ปมร้อน 4 หมื่นแรงงานลำไย ล้งอ่วมค่ากักตัว-กัมพูชานับพันหนีเข้าไทย

ความต้องการแรงงานต่างชาติทำงานภาคเกษตรกรรม คู่ขนานกับการลักลอบการนำแรงงานเถื่อน ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ไขในที่สุดจังหวัดชายแดนได้รับการผ่อนปรน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 64 ให้นายจ้างสามารถนำเข้าแรงงานจากชายแดนเพื่อนบ้านได้ตามฤดูกาลหรือไป-กลับ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

ข้อมูลสำนักจัดหางานจังหวัด ปี 2562 จันทบุรีมีผู้ขอใบอนุญาตทำงาน 20,590 คน ตราดประมาณ 20,000 คน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องปิดชายแดน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 เมื่อจันทบุรีประสบภาวะขาดแคลนแรงงานเก็บลำไยที่จะเริ่มฤดูกาลในเดือนกันยายนนี้

ทางสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรีได้เสนอขอนำเข้าแรงงานกัมพูชาทางด่านจุดผ่านแดนถาวร บ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน 34,000 คน ในที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้อนุมัติให้จันทบุรีเป็นจังหวัดแรกนำเข้าแรงงานกัมพูชามาเก็บลำไยในอ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 มีการกักตัว 14 วัน

จันท์-ตราดใช้ 4 หมื่นแรงงาน

ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติขจร นายกสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ผลผลิตลำไยใน อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี 170,000 ไร่ สร้างรายได้เกือบ 10,000 ล้านบาท มีความต้องการแรงงาน 34,000 คน แบ่งเป็นโรงคัดบรรจุ (ล้ง) 4,000 คน เก็บลำไย 10,000 คน ทำงานภาคเกษตร 10,000 คน โดยผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกันยายน 10% และช่วงพีกคือพฤศจิกายน ธันวาคม จึงต้องนำเข้าแรงงานเก็บลำไยให้ทัน ถ้าไม่มีแรงงานเก็บเสียหายเกิน 100% แน่นอน และต้องสร้างความเชื่อมั่นกับล้งว่าจะมีแรงงานเก็บเกี่ยว กล้าที่จะวางเงินรับซื้อลำไยล่วงหน้าจากเกษตรกร

ทางด้าน นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แรงงานที่นำเข้าตาม ม.64 ข้อมูลสำนักงานจัดหางานจังหวัดตราดประมาณ 20,000 คน สอดคล้องกับความต้องการภาคเกษตรที่ต้องการใช้แรงงานระยะสั้น 1-2 เดือน สามารถต่ออายุใบอนุญาตได้ทุกเดือน

แต่ละปีช่วงฤดูกาลผลไม้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม จะมีช่วงผลไม้ทุเรียน มังคุด เป็นช่วงพีกประมาณ 2-3 เดือน มีความต้องการใช้แรงงานสูงและแรงงานภาคเกษตรคนไทยไม่ต้องการทำ ผู้ประกอบการ นายจ้าง อาจจะใช้วิธีหมุนเวียนแรงงานใช้ร่วมกัน หรือบางสวนอาจจะจ้างไว้ทำงานอื่น ๆ ตลอดปี เพื่อไม่ให้ยุ่งยากเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าออก เพราะค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานกัมพูชาตามฤดูกาลระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณหัวละ 3,000-4,000 บาท

“แรงงานกัมพูชามีความขยันอดทน บางคนอยู่กับนายจ้างหลายปี ทั้งแรงงานเก็บ บรรจุลำไย แรงงานเก็บมังคุดที่ต้องเก็บด้วยมือทุกลูก ทุเรียน มีทักษะการทำงานที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพได้ค่าจ้างสูงตามน้ำหนัก ปริมาณงานวันละกว่า 1,000 บาท ถ้าเป็นหัวหน้างานวันละประมาณ 3,000-4,000 บาท หลายคนคิดว่าจ้างแรงงานกัมพูชาถูกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ช่วงที่ขาดแคลนมาก ๆ นายจ้างแข่งขันกันเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อดึงแรงงาน” นายวุฒิพงศ์กล่าว

พบแรงงานเถื่อนพันคน/วัน

เมื่อขั้นตอนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนตามแนวชายแดนมีมาอย่างต่อเนื่องทางช่องผ่านแดนตามธรรมชาติ แม้มีการจับกุมหรือกำหนดบทลงโทษหนัก โดยมีนายหน้าฝ่ายกัมพูชาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ไทย

เนื่องจากแรงงานที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องเสียค่าหัวเฉลี่ยคนละ 3,000-4,000 บาท แม้ว่ามีการผ่อนปรนใช้ ม.64 ที่นำเข้าแรงงานได้ตามฤดูกาลและไป-กลับ ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง แต่ยังสูงกว่าความเป็นจริง เช่น การทำหนังสือเดินทาง (border pass) จากราคา 500-600 บาทจะสูงถึง 2,000 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน 325 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท

ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการตรวจโรค และกักตัว ซึ่งเป็นภาระของนายจ้าง จากข้อมูลคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจันทบุรีประมาณค่าใช้จ่ายในการกักตัวที่ล้งคนละ 3,000 บาท ที่รีสอร์ต 6,900 บาท ดังนั้น ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองจึงยังมีอยู่ ในขณะที่ตัวเลขแรงงานที่ขออนุญาตทำงานต่ำกว่าความเป็นจริง และมีสถิติการจับกุมทั้งจันทบุรีและตราด และมีการประเมินกันว่าผู้ที่ลักลอบเข้ามาเฉลี่ยถึงวันละประมาณ 1,000 คน

ล้งอ่วมแบกต้นทุนกักตัว

แหล่งข่าวจากเกษตรกรสวนลำไย อ.โป่งน้ำร้อนและสอยดาวกล่าวว่า สวนใช้แรงงานกัมพูชาเก็บลำไยหลายร้อยคน โดยมีแรงงานที่ไม่ได้กลับประเทศ และขออนุญาตทำงานต่อได้ตามมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 แต่ไม่เพียงพอจึงใช้วิธีหมุนเวียนแรงงานในกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน หากล้งนำเข้าแรงงานกัมพูชาตามมาตรการสาธารณสุขต้องรับภาระเพิ่มขึ้นหัวละ 3,000-70,000 บาท และต้องสำรองเงินไปให้ก่อน ส่งผลให้ล้งกดราคารับซื้อลำไยต่ำลง

ทั้งนี้ ปัญหาการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายมีตลอด แรงงานมักหนีไปทำงานกับนายจ้างใหม่ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า ยิ่งช่วงผลผลิตออกมาก ล้งแย่งแรงงานกันมีการขึ้นราคาค่าแรงให้เกือบ 100% รวมทั้งแรงงานที่ลักลอบเข้ามาได้ง่าย จึงเกิดกระบวนการลักลอบแม้บทลงโทษผู้นำพา และผู้ให้ที่พักพิงคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองทั้งจำคุกและปรับ

นายพงศ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ตอนนี้ ศบค.ได้อนุมัติในหลักการให้นำเข้าแรงงานกัมพูชาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 โดยมีมาตรการสาธารณสุขตรวจเชื้อ และการกักตัว 14 วัน ให้ผู้ประกอบการ นายจ้างเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 3,000-8,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายการทำหนังสือเดินทาง นายหน้า การตรวจสุขภาพและการขอใบอนุญาตทำงานที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-3,000 บาท

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการนายจ้างรายหนึ่งเปิดเผยว่า การออกกฎระเบียบห้ามเดินทางกลับประเทศไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทำให้ต้องมีการลักลอบเข้า-ออกของแรงงานกัมพูชาอยู่แล้ว ด้วยความจำเป็นแต่ละคน น่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นควบคุมการเดินทางเข้า-ออกมากกว่า เพราะชายแดน จ.ตราดยาว ช่องทางธรรมชาติหลายจุดเจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ได้

ทั้งนี้ เมื่อจันทบุรีได้รับการอนุมัติให้เปิดพรมแดนนำเข้าแรงงานต่างด้าว ตาม ม.64 ทำให้จังหวัดตราดและจังหวัดชายแดนอื่น ๆ ควรเตรียมตัวเพื่อฤดูกาลผลไม้ในปี 2564 เมื่อโควิด-19 ยังอยู่ ค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานมากักตัว 14 วัน ค่าตรวจ ค่าที่พักเป็นต้นทุนกับนายจ้าง ต้องหาวิธีการช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ใช้สถานที่กักในสวน กางเต็นท์

ถึงแม้ฝ่ายไทยจะมีการเตรียมการนำเข้าแรงงานกัมพูชาพร้อมเพียงใด ทั้งทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รีสอร์ต ล้งที่พัก…แต่ทางกัมพูชาต้องการใช้เวลาจัดการเอกสารให้เรียบร้อย การนำเข้าแรงงานในชุดแรก 500 คน ต้องเลื่อนจากกำหนดวันที่ 15 กันยายน แต่คณะทำงานมั่นใจว่าเป้าหมายการนำแรงงานเข้าในเดือนกันยายน 1,000 คนน่าจะไม่เปลี่ยนแปลง…