ผู้ว่าฯภูเก็ต ชี้ปีนี้สมาร์ทซิตี้บูม คาดนทท.พุ่ง15ล้าน “SME Bank”ให้สินเชื่อเพื่อท้องถิ่น-ธุรกิจยุคดิจิทัล4.0

ธุรกิจขับเคลื่อนประเทศ “SME Development Bank” เพิ่มขีดการแข่งขันในภูมิภาค ผุดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นเงินทุนผู้ประกอบการ ปักหมุดภาคใต้ ยก “ภูเก็ต” ต้นแบบธุรกิจยุคดิจิทัล 4.0 ด้านผู้ว่าฯ ภูเก็ต คาดปีนี้สมาร์ทซิตี้บูม  ตั้งเป้าดึงยอด 15 ล้านคน นักท่องเที่ยวจีนพรึ่บ

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ภูเก็ตถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ มีศักยภาพสูงจากการท่องเที่ยวจนได้ชื่อเป็น “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ขณะเดียวกันยังเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมโดดเด่นเป็นของตนเอง ดึงดูดชาวต่างชาติทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยว

“ธุรกิจ SMEs ที่เราให้การสนับสนุนในตอนนี้คืออุตสากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ตั้งแต่เรื่องอาหาร เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการโลจิสติกส์ทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องกีฬาและกิจการที่สนับสนุนให้คนที่ต้องการมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการพัฒนาภูเก็ตสู่สมาร์ทซิตี้นั้น อุตสาหกรรมที่จะเน้นเรื่องไทยแลนด์  4.0 ว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการหรือไม่ โดยต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถใช้รูปแบบเดิมอย่างการใช้แรงงานคนต่อไปไม่ได้แล้ว จึงต้องเข้ามาบริหารจัดการเพื่อความทันสมัย และภาคบริการต้องลดการใช้คนให้น้อยลง ใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ปรับให้เข้ากับภูเก็ต

“ผู้ประกอบการภูเก็ตมีทักษะเฉพาะตัวอยู่แล้ว ต้องเพิ่มด้านองค์ความรู้ ใช้เทคโนโลยีและควบคุมคุณภาพได้ด้วย จึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนด้านเงินทุน ขณะเดียวกันภูเก็ตมีศักยภาพด้านการตลาดที่สูงอยู่แล้ว ทุกจังหวัดส่งของมาขายที่ภูเก็ต การทำตลาดจึงไม่มีปัญหาเรียกได้ว่าตลาดมาหาถึงบันไดบ้าน ตื่นเช้ามาขายของได้เลย

ส่วนปัญหาที่เห็นได้ชัดคือความต้องการเงินทุน เมื่อโลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับตาม ซึ่งได้ความช่วยเหลือจากทาง SME Bank มาสนับสนุนและตอบสนองแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ทำให้ผู้ประกอบการทั้งระดับบนและระดับล่างเข้าถึงเงินทุนได้” นายนรภัทรกล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  ระบุอีกว่า จากตัวเลขมูลค่าการท่องเที่ยวปีที่แล้ว (2559) อยู่ที่ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท และปีนี้มีแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ประมาณเกือบ 20 % แต่ต้องดูความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามย้ำว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน จากปัจจัยด้านปริมาณคนจากปีที่แล้วมีจำนวน 12-13 ล้านคน โดยปีนี้สิ้นปีภูเก็ตตั้งเป้าไว้ที่ 15 ล้านคน

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์พบว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาช่วงหลังของปีนี้ มีตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ เดินทางมาเป็นกลุ่มครอบครัว ฐานะดี มีการศึกษา อายุประมาณ 25-45 ปีเยอะขึ้น ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่จะชอบมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ปัจจุบันเป็นการบินตรงมาเที่ยวเองมากกว่า ตามมาด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ที่มีเที่ยวบินตรงรัสเซีย-ภูเก็ต จำนวนหลายเที่ยวต่อวัน

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) กล่าวถึงโครงการ “เติมเงินทุน SMEs มุ่งสู่มาตรฐานเทคโนโลยี 4.0” ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 2 หลังจากจัดครั้งแรกที่ จ.อุบลราชธานีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการภูมิภาค สร้างโอกาสทางการตลาด ปรับตัวทางธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ด้วยเทคโนโลยี ERP บนระบบ Cloud Internet ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม Thailand 4.0 ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น มอบความรู้เรื่องระบบ “ERP on Cloud” พร้อมบริการโปรแกรมบัญชีฟรี บนสมาร์ทโฟน ช่วยบริหารบัญชีได้จากทุกมุมโลก

โดยความร่วมมือระหว่าง ธพว. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET และบริษัท อินเทลลิเจนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ IEC  ช่วยผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมาตรฐานบัญชีใหม่ สนับสนุนยื่นกู้จากสถาบันการเงินตามเกณฑ์รายได้ เริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. 2561

นอกจากนี้ SME Development Bank ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Central Lab Thai (แล็บประชารัฐ) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพครบวงจร เช่น อบรมความรู้หัวข้อ “แล็บประชารัฐ สร้างมาตรฐานสินค้า SMEs ไทย” และ “เพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจด้วยการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ยุคดิจิทัล” เป็นต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ SME Development Bank  ที่มีไว้บริการในโครงการ “เติมเงินทุน SMEs มุ่งสู่มาตรฐานเทคโนโลยี 4.0” ได้แก่

1) สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนและธุรกิจแฟรนไชส์ วงเงิน 7,500 ล้านบาท บุคคลธรรมดา กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท นิติบุคคล กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมนาน 7 ปี ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.0 ต่อปี (กรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร) สำหรับค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. ฟรีถึง 4 ปี

2) สินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 วงเงิน 5,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดต่อรายที่ 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมตลอดโครงการไม่เกิน 7 ปี ปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% และปีที่ 4-7 เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้ เพื่อเป็นทุนฟื้นฟูกิจการแก่เอสเอ็มอี จ.ภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

3) กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 ปีแรกและไม่ต้องมีหลักประกัน เพื่อส่งเสริมธุรกิจในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด

4) สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับขยาย ปรับปรุงกิจการ ระยะเวลากู้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 คงที่ 3% ปีที่ 4-7 คิดดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้ กรณีวงเงินกู้เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคารเฉพาะประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและ

5) สินเชื่อ SMEs Factoring “ทั่วไทยเบิกจ่ายได้ภายในวันเดียว” ช่วยเครดิตการค้าไม่สะดุด ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ยกเว้นค่าธรรมเนียม