“เกษตรกร” ชี้กองทุน FTA ไม่ตอบโจทย์ พาณิชย์จ่อยกร่าง พ.ร.บ. อัดงบช่วยเหลือ

แปรรูป - เกษตรกรจังหวัดเชียงรายพยายามพัฒนาแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มลูกค้าให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ หลัง จากรัฐบาลเตรียมเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) สินค้าเกษตรหลายชนิด รวมถึงชา

“ไร่ชาฉุยฟง” ชี้กองทุน FTA 2 กระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงพาณิชย์ไม่ตอบโจทย์ในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการ เหตุขั้นตอนตรวจสอบนาน 1-2 ปี กว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติ ไม่ทันตอบสนองความต้องการลูกค้าในตลาด ด้านกระทรวงพาณิชย์เผยเร่งระดมความเห็นตั้ง “กองทุนหมุนเวียน” ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ FTA คาดร่าง พ.ร.บ.เสร็จเดือนพฤศจิกายน 2563 กรมบัญชีกลางแนะการจัดตั้งกองทุนไม่ควรซับซ้อน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการก่อตั้ง “กองทุน FTA” 2 กองทุน คือ กองทุน FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีชื่อว่า “กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” และกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ หรือชื่อทางการคือ “โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิต และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า”

ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี FTA ระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ โดยมีสินค้าเป้าหมาย อาทิ สินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ

โดยทั้ง 2 กองทุน FTA นั้นมีลักษณะรูปแบบการดำเนินงานไม่เหมือนกัน คือ กระทรวงเกษตรฯดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีการก่อตั้งเมื่อปี 2550 มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร แต่ละปีได้งบประมาณจากภาครัฐประมาณ 50-100 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ

สามารถยื่นโครงการขอกู้เงินเข้ามาได้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการโดยกรมการค้าต่างประเทศ เป็นการยื่นเสนอโครงการเข้ามาผ่านกลุ่ม/สมาคม/สหกรณ์ และขอเงินเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยหรือพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งไม่ใช่ขอเป็นรูป “ตัวเงิน”

“ที่ผ่านมาเกษตรกรมองว่าทั้ง 2 กองทุนไม่ได้ตอบโจทย์ตามความต้องการจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะบางครั้งเกษตรต้องการสนับสนุนในรูปแบบตัวเงิน เพื่อไปสร้างโรงแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งไม่ใช่เพียงคำปรึกษาจากงานวิจัยเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการเขียนโครงการเพื่อขอกู้เงินค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงงบประมาณที่เข้ามาช่วยเหลือเป็นงบประมาณรายปี ทำให้บางปีถูกตัดงบฯหรือไม่ได้งบฯเลย ทำให้ไม่มีงบฯเพียงพอที่จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตามที่เกษตรกรยื่นเรื่องขอเข้ามา”

และล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้ง “คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณกฤษฎีกา กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สหพัฒน์ SMEs ไทย สสว. ฯลฯ เพื่อระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ตอนนี้ทางกรมเจรจาฯได้มีการว่าจ้างหน่วยงานภายนอกศึกษาโฟกัสกรุ๊ป เมื่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นผลประโยชน์ตรงกันจะมีการยกร่างเป็น พ.ร.บ.เพื่อขอใช้เงินกองทุนหมุนเวียน เบื้องต้นอยากให้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งการร่าง พ.ร.บ.และข้อมูลความคิดเห็นของ

ผู้ที่เกี่ยวข้องเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ ทางกรมบัญชีกลางได้ให้คำแนะนำว่าการจัดตั้งกองทุนใหม่ไม่ควรซ้ำซ้อนกับภารกิจหรือกองทุนที่มีอยู่แล้ว บางส่วนสามารถทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อลดความซ้ำซ้อนได้

“งบประมาณที่จะจัดตั้งกองทุนอยู่ในระหว่างการสำรวจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคประชาสังคม เขามองว่าไม่ควรพึ่งงบประมาณรัฐเพียงส่วนเดียว เพราะงบประมาณอาจจะไม่ได้ยั่งยืน โดยผู้ที่ได้ผลประโยชน์จาก FTA ก็น่าจะมีส่วนในการสมทบกองทุนด้วย ตรงนี้ต้องมีการพูดคุยกันว่าผู้ได้รับผลประโยชน์มีใครบ้าง

ซึ่งก็อาจจะมีภาคเอกชนบางกลุ่ม และวิธีการที่จะให้เข้ามาสนับสนุนสมทบจะทำอย่างไร จะอยู่ระหว่างการพูดคุยของหน่วยวิจัยที่เข้าช่วยในการทำงาน เราก็หวังว่าถ้าคณะทำงานไฟเขียว รัฐบาลเห็นชอบ ก็จะต้องผลักดันให้เห็นผลต่อไป โดยต้นปี”64 คาดว่าน่าจะเห็นตัวร่าง พ.ร.บ.ที่จะออกจากกระทรวง”

ปัจจุบันถ้าเทียบสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ทำ FTA ปี”62 จะอยู่ที่ประมาณ 62.8% มีมูลค่าอยู่ที่ 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐของการค้าไทยกับโลก อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าหมายควรมีมูลค่าการค้ากับประเทศที่ทำ FTA 80% ขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ไทยมีคู่ FTA ทั้งหมด 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ กระทรวงต้องหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับสินค้าของไทยเพิ่ม ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มเกษตรกร ทางกรมเจรจาก็พยายามบอกให้เขาใช้ประโยชน์จาก FTA ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้วย

นางสาวชัญญ่า วนัสพิทักษ์สกุล ผู้บริหารไร่ชาฉุยฟงกล่าวว่า กองทุน FTA ที่มีการตั้งขึ้นมาจากหน่วยงาน 2 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ผ่านมาทั้ง 2 กองทุนไม่สามารถตอบโจทย์ในการช่วยเหลือเกษตรกรหรือผู้ประกอบการได้ เพราะว่าโครงการดังกล่าวผู้ประกอบการต้องเขียนโครงการขึ้นมาและรอการตรวจสอบ

ซึ่งขั้นตอนระยะเวลาในการตรวจสอบค่อนข้างนานประมาณ 1-2 ปีกว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติ และเมื่อโครงการผ่านการตรวจสอบแล้วงบประมาณที่จะเข้ามาสนับสนุนไม่ให้เป็น “ตัวเงิน” ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุน อาจจะตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่มีเงินทุน เพราะสามารถขอการสนับสนุนงบประมาณเป็นตัวเงินได้ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโรงงานและผลิตภัณฑ์ตนเอง รวมถึงนำไปใช้ในการทำการตลาด

“กว่าโครงการจะอนุมัติใช้เวลานานกว่า 1-2 ปี ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถรอได้ เพราะบางทีสินค้าต้องได้รับการพัฒนาให้ทันกับความต้องการตลาด สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่ถ้ารอโครงการอนุมัติช้า แผนการขยายตลาดที่วางไว้ก็จะช้า สินค้าอาจจะไม่ใช่ความต้องการทางการตลาดในขณะนั้นไปแล้ว นอกจากนี้ เนื่องจากทั้ง 2 กองทุนเป็นงบประมาณรายปี ซึ่งบางปีหน่วยงานก็ไม่ได้รับงบประมาณ โครงการที่ยื่นเข้าไปก็ไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน” นางสาวชัญญ่ากล่าว