โรงสีภาคใต้ขาดสภาพคล่อง-ขอซอฟต์โลน 2 พันล้านอุ้ม

สต๊อกบวม - โรงสีในภาคใต้ซื้อข้าวเปลือกราคาสูงไว้จำนวนมาก ขณะที่ราคาตลาดเริ่มวิ่งลง ส่งผลให้ต้องชะลอการขาย และแบกสต๊อกไว้จำนวนมาก

80 โรงสีภาคใต้อ่วมข้าวเปลือกค้างสต๊อกอื้อ ขาดสภาพคล่องหนัก หลังราคาดิ่ง ขาดทุนตันละ 2,000 บาท ต้องชะลอรับซื้อข้าวนาปรัง วอนรัฐบาลหนุนสินเชื่อซอฟต์โลน 2,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารรัฐ นำเงินมารับซื้อข้าวนาปรังฤดูกาลใหม่ในตลาด

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และเจ้าของโรงสีพัฒนโสภณเจริญพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การค้าข้าวและการทำนาในปี 2563 โดยเฉพาะสมาชิกโรงสีข้าวในสมาคมกว่า 100 โรง ขณะนี้สามารถดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกได้ประมาณ 10-20 โรง ส่วนประมาณ 80 โรงต่างชะลอการรับซื้อไปก่อน เนื่องจากโรงสีมีข้าวค้างในสต๊อกปริมาณสูงจำนวนหลายหมื่นตัน

เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาได้รับซื้อข้าวเปลือกไว้ในปริมาณมากในระดับราคาสูง ตามราคาตลาดที่ขยับสูงขึ้นตามราคาของกลุ่มผู้ส่งออกต่างประเทศ โดยโรงสีรับซื้อข้าวไว้ราคาเฉลี่ยประมาณ 11,400 บาท/ตัน แต่ขณะนี้ข้าวนาปรังขยับลงมาอยู่ที่ 9,300 บาท/ตัน มีส่วนต่างราคาลดลงประมาณกว่า 2,000 บาท/ตัน หากแปรรูปเป็นข้าวสารจะประสบภาวะขาดทุน

“ตอนนี้มีสีข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสาร เพื่อแปรรูปขายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปทำแป้ง ทำขนมจีน ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ บ้าง เพราะอาหารกลุ่มนี้จะต้องใช้ข้าวเก่านำไปแปรรูป ส่วนสต๊อกที่ค้างอยู่ก็ชะลอกันไว้ เพราะขาดทุนมาก”

นายสุทธิพรกล่าวต่อไปว่า ในฤดูกาลข้าวนาปรัง 2563/2564 โรงสีข้าวภาคใต้จะมีผลกระทบอีกเพราะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีนโยบายและเงื่อนไขที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถเข้าถึงได้แหล่งสินเชื่อลอตใหม่ได้

จึงอยากให้รัฐบาลมีนโยบายให้ธนาคารของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อให้มีสภาพคล่อง สามารถขับเคลื่อนมีเงินไปรับซื้อข้าวจากชาวนา และแปรรูปข้าวออกจำหน่ายได้ในฤดูกาลข้าวนาปรัง 2563/2564 ที่จะเก็บเกี่ยวในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564

“ในส่วนของชาวนา รัฐต้องเร่งโครงการน้ำให้เพียงพอต่อการทำนาในพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำปากพนัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และแก้ไขปัญหาน้ำเค็มลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็น 2 แหล่งน้ำใหญ่ที่ชาวนาในพื้นที่ 3 จังหวัดได้ใช้ทำนา ทั้งชาวนาใน จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งทำนาข้าวแหล่งใหญ่ของภาคใต้ ประมาณ 400,000 ไร่/ปี”

สำหรับการทำข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคใต้ปีนี้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และที่สำคัญคือเกิดปัญหาน้ำเค็มลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่สามารถทำนาข้าวได้ โดยเฉพาะ อ.ระโนด จ.สงขลา ปีที่ผ่านมาขาดแคลนไปประมาณ 100,000 ตัน จาก 200,000 ตัน/ฤดูกาล

ส่วนการทำข้าวนาปรังในปี 2563/3564 ในพื้นที่ภาคใต้ที่จะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ได้รับผลกระทบเก็บเกี่ยวข้าวได้ปริมาณน้อยเช่นกัน จากประมาณ 1,000 กก./ไร่ เหลือประมาณ 500-600 กก. คาดว่าจะสูญหายไปประมาณ 100,000 ตัน โดยภาพรวม เนื่องจากการผสมพันธุ์ของข้าวไม่สมบูรณ์ คงเหลือประมาณ 100,000 ตันเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 900 กว่าล้านบาท จากราคา 9,300 บาท/ตัน

นายสุทธิพรกล่าวอีกว่า สำหรับความต้องการบริโภคข้าวภายในพื้นที่ภาคใต้ลดลงไปประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจัยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทย ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวโรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ต่างต้องปิดตัว และชะลอการเปิดกิจการ รวมถึงมีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่างทยอยกลับภูมิลำเนาทำให้การบริโภคข้าวในพื้นที่ภาคใต้ลดลงด้วย

“ส่วนคนในภาคใต้ที่ตกงานส่วนหนึ่งมีที่นา จะส่งผลให้พื้นที่นาที่ถูกทิ้งรกร้างถูกรื้อฟื้นกลับมาทำนาใหม่ แต่ราคาข้าวก็เป็นตัวแปรเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ ซึ่งราคาในระดับนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ชาวนาพอใจ แต่ควรทำนา และปลูกพืชผักผสมผสาน ควบคู่การทำปศุสัตว์ และประมงจะเพิ่มรายได้มากขึ้นดีกว่าทำนาเพียงอย่างเดียว