
เปิดแก๊งพาแรงงานลอบเข้าไทย นายหน้าคิดค่าหัวคิว 3 พัน-1.5 หมื่น ส่งไซต์ก่อสร้าง-จากจันท์สู่แปดริ้ว-สระบุรี
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในเมียนมากัมพูชา จะมี “ข่าวการลักลอบ” เข้ามาของแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่องตลอดแนวตะเข็บชายแดนทุกภาค เริ่มจากภาคเหนือ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี สระแก้ว โดยยอมจ่ายค่าหัวคิวตั้งแต่ 3,000-15,000 บาทต่อคน
โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนของทุกปีถือเป็นฤดูกาลที่ผลผลิตลำไยในพื้นที่ 170,000 ไร่ กำลังออกและช่วงพีกสุดอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน, ธันวาคม ทำให้เกษตรกรและล้งมีความต้องการแรงงานกัมพูชาในการเก็บผลผลิตสูงถึง 34,000 คน แบ่งเป็นโรงคัดบรรจุ (ล้ง) 4,000 คน เก็บลำไย 10,000 คน ทำงานภาคเกษตร 10,000 คน เนื่องจากเมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดทำให้ต้องปิดชายแดน แรงงานเข้ามาไม่ได้
ทางสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรีได้เสนอขอนำเข้าแรงงานกัมพูชาทางด่านจุดผ่านแดนถาวร บ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน 34,000 คน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้อนุมัติให้จันทบุรีนำเข้าแรงงานกัมพูชามาได้ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังโควิด มีการกักตัว 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 63 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความก้าวหน้า ทำให้มีข่าวเรื่องการลักลอบของแรงงานกัมพูชาเข้าไทยมาตลอดนั้น
แหล่งข่าวจากชายแดนจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบแรงงานเข้ามาตามชายแดน จ.สระแก้ว จันทบุรี ตราด ยังลักลอบเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นรายวัน เนื่องจากความต้องการแรงงานของไทยและพรมแดนธรรมชาติแนวยาว ทำให้มีการลักลอบเข้ามาได้ง่าย บางจุดเป็นลำคลองเล็ก ๆ พื้นที่ติดทะเล
กระบวนการลักลอบมีทั้งนายหน้าชาวกัมพูชานำพาเข้ามา เสียค่าใช้จ่ายหัวละ 3,000 บาท ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายให้โดยนำส่งที่ชายแดน และจะมีรถมารับแรงงานไปส่งนายจ้างทั้งในจังหวัดชายแดนและไปถึงฉะเชิงเทรา สระบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานก่อสร้างที่ขาดแคลน ส่วนจังหวัดชายแดนส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานภาคเกษตรและภาคธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเจ้าหน้าที่จับได้จะส่งดำเนินคดี อีกส่วนหนึ่งลักลอบเข้ามาเอง กลุ่มนี้เจ้าหน้าที่จับได้จะผลักดันส่งกลับประเทศ
เกษตรกรส่อขาดทุน-หนี้อ่วม
แหล่งข่าวจากเกษตรกรสวนลำไย กล่าวว่า “ในช่วงโควิดแรงงานกัมพูชากลับไปบ้านและกลับเข้าไทยไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งมีเอกสารหนังสือผ่านแดน ใบอนุญาตทำงาน แต่ลักลอบเข้า-ออกเป็นปกติเพราะมีความชำนาญภูมิประเทศจะทำงานได้แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ เมื่อ อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว ฤดูกาลเก็บลำไยต้องการแรงงานจำนวนมากถึง 34,000 คน หากไม่สามารถนำเข้าได้จะต้องเกิดความเสียหายต่อเกษตรกรอย่างหนัก
เพราะปกติล้งที่ทำสัญญารับซื้อลำไยจะวางเงินมัดจำไว้ 30% เมื่อล้งไม่มีแรงงานจัดเก็บจะเก็บเฉพาะวงเงินที่วางมัดจำ และจะเลือกเก็บเบอร์ใหญ่ ๆ ไป และที่เหลืออีก 70% จะปล่อยทิ้งเกษตรกรเก็บขายเอง ซึ่งจะเสียหายขาดทุนเป็นหนี้ล้ง เพราะได้ทำสัญญาขายล่วงหน้ารับเงินมาลงทุนราดสารใส่ปุ๋ย สัญญาที่ทำไว้ไม่มีความหมายและเป็นคดีแพ่ง ชาวบ้านไม่มีเงินจ้างทนายฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ผ่านมาถ้ามีปัญหาล้งผิดสัญญาทิ้งเงินมัดจำมาแล้ว”
ทางด้านการนำเข้าแรงงานกัมพูชาเก็บลำไยใน อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เป็นกรณีพิเศษ หรือ “จันทบุรีโมเดล” นั้น จากปัญหาด้านเอกสารระดับรัฐบาลของกัมพูชายังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานทั้ง ๆ ที่ไทยได้เตรียมความพร้อมทีมงานแพทย์ตรวจโควิด เอกสารเดินทางเข้าเมือง การออกใบอนุญาตทำงาน จากจัดหางานจังหวัด สถานกักตัว 14 วัน และมีแรงงานกัมพูชารอเข้ามา 500 คน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 63 เป็นระยะเวลาเกือบเดือนยังไม่คืบหน้า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เร่งหามาตรการนำเข้าแรงงานกัมพูชาเข้ามาเก็บผลผลิตลำไย มีผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี และภาคเอกชน สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี และสมาคมชาวสวนลำไย จันทบุรี เข้าร่วมด้วย
โดยขอให้นายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr.Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย ช่วยดำเนินการเร่งรัดให้แรงงานที่ใช้บัตรผ่านแดน (border pass) จำนวน 500 คน เดินทางเข้ามาทำงานโดยเร็วและแก้ไขร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อกำหนดให้มีการจ้างงานระยะสั้น
สธ.เล็งต่อรองลดเบื้ยประกันโควิด
ด้าน นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนำเข้าแรงงานกัมพูชาเก็บลำไยนั้นยังไม่ชัดเจนและกำหนดเวลาไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาลของกัมพูชา ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนลำไยได้รับความเดือดร้อน มีแรงงานไม่พอเก็บทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายบ้างแล้วเพราะเก็บไม่ทัน ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยใช้แรงงานที่เคยเก็บมังคุด แรงงานไทยเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดประมาณ 30% แต่ถ้า 4 เดือน (ตุลาคม 2563-มกราคม 2564) ผลผลิตที่เหลือ 70% จะออกสู่ตลาด ยังนำเข้าแรงงานกัมพูชาไม่ได้จะมีปัญหาผลกระทบมาก ลูกจ้างประจำตามล้งกลับบ้านไปแต่เข้ามาไม่ได้
ตอนนี้ต้องทบทวนและมองผลระยะยาวหากยังนำเข้าแรงงานเก็บลำไยระยะสั้นไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วยในอนาคต ต่อไปหากปลดล็อกโควิด-19 ภาระค่าใช้จ่ายค่าประกันโควิด-19 โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราคนละ 1,600-4,800 บาท กระทรวงสาธารณสุขอาจจะมีการต่อรองให้ลดลง หากจังหวัดจันทบุรีทำสำเร็จจังหวัดชายแดนอื่น ๆ ที่ยังขาดแคลนแรงงานจะใช้เป็นต้นแบบ เช่น สระแก้ว หรือชายแดนด้านเมียนมา
ทางด้านเกษตรกรเจ้าของสวนลำไยรายเล็ก อ.โป่งน้ำร้อน กล่าวเพิ่มเติมว่า หากล้งขาดแรงงานที่เก็บลำไยหรือทำแพ็กกิ้ง จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรแน่นอน ตอนนี้ล้งที่รับซื้อมีปริมาณน้อยลงกว่าปีที่แล้ว ปีนี้แม้ว่าจะทำสัญญาซื้อขายกิโลกรัมละ 30-32 บาท วางเงินมัดจำไว้แล้ว 30% ถ้าไม่มีแรงงานจัดเก็บลำไยได้ครบตามสัญญาและทิ้งมัดจำไม่ยอมขาดทุน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำสัญญาซื้อ-ขายตั้งแต่ราดสารเดือนมิถุนายน ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวได้เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เมื่อเกษตรกรขายลำไยไม่ได้จะเป็นหนี้สินล้งหรือธนาคาร บางรายผลผลิตไม่ได้เก็บเกี่ยวมา 2 ปีติดต่อกันหวังว่าปีนี้จะได้เงินมาใช้หนี้ล้ง
สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี และสมาคมชาวสวนลำไย จันทบุรี ประเมินความต้องการใช้แรงงานกัมพูชาเก็บลำไยจำนวน 34,000 คน แบ่งเป็นแผนกคัดบรรจุ 4,000 คน แรงงานเก็บ 20,000 คน และแรงงานในสวน 10,000 คน ตามแผนระยะแรกเดือนกันยายนจะมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,000 คน แบ่งเป็น 2 ช่วงช่วงละ 500 คน เพื่อเข้าสู่มาตรการกักตัว 14 วัน
"เมียนมา" ซุกเชียงใหม่-กทม. หวังรอดตาย-มีงานทำ
เชียงรายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีแนวชายแดนทางบกติดต่อกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ประมาณ 120 กิโลเมตร โดยมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาตั้งแต่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย จดลำน้ำสาย ที่เป็นเส้นเขตแดนในเขต ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย และมีน้ำสาย-ลำน้ำรวก จาก อ.แม่สาย ไปยัง อ.เชียงแสน ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ทำให้มีความพยายามลักลอบเข้ามาของแรงงานเมียนมาอย่างต่อเนื่อง และถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก
โดยหนึ่งในผู้ถูกจับกุมบางกลุ่มเดินทางไกลมาจากเมืองตองจี ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐฉาน ตั้งอยู่ห่างจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ลึกเข้าไปประมาณ 400 กิโลเมตร โดยชาวเมียนมาจะนั่งรถตู้มายังชายแดนไทยและจ่ายค่าจ้างให้คนนำทางในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ตรงกันข้าม อ.แม่สาย จำนวน 5,000 บาท

จากนั้นเมื่อเดินถึงริมลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก จะมีท่าน้ำหลายแห่งตลอดริมฝั่ง เช่น ท่าพญานาค ท่าเจ้ดาว ท่าเกาะทราย ท่าป่ากล้วย ฯลฯ โดยมีทั้งจุดที่เคยเป็นจุดผ่อนปรนและช่องทางธรรมชาติรวมกันกว่า 10-20 แห่ง ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้วางรั้วลวดหนามและอุปกรณ์ป้องกันมากมายเพราะมีกลุ่มขบวนการพาคนข้ามมายังฝั่งไทยคิดราคาหัวละตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท
และเมื่อข้ามมาได้แล้วจะลักลอบไปยัง จ.เชียงใหม่ จะคิดราคาหัวละประมาณ 10,000-12,000 บาท ปัจจุบันเมื่อมีการเข้มงวดหนักมีรายงานว่าคิดราคาสูงถึงกว่าหัวละ 15,000 บาทแล้ว และหากจะไปกรุงเทพฯจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น
ด้าน พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พล.ต.ต.ยุทธชัย พัวประเสริฐ ผบก.ภ.จว.เชียงราย ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันการลักลอบตลอดแนวชายแดน ปัจจุบันจึงมีติดตั้งรั้วลวดหนาวไปแล้ว 22 จุด ติดตั้งไฟส่องสว่างจำนวน 4 จุด ใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนตรวจการณ์ วางกำลังคนตามจุดต่าง ๆ และตั้งจุดตรวจจุดสกัดร่วม
หลังพบว่าตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.-9 ก.ค. มีผู้ลักลอบข้ามฝั่งมาได้ 34 ครั้ง ผู้ต้องหาจำนวน 125 คน เป็นชาวสัญชาติเมียนมาจำนวน 113 คน ชาว สปป.ลาวจำนวน 10 คน และชาวจีนจำนวน 2 คน และมีการปลดผู้นำชุมชนคนหนึ่ง เพราะมีส่วนพัวพันในการช่วยเหลือให้เข้ามาออกจากตำแหน่งแล้ว 1 ราย ทำให้สถานการณ์เบาบางลง แต่ก็ยังคงมีการลักลอบเข้ามาอยู่เนือง ๆ
ล่าสุดนอกจากแรงงานชาวเมียนมาแล้ว ทางหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ได้จับกุมชาวจีน 4 คนที่ชายแดนแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน และทหาร ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง ได้จับกุมชาวจีนอีก 4 คน พื้นที่ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ติดลำน้ำสายเพราะได้ลักลอบข้ามมาฝั่งไทยได้สำเร็จ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายปัญญา วุฒิประจักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี และผู้ประกอบการธุรกิจค้าชายแดน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธุรกิจการค้าชายแดนติดปัญหาใหญ่คือเรื่องโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายคุมเข้มเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการป้องกันการลักลอบผ่านแดนเข้ามายังประเทศไทยของชาวเมียนมา
ยอมรับว่าเขตแดนไทยที่ยาวติดต่อกันกว่า 2,000 กิโลเมตร กับประเทศเพื่อนบ้าน การป้องกันตลอดแนวค่อนข้างยาก ฉะนั้นไม่แปลกหากมีข่าวจับชาวเมียนมาลักลอบเข้ามาได้ คนที่หนีตายจากเมียนมาเข้ามาไทยอย่างน้อยถ้ารอดก็มีงานทำ ถ้าติดโควิดก็ได้รับการดูแลที่ดี เพราะคนเมียนมาเชื่อถือระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมากกว่า แต่ทำให้ประเทศไทยเสียหายมาก
ประเทศไทยถือเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่คนเมียนมาจะข้ามมามากที่สุด เหตุจูงใจที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลที่ดี โดยคนที่ลักลอบเข้ามาจะติดต่อผ่านแรงงานเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคอยช่วยเหลือทำให้มีช่องทางในการเข้ามา แม้ฝั่งเขตแดนเมียนมา ซึ่งเชื่อมต่อไปยังบังกลาเทศจะข้ามไปง่ายกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าเช่นกัน
ด้านผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ประกาศตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี โดย นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุว่าเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้แพร่ระบาดในเมียนมาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ฉะนั้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรคจึงให้ขยายเวลาระงับการใช้ช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรของบุคคล ยานพาหนะและสิ่งของ ณ จุดผ่อนปรนการค้าด่านพระเจดีย์สามองค์ (จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563