ลำไยจันทบุรีเสียหายหนัก รัฐบาลกัมพูชาเลื่อนส่งแรงงานไม่มีกำหนด

ลำไย

เลื่อนนำเข้าแรงงานเก็บลำไยยังไม่มีกำหนด ผลผลิตลำไยจันทบุรีเสียหายหนัก เตรียมยื่นรัฐบาลเร่งแก้ไขด่วน

ในที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 แม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้อนุมัติในหลักการให้จังหวัดจันทบุรีนำเข้าแรงงานกัมพูชาเข้ามาเก็บลำไยได้ในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น

มีอันต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากยังติดขัดเอกสารฝ่ายกัมพูชาในระดับรัฐบาลช่วงโควิด-19 ที่ไทยขอความร่วมมือห้ามแรงงานกัมพูชาลักลอบเข้ามาไทย ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับการอนุญาตให้นำเข้ามาเก็บลำไยในไทยได้ โดยการนำเข้าครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษที่เรียกว่า ”จันทบุรีโมเดล” เพราะชายแดนยังไม่ได้เปิดให้เข้า-ออกตามปกติ

ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติขจร นายกสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าโครงการจันทบุรีโมเดลที่จะนำเข้าแรงงานกัมพูชา จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ทั้งที่จังหวัดจันทบุรีมีการเตรียมความพร้อมก่อนรับแรงงานเข้าทำงาน

ทั้งทีมงานแพทย์ตรวจโควิด-19 และโรคติดต่อที่สำคัญ การตรวจเอกสารเข้าเมืองให้ถูกต้องจากตำรวจตรวจคนเข้าเมือง การออกใบอนุญาตทำงานจากจัดหางานจังหวัดและการเตรียมสถานกักตัว 14 วันในล้ง และ รีสอร์ตได้ถูกวางอย่างเป็นระบบ แต่ปัจจุบันยังไม่คืบหน้าต้องรอผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาต้องการความมั่นใจว่า เมื่อชาวกัมพูชาเข้ามาแล้วจะได้ทำงานจริง

ส่วนด้านแรงงานกัมพูชาจำนวน 500 คนที่เดินทางจากหมู่บ้านต่างๆ ใน จ.พระตะบอง ขณะนี้ยังคงปักหลักรอที่บริเวณริมชายแดนฝั่งกัมพูชาเช่นเดิม โดยเชื่อมั่นว่าจะได้เข้ามาทำงานในไทยได้ในเร็วๆ นี้

“การที่แรงงานกัมพูชายังไม่สามารถเข้ามาทำงานเก็บลำไยใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน มีความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชาวสวนลำไยนับหมื่นครอบครัวใน 2 อำเภอทันที ถ้าสิ้นเดือนกันยายนยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลกัมพูชา สมาคมคงต้องแสดงพลังยื่นหนังสือให้จังหวัดจันทบุรีผ่านไปยังรัฐบาลไทย ให้เร่งจัดการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยจันทบุรี” ดร.รัฐวิทย์กล่าว

ทางด้านแหล่งข่าวจากรีสอร์ตที่พักที่จัดเตรียมไว้รองรับเป็นสถานที่กักตัว 12 แห่งนั้น ผู้ประกอบการรีสอร์ตรายหนึ่ง เปิดเผยกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รีสอร์ตได้จัดเตรียมที่พักไว้กว่า 20 ห้อง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงห้องเพื่อจัดให้นอนห้องพักละ 4 คน โดยการจัดซื้ออุปกรณ์เตียง ที่นอน ใหม่ทั้งหมด ค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000-40,000 บาท และในวันแรกคือวันที่ 15 กันยายน ที่คาดหมายว่าจะมีแรงงานเข้าพักเตรียมซื้ออาหารสดมาสต๊อกอีก 5,000-6,000 บาท

และที่ผ่านมาได้งดรับลูกค้า เพราะต้องกันไว้ให้แรงงานประมาณ 100 คน เมื่อการนำเข้าถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดเช่นนี้ ได้เปิดบริการรับลูกค้าทั่วไปก่อนราคาคืนละ 500 บาท/ห้อง เพื่อช่วยให้มีรายได้ แต่พร้อมที่จะจัดให้แรงงานเข้ามากักตัวได้

นายพงศ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รอง ผวจ.รักษาราชการแทน ผวจ.จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในขณะนี้เหลือขั้นตอนระหว่างรัฐบาลไทย ซึ่งได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านนี้ประสานกับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชายังไม่มีหนังสือแจ้งมา ในระดับพื้นที่จังหวัดจันทบุรีของไทยกับ จ.ไพลิน และ จ.พระตะบอง

“เรามีการทำความเข้าใจหลายครั้ง การจัดทำรายชื่อแรงงานพร้อมเอกสารบอร์เดอร์พาสที่เข้ามาอย่างถูกต้องจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด การเตรียมพร้อมมาตรการตรวจเข้มด้านสาธารณสุข รวมผู้ประกอบการ (ล้ง)ยอมรับภาระค่าใช้จ่ายแรงงานประมาณ คนละ 8,000 บาท ในรีสอร์ตและที่โรงงานประมาณคนละ 3,000-4,000 บาท ตอนนี้ใช้วิธีหมุนเวียนแรงงานที่มีอยู่ในจันทบุรีประมาณ 6,000 คนไปตามสวนไปก่อน เพราะลำไยเริ่มเสียหายจากราคาเก็บบนต้น 30-50 บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นลำไยเสียหายตกเกรดส่งออกไม่ได้เหลือ 3-5 บาท/กิโลกรัม”