
นายจรูญศักดิ์ สุขขุม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรังมีแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด โดยมีเป้าหมายกำหนดพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ในปี 2565 จำนวน 6,750 ไร่ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีความมั่นคง และมีความยั่งยืน
“เรามีเป้าหมายว่าเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ต้องเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเรามีเกษตรกรทำนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ถัดมาเป็นไม้ผล พืชผัก และเป็นกลุ่มเกษตรผสมผสาน ดังนั้น ชนิดสินค้าที่เรากำหนดจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรเหล่านี้ เช่น จะส่งเสริมในเรื่องของพืชทางเลือกใหม่ อาทิ พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน แตงโมเกาะสุกร ข้าวเบายอดม่วง ผลผลิตพวกนี้เราจะส่งเสริมให้เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด”
ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไว้ 3-4 ประเด็น ซึ่งในแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ต้องพัฒนาคน ต้องมีความรู้ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐานสู่ตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศได้ เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น
โดยผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนา ผู้ผลิตต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภคโดยตรง ต้องมีช่องทางประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ตลาดเกษตรอินทรีย์เป็นตลาดที่กำลังโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงกลุ่มลูกค้าเกษตรกรบ้านต้องหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ในปัจจุบันเกิดจากการบริโภคและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
“สินค้าอินทรีย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จึงเป็นช่องทางโอกาสของกลุ่มเกษตรกรที่จะผลิตสินค้าอินทรีย์ไปสู่ผู้บริโภค ปลอยภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดคือจะเกิดความยั่งยืน สู่ลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต” นายจรูญศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 17 เป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้เกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาอาหารในตัว SBG หนึ่งในนั้นคือ เรื่องของความปลอดภัยในเรื่องอาหารและเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความพอเพียงของอาหาร การเข้าถึงอาหาร ความมีเสถียรภาพของอาหารรวมถึงประโยชน์และคุณค่าของอาหาร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทยในเรื่องของเกษตรอัจฉริยะ เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรนิเวศ