“เกาะช้าง” ตราดจีบนักท่องเที่ยวจีนทำ ALSQ 8 เดือนรายได้ติดลบ 70%

ภาพ Pixabay

“เกาะช้าง” ตราดจีบนักท่องเที่ยวจีนทำ ALSQ 8 เดือนรายได้ติดลบ 70% ธุรกิจ CUTLOSS ยื้อชีวิต

“เกาะช้าง” ตราดเล็งจีบจีนทำ ALSQ หลังรายได้ท่องเที่ยวดิ่ง 8 เดือน ติดลบ -70% จากเคยมีรายได้ 10,000 ล้านบาท เหลือแค่ 5 พันล้าน เร่ง cut loss ยื้อชีวิต โควิด-19 ทำตลาดหลักต่างชาติเป็น 0 “ธุรกิจโรงแรม-รถตู้-รถโดยสาร-มอเตอร์ไซค์เช่า-นวด-สักเพนต์-แลกเงิน-ร้านอาหาร-เคาน์เตอร์ทัวร์-เอเย่นต์ทัวร์” ขาดทุนทยอยปิดตัว คนตกงานอื้อ ด้าน ททท.ตราดจับมือ อพท.-ททก.-สาธารณสุข ดันท่องเที่ยวชุมชน-ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทางรอด

นายวิชิต สุกระสูยานนท์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด และประธานสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 9 (ระยอง จันทบุรี ตราด) กล่าวว่า ขณะนี้ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 4 ของปี 2563 แต่ธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะช้าง จ.ตราด ยังไม่ดีขึ้นมากนัก

แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการ และกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยน้อยไม่สามารถทดแทนรายได้หลักที่เคยได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 40% หรือเกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้รวมจังหวัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยมีรายได้จากลูกค้าชาวต่างประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่บริการรถตู้เช่า รถโดยสาร รถมอเตอร์ไซค์เช่าบริการนวด สักเพนต์ ธุรกิจแลกเงิน โรงแรม ร้านอาหาร ต่างประสบภาวะขาดทุน พนักงานตกงาน

“หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวตั้งแต่ไตรมาสแรกถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวประสบภาวะขาดทุน พนักงานตกงาน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มาเที่ยวเฉพาะช่วงวันหยุดยาว แม้รัฐบาลจะเพิ่มวันหยุดยาวในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม แต่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คนไทยต้องการออมเงินสด น่าจะหมดกำลังซื้อ บางส่วนตกงาน”

โรงแรมขนาดเล็ก SMEs ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 5-15-20 ห้อง ตั้งอยู่บนเกาะช้าง 30-40 แห่ง รวมถึงโรงแรมระดับ 3 ดาวลงมา 2 เดือนมานี้เริ่มทยอยปิดตัวไปแล้ว เพราะไม่มีลูกค้าต่างประเทศ ส่วนลูกค้าคนไทยมีเฉพาะช่วงวันหยุดยาว และมาตามแพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน-กำลังใจ” ของภาครัฐ และผู้ประกอบการทำโปรโมชั่นเอง

ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาเอง และกรุ๊ปทัวร์คณะใหญ่ ๆ จะเลือกพักโรงแรมใหญ่ระดับ 4-5 ดาว ที่บางแห่งลดราคาค่าห้องพัก 70-80% จากห้องละ 7,000-8,000 บาท/คืน เหลือ 1,100-1,300 บาท ทำให้โรงแรมขนาดเล็กราคา 800-1,000 บาท ไม่มีผู้เข้าพัก ซึ่งการจัดแพ็กเกจให้คณะกรุ๊ปทัวร์จะเบ็ดเสร็จ อาหาร ที่พักของโรงแรม ร้านอาหารเล็ก ๆ ทยอยปิดตัวไป นักท่องเที่ยวไทยที่มาใช้เงินตัวเองน้อยมากจะใช้สิทธิ์รัฐบาลสนับสนุน 90% ถ้าปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้าไม่ได้ โรงแรมขนาดเล็กน่าจะปิดตัว 100%

“การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมจะรับนักท่องเที่ยวได้ทุกวัน ต้องติดต่อจองล่วงหน้ามาเป็นกรุ๊ป วอล์กอินเข้ามาไม่ได้ไม่มีกิจกรรม จึงควรพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ นำจุดแข็งของแต่ละชุมชนออกมา จังหวัดตราดได้เปรียบที่ปลอดเชื้อโควิด-19 อาจจะชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ได้เสนอสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำรูปแบบบันทึกข้อตกลง (MOU) กับจีนบางมณฑลที่ควบคุมเชื้อโควิดได้แล้ว ต้องยอมเข้าสถานกักกันตัวทางเลือก 14 วัน (alternative local state quarantine-ALSQ) ตามมาตรการด้านสาธารณสุขโรงแรมบนเกาะช้างมีความพร้อม และเหมาะกับสภาพการกักตัว แต่ต้องฟังเสียงของชาวบ้านในท้องถิ่นก่อน”

Cut Loss ลดสเกลรอฟื้น

ทางด้าน นายธีระศักดิ์ สรวมชีพมาเสือ รองนายกเทศมนตรีเทศบาล ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้ไปถึงปีหน้าหรืออีก 2-3 ปี ธุรกิจท่องเที่ยวน่าเป็นห่วง นักท่องเที่ยวไทยทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ ตอนนี้ทางออกผู้ประกอบการต้องหยุดการขาดทุน (cut loss) โดยตัดสินใจขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป เพื่อไม่ให้ขาดทุนมากหรือต้องชำระหนี้สองทาง ลดสเกลของธุรกิจลง

เช่น กิจการรถตู้ รถเช่ามอเตอร์ไซค์ เพื่อเก็บรักษาทุนไว้รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและมาลงทุนใหม่อาจจะระยะยาว 3-4 ปี ให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ เพราะมาตรการต่าง ๆ แบบภูเก็ตโมเดล หรือนักท่องเที่ยววีซ่าพิเศษ special tourist visa : STV เดือนละ1,200 คน เกาะช้างทำไม่ได้ ไม่มีไดเร็กต์ไฟลต์ที่จะเช่าเหมาลำบินตรง ถ้าจะทำ ALSQ มาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวด ผู้ประกอบการ 4-5 แห่งสนใจมีความเชื่อมั่น แต่ปัญหาคือประชาคมชาวบ้านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะชาวบ้านมีอาชีพอื่น ๆ ไม่ได้ทำธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด

“นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มาท่องเที่ยวเองตามกระแสการโปรโมต ลดราคา ไม่จับจ่ายใช้สอย ใช้บริการร้านค้าร้านอาหาร ใช้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวน้อย โดยช่วงวันธรรมดา มีนักท่องเที่ยวเพียง 3,000-4,000 คน ส่วนวันหยุดยาวมีนักท่องเที่ยวประมาณ 20,000 คน ถือว่ายังน้อย

ที่ผ่านมาเดือนเมษายน-พฤษภาคม นักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% เคาน์เตอร์ทัวร์ เอเย่นต์ทัวร์อยู่ไม่ได้ต้องปิดตัวเองไป เพราะนักท่องเที่ยวไทยติดต่อจองโรงแรมเอง บาร์เบียร์ ร้านอาหารที่มีดนตรีปิดไป 80% ร้านเช่ารถมอเตอร์ไซค์เช่าหายไป 50% ร้านนวดลูกค้ามีน้อย เจ้าของยอมขาดทุนให้ลูกน้องมีงานทำเดือนละ 8,000-10,000 บาท คงยืนได้เพียง 1-2 ปี

ดันชุมชนเปิดเที่ยวได้ทุกวัน

ทางด้านนายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.) กล่าวว่า ได้เสนอของบประมาณ 7 ล้านบาท ดำเนินงานต่อเนื่องปี 2562-2564 เพื่อยกระดับเกาะหมากตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sus-tainable Tourism Criteria : GSTC)

ส่วนปี 2564-2565 อพท.มีเป้าหมายคนไทยเที่ยวไทย มีแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อกระจายรายได้เศรษฐกิจฐานราก และเส้นทางเชื่อมโยงกัมพูชา-เวียดนาม (R10) โดยร่วมมือกับ สปน. จัดประชุมสัมมนา (MICE) ซึ่งจังหวัดตราดมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชน 3 แห่งที่ อพท.จะเข้ามาพัฒนาต่อเนื่องให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

“โรงแรมขนาดใหญ่บนเกาะช้างยังเปิดบริการไม่เต็ม 100% แต่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวไทย แต่ต้องบริหารจัดการแก้ปัญหาความไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดเวลา การดึงเอาศักยภาพของชุมชนที่มีเฉพาะแห่งสร้างกิจกรรมย่อย ๆ เพื่อจัดเป็นทริประยะเวลาสั้น ๆ และทำประชาสัมพันธ์กับผู้ประกอบการโรงแรม” นายสุธารักษ์กล่าว

นายอิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานตราด กล่าวว่า แผนปี 2564 ของ ททท.สนง.ตราด เป้าหมายยังคงเป็นนักท่องเที่ยวไทยภายใต้โครงการ “ตราดเติมเต็ม” แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ตราดเต็มสุข ตราดเต็มอิ่ม และตราดเต็มถัง เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเป็นหลัก เดือนตุลาคมนี้กิจกรรมไฮไลต์มีขบวน big bike นับ100 คันขับขี่ท่องเที่ยวเส้นทางตราด-คลองใหญ่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกระจายทั่วไปบนฝั่งตามแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวเฉพาะเกาะ

นอกจากนี้ เตรียมขึ้นคัตเอาต์ขนาดใหญ่หน้าเมือง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดตราด เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวอีกหลายครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้องบริหารจัดการให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาเอง หน่วยงาน ททท.ได้เตรียมทำแผนการตลาดไว้รองรับแล้ว ขณะที่โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารแหล่งให้บริการธุรกิจท่องเที่ยวทั้งบนฝั่งและเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวตามมาตรฐานด้านสุขภาพอนามัย

รุก Healthy Resort ผู้สูงวัย

ทางด้าน นายทรงวิทย์ ภิรมย์ภักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมสาธารณสุข จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2562 จังหวัดตราดได้สนับสนุนให้จัดทำโรงแรม รีสอร์ตมาตรฐานด้านสุขภาพ (healthy resort) รองรับ 4 ด้าน คือ ด้านความปลอดภัย ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ

มีนำร่อง 15 แห่ง และเตรียมจะขยายปี 2563-2564 เพิ่มอีก 200 แห่ง ครึ่งหนึ่งของโรงแรมทั้งหมด และจะเพิ่มเรื่องอาหารปลอดภัย ผักอินทรีย์ สมุนไพรที่ปลูกและจำหน่ายโดยผู้สูงอายุ โดยเป็นโรงแรม รีสอร์ต หรือโฮมสเตย์เพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุ healthy resort and food safety for aging socieity รองรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูแลด้านสุขภาพและกลุ่มผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 จ.ตราด จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 2562 จำนวน 1,496,947 คน เหลือเพียง 667,399 คน หรือ -80.45% และรายได้ จากปี 2562 จำนวน 13,649.12 ล้านบาท เหลือเพียง 5,530.05 ล้านบาท หรือ -68.11%

ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นช่วงที่ล็อกดาวน์จังหวัด ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยมาก อัตราการเข้าพัก (occupancy rate : OR) เฉลี่ย 0% และมีรายได้เล็กน้อยเพียง 1% และนักท่องเที่ยวเหลือ 300-600 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยว 200,000 คน/เดือน และจากรายได้ 1,700-1,800 ล้านบาท/เดือน ซึ่งในปี 2562 จังหวัดตราดมีนักท่องเที่ยว(คน-ครั้ง) 2,181,210 คน รายได้ 19,989.90 ล้านบาท