ธปท.-หอการค้า เร่งมาตรการช่วยลูกหนี้ SMEs เชียงใหม่-ดันปรับโครงสร้างหนี้

แบงก์ชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดสัมมนาในหัวข้อ”มาตราการทางการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้” ณ ห้องประชุมอาคารเอนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า กิจกรรมการสัมมนาในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจาก หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เข้ามาหารือแลกเปลี่ยนกับทางผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยมาต่อเนื่อง และเห็นพ้องว่าจำเป็นที่จะต้องมีโครงการในการให้ข้อมูลความรู้ที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 ในมิติทางการเงิน

ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ภาคธุรกิจและประชาชนจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบ บางกลุ่มตกงานจนขาดรายได้ บางกลุ่มอาจมีรายได้ลดลง และประสบปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ ออกมาตรการ และขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการทางการเงินทุกกลุ่มมาเป็นระยะ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ การพักชำระหนี้เงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลด้าน market conduct อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนยังคงได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม

ในด้านของผู้ให้บริการทางการเงิน ก็ควรมีการดูแลปัญหาของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่แบงก์ชาติติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะความสำเร็จจากการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

นางสาววรางคณา อิ่มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 โดยมาตรการนี้จะเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้ยังคงมีกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและเพื่อประกอบอาชีพ ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ SMEs ได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ ตาม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 อีกทางหนึ่งแล้ว

แม้ในช่วงของมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำระยะที่ 2 ลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงเดินอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของลูกหนี้ภายหลังมาตรการนี้สิ้นสุดลง แบงก์ชาติได้กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงเลื่อนกำหนดชำระหนี้เป็นเงินก้อนในคราวเดียว รวมทั้งไม่ให้เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด ค่าบริการ เบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติมจากลูกหนี้ และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ตามสัญญาภายใต้มาตรการที่ช่วยเหลือก่อนกำหนด ผู้ให้บริการทางการเงินไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนดได้

ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ เช่น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราตลาด และกรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์ และต้องจัดให้มีช่องทางหรือกลไกแก้ไขหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ เป็นต้น

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 15-16 กล่าวว่า ภาพรวมความต้องการของลูกหนี้ส่วนใหญ่ต้องการพักชำระหนี้ให้ใช้ระยะเวลานาน ลดหนี้ และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งลูกหนี้จำเป็นจะต้องประเมินหนี้สินของตนเอง ทั้งนี้ หากเป็นรายย่อยหรือส่วนบุคคลขณะนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมาตรการคลีนิคแก้หนี้ขึ้น สำคัญที่สดคือการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ และชะลอการยึดทรัพย์ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตด้วย

ด้านนายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ล่าสุด ผู้ประกอบการ-SMEs ในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่มีขั้นตอนที่เข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง รวมถึงมาตรการพักหนี้ได้หมดลง จะทำให้ปัญหาที่ประเมินว่ายอดของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งป้องกันและเตรียมหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอมาตรการ 2 ประเด็นกับทาง ธปท. คือ การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ และ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และการเตรียมมาตรการด้านปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นต้น