“จันทบุรีโมเดล” เคว้งผลผลิต “ลำไย” แสนตันไร้แรงงานเก็บ

ลำไย

แรงงานเก็บลำไย “จันทบุรีโมเดล” ยังไม่คืบหวั่นกระทบผลผลิตเดือนพฤศจิกายนรอเก็บ 130,000 ตัน มูลค่า 50,000 ล้านบาทเสียหาย

รายงานข่าวจาก “ประชาชาติธุรกิจ” แจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรีได้ประชุมอย่างเร่งด่วนสมาชิกผู้ประกอบการล้งลำไยจำนวน 80 ล้ง ใน อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหามาตรการนำเข้าแรงงานเก็บลำไยจากกัมพูชาหรือ “จันทบุรีโมเดล” ที่เสนอผ่าน ศบค.ชุดเล็กและได้อนุมัติในหลักการแล้ว แต่ทางกัมพูชายังไม่มีหนังสืออนุญาตแจ้งรัฐบาลไทย

รอ – จันทบุรีจัดพื้นที่บริเวณใกล้ด่านชายแดน เพื่อรอรับแรงงานกัมพูชาที่จะเข้ามาเก็บลำไยใน อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า

สมาคมได้ประเมินสถานการณ์ว่าภายในเดือนตุลาคมยังไม่สามารถนำแรงงานเข้ามา จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตลำไยที่ทยอยสุกกว่า 130,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เสนอแนวทางให้สมาคมคิดหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกับผู้ประกอบการ ประกาศจ้างแรงงานคนไทยที่ตกงาน หางานทำช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ทันฤดูเก็บผลผลิตนี้สมาคมได้หารือผู้ประกอบการถึงการใช้แรงงานไทยแทนกัมพูชา ส่วนใหญ่ 99% เคยจ้างแรงงานไทย และมีปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ มีนายหน้าพามา เก็บค่าหัวคิวไปก่อนคนละ 2,000-2,500 บาท แรงงานบางคนขอเบิกเงินล่วงหน้า ทำงานได้ 3-4 วัน หนีกลับ

นอกจากนี้ยังเรียกร้องสวัสดิการ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีจ่าย แต่พอเจองานหนักไม่สู้งาน และให้จ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน เปรียบเทียบแรงงานกัมพูชาจ่ายเหมาสามารถเก็บลำไยเฉลี่ยคนละ 30-40 ตะกร้าต่อวัน แต่คนไทยเฉลี่ยวันละ 5-10 ตะกร้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีใช้แรงงานคนไทย แต่ให้ผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดจันทบุรี และมีสัญญาจ้างงานที่เป็นหลักประกันความเสี่ยงแรงงานหนีกลับก่อนกำหนด ถ้าให้ล้งรับแรงงานไทยโดยตรงล้งไม่กล้าเสี่ยงและตามมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคโควิด-19 ต้นเดือนพฤศจิกายนสมาคมร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี จะสำรวจแรงงานปัจจุบันที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อตรวจโควิด และตรวจสุขภาพแรงงานกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดจันทบุรี ชี้แจงว่า แรงงานต่างด้าวที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้ถูกต้อง ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา ภายหลังโควิด-19 คลี่คลายให้แรงงานต่างด้าว 4 กลุ่ม ที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน ให้ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน

คือ 1) แรงงานที่เข้ามาตามข้อตกลง MOU ครบ 4 ปี 2) แรงงานที่หนังสือเดินทางประจำตัวหมดอายุและยังไม่ได้ต่อ 3) แรงงานตามข้อตกลง MOU ที่การอนุญาตสิ้นสุดลง และ 4) แรงงานที่เข้ามาโดยใช้บัตรผ่านแดน (border pass) ตามมาตรา 64 : ซึ่งกลุ่ม 1-3 ยื่นขออนุญาตตั้งแต่ 17 สิงหาคม 2563-31 ตุลาคม 2563 จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มีนาคม 2565 ส่วนกลุ่มที่ 4 ยื่นขออนุญาต โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่ขอต่อเนื่องไม่เกิน 31 มีนาคม 2565 ซึ่งมีจำนวน 3,355 คน

นายอภิรักษ์ พิสุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะสุ่มตรวจแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในจังหวัดประมาณ 10% ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่