถม แจ้งให้ลูกค้าเป้าหมายมาเที่ยว ต้องประชาสัมพันธ์ สำคัญต้องเข้าถึง

ตราดได้เตรียมรับมือการท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และช่วงวันหยุดยาวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ช่วงวันหยุดยาวปลายเดือนกรกฎาคมนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมากถึง 36,500 คน สร้างรายได้ 328 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับโครงการเป้าหมายยังเป็นสิ่งสำคัญและต้องเตรียมการเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้