“ฉุยฟง” ใช้ประโยชน์ FTA ส่งออกชา บุกตลาดญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย

ไทย ส่งออกชา ไปยังตลาดออสเตรเลีย

ชา ถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยปีละกว่า 600 ล้านบาท และยังมีโอกาสขยายฐานการตลาดได้อีกมาก โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าที่ได้ยกเลิกไม่เก็บภาษีศุลกากรกับชาและผลิตภัณฑ์ชาที่ส่งออกจากไทยแล้ว

ไทยส่งออกชาปีละ 600 ล้าน

เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์ผู้ส่งออกชาและผลิตภัณฑ์ชา พร้อมแนะนำการขยายตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต)เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย

โดย “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมชาไทยต่อไปในอนาคตจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะว่าเป็นเครื่องดื่มอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมของโลก ส่วนในประเทศไทยพบว่า อัตราการบริโภคชายังไม่สูงมาก เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัม/คน/ปี

ในขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคชาเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัม/คน/ปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัม/คน/ปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของตลาดชา ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกชาไปยังประเทศจีน เพื่อเป็นวัตถุดิบ และมีการส่งออกชาสำเร็จรูปไปยังไต้หวัน แต่ส่วนใหญ่ในลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ทางกรมอยากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตอนนี้เริ่มมีผู้ประกอบการสร้างแบรนด์สินค้าชาของคนไทยขึ้นมา

โดยพบว่าในจังหวัดเชียงรายมีชาที่มีคุณภาพสามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า สามารถทำการตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้า อาทิ ชาเขียวไทย สามารถส่งออกไปในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ส่วนชาดำและผลิตภัณฑ์ชาไทย สามารถส่งออกในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปี (2558-2562) ไทยมีการส่งออกสินค้าชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าชาดำ เฉลี่ย 1,401.7 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าชาสำเร็จรูป หรือกลุ่มชาและผลิตภัณฑ์ชา ส่งออกเฉลี่ย 9.1 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ กัมพูชา 31% เมียนมา 20% และสหรัฐ 18%

และในปี 2562 ไทยส่งออกชาเขียว 1,057.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย 38% เนเธอร์แลนด์ 12% และมาเลเซีย 9% มีส่งออกชาดำ 2,256 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย 40% สหรัฐอเมริกา 18% และกัมพูชา 14% และส่งออกชาสำเร็จรูป 7,032.3 ตัน คิดเป็นมูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ กัมพูชา 31% เมียนมา 20% และสหรัฐอเมริกา 18%

สถิติในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยมีส่งออกชาเขียว 492.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 17.92% ส่งออกชาดำ 601.8 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 45.54% และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 47.77%

“ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกชาเชียวกับชาดำมียอดลดลง แต่พบว่ายอดส่งออกชาสำเร็จรูปมีขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ชาสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม พื้นที่ จ.เชียงรายเป็นพื้นที่ปลูกชาที่มีคุณภาพ และได้จดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ชาเชียงราย ถือว่าตรงนี้เป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกชาเขียว และชาดำ ในอนาคตได้”

ฉุยฟงใช้ FTA ต่อยอดส่งออก

“น.ส.ชัญญ่า วนัสพิทักษ์สกุล” ผู้บริหารไร่ชาฉุยฟง กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2520 นายทวี วนัสพิทักษ์สกุล (บิดา) ได้มีการบุกเบิกและมุ่งมั่นพัฒนาการปลูกชาบนดอยพญาไพร อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากเล็งเห็นว่า ชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ในอนาคต จึงได้เริ่มชักชวนชาวบ้านทั้งในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงหันมาช่วยพัฒนาพื้นที่และเริ่มเพาะปลูกชาอย่างจริงจัง ทำให้พื้นที่ในแถบนั้นกลายเป็นแหล่งปลูกชาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่กว่า 600 ไร่

ต่อมาปี 2553 ได้มีการเปลี่ยนมือเข้าสู่ยุคผู้บริหารรุ่นที่ 2 ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และสร้างแบรนด์ให้มีความทันสมัย และปรับเปลี่ยนโรงงานให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และมีการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโรงงานได้ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) และได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอาหารฮาลาล จากบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรด้านการตรวจรับรองระบบมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และผ่านระบบการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ (organic plant system) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ชัญญ่า วนัสพิทักษ์สกุล
ชัญญ่า วนัสพิทักษ์สกุล

ปัจจุบันไร่ชาฉุยฟงมีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง คือ บนดอยพญาไพร อ.แม่ฟ้าหลวง 600 ไร่ และ อ.แม่จัน 600 ไร่ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรที่เป็น contract อีกประมาณ 20 ราย ทั้งนี้ ไร่ฉุยฟงใน อ.แม่จัน ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกหนึ่งแห่งซึ่งมีจุดชมวิว ถ่ายรูป และเปิดให้บริการคาเฟ่ 2 แห่ง คือ Chouifong Tea Cafe 1 และ Chouifong Tea Cafe 2

ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้รับผลกระทบ ในภาคของการท่องเที่ยว คือต้องปิดร้านคาเฟ่นานถึง 2 เดือน ทำให้ยอดรายได้ลดลงถึง 10 ล้านบาทจึงได้มีการปรับตัวธุรกิจเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งการบริหารต้นทุน ค่าไฟฟ้า ค่าพนักงานจากเดิมมีร้านคาเฟ่ 2 ร้าน ก็เปิดให้บริการเพียงร้านเดียว และจะกลับมาเปิดอีกร้านในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ส่วนในภาคเกษตรกรรม โรงงานยังมีการผลิตชาเพราะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี และมียอดขายอย่างต่อเนื่องปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2562 ยอดรายได้ลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมากว่า 15-20% เพราะเศรษฐกิจไม่ดี พอมาปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีก หวังว่ายอดรายได้รวมปลายปี 2563 จะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2562

สำหรับผลิตภัณฑ์ของชาไร่ฉุยฟง มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยชาอูหลง ชาเขียวอัสสัม ชาเขียวผง ชาเขียวผสมตะไคร้ โดยมีสินค้าตัวเด่น คือ ชาอูหลง แต่สินค้าขายดี คือ ชาเขียวผง ที่มีความคล้ายชาเขียวมัทฉะ คุณภาพเทียบเท่ากับของประเทศญี่ปุ่น และมีราคาถูกกว่า ซึ่งสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น ไอศกรีม เค้ก คุกกี้ ฯลฯ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า นอกจากนี้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น โลชั่นบำรุงผิว สบู่อาบน้ำ แชมพูและครีมนวดผม

ตอนนี้ตลาดหลักขายภายในประเทศ 90% โดยเน้นการส่งไปให้ผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มสำเร็จรูปและจำหน่ายตามหน้าร้านและห้างแม็คโคร มีการส่งออก 10% ไปยังสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นกลุ่มย่อย รวมถึงมีแผนขยายตลาดส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ถือเป็นโอกาสที่จะนำเข้าสินค้า หรือวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตเองได้ และส่งออกโดยไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม หากสินค้าใบชาถูกลดภาษีนำเข้าทั้งหมดเป็น 0% เกษตรกรจะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเอง ควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับชานำเข้าให้ได้ เพราะว่าชาในหลาย ๆ ประเทศที่นำเข้ามามีราคาถูกกว่าชาที่ผลิตในประเทศไทย