“เจษฎา พิชัยวงค์ภักดี” ลุ้นจีนฟื้น เล็งส่งออกผลไม้แปรรูปตอบโจทย์สุขภาพ

สัมภาษณ์

ยังอยู่ในช่วงวิกฤตสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจหลายรายที่ประสบปัญหารอบด้านในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องอาศัยการบริโภคจากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แม้รัฐบาลพยายามออกมาตรการมากระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

เช่นเดียวกับ “เจษฎา พิชัยวงค์ภักดี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม กรีน ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารที่อาศัยตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นช่องทางการขายสินค้า ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก

ตลาดเนื้อจระเข้ซึมพิษโควิด

“เจษฎา” เล่าให้ฟังว่า บริษัท สยาม กรีน ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด ทำธุรกิจผลิตเนื้อจระเข้แปรรูปและผลไม้แปรรูป โดยในส่วนของธุรกิจผลิตเนื้อจระเข้แปรรูป มีโรงงานตั้งอยู่ จ.สมุทรปราการ ผลิตเนื้อจระเข้แปรรูปขาย โดยรับมาจากฟาร์มในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดชลบุรี ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะเชื่อกันว่าเนื้อจระเข้เป็นยาบำรุงสุขภาพ และเนื้อจระเข้ในประเทศไทยได้รับการยอมรับพอสมควร เนื่องจากเป็นประเทศที่เลี้ยงจระเข้แบบถูกกฎหมายมากที่สุดในโลก ทั้งเพื่อการบริโภคและในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น

“เริ่มแรกเราทำเนื้อจระเข้อบแห้งขาย เพื่อนำไปต้มกับสมุนไพรจีน ต่อมามีแนวคิดว่าอยากทำแบบซองพร้อมรับประทานได้เลย เราจึงเริ่มทำเนื้อจระเข้ปรุงรสในแบรนด์ “ดีละเชียร์” ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งได้ผลการตอบรับจากตลาดดีมาก ปกติเนื้อจระเข้สามารถนำมาแปรรูปได้ทั้งตัว แต่ในประเทศไทยกลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก ด้วยวัฒนธรรมไทยไม่ค่อยรับประทานเนื้อจระเข้ ตลาดผู้บริโภคจึงแทบจะไม่มีคนไทยเลย ส่วนมากเกือบ 100% อยู่ในตลาดต่างประเทศ ฉะนั้นการขายเนื้อจระเข้ในประเทศไทยจะขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า”

สำหรับเนื้อจระเข้ปรุงรส แบรนด์ดีละเชียร์ขายอยู่ในวงการทัวร์ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 70% เฉลี่ยรายได้ต่อปีอยู่ประมาณ 80-100 ล้านบาท ถือว่าตลาดยังแคบ เพราะขายได้กับกลุ่มลูกค้าเฉพาะเท่านั้น นักท่องเที่ยวจีนบางคนไม่ทานเนื้อจระเข้ ลูกค้าคนไทยก็ทานบ้างในวงจำกัด ทำให้ตลาดเนื้อจระเข้ไม่เติบโตขึ้น ช่วงเกิดโควิดโรงงานต้องหยุดการผลิต เพื่อรอให้นักท่องเที่ยวกลับมาอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นในตลาด หลายคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เช่น กลุ่มอาหารจำพวกสแน็ก รวมถึงผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ทุ่ม 70 ล้านผุด โรงงานแปรรูปผลไม้

“เจษฎา” บอกว่า เมื่อเห็นความนิยมเกี่ยวกับตลาดผลไม้ไทย จึงตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ไทยขึ้นอีก 1 โรงงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อประมาณปี 2561 ด้วยงบฯลงทุนกว่า 70 ล้านบาท กำลังการผลิตปกติอยู่ที่ 8 หมื่นซองต่อเดือน เริ่มเปิดดำเนินการมาได้เพียงปีกว่า

ปัจจุบันยังไม่เดินหน้าเต็มที่ เพราะติดโควิด-19 ทั้งกำลังเร่งหาตลาดอยู่ เป็นโรงงานแปรรูปผลไม้ไทย เพื่อจับลูกค้าในตลาดอาหารประเภทสแน็ก ให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าได้มากขึ้น นอกเหนือจากสินค้าเนื้อจระเข้แปรรูป วัตถุดิบรับซื้อมาจากเกษตรกรทั่วประเทศ เช่น ขนุน ทุเรียน ฝรั่ง มะละกอ สตอว์เบอรี่ มะม่วง มะพร้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วอินคา เป็นต้น

“ในตลาดตอนนี้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นสินค้าที่ขายดีสุด ตัวเด่นที่เราต้องการชูคือ ถั่วอินคา เป็นสินค้าตัวใหม่ มีคุณค่าทางโปรตีนมาก แนวคิดในการนำผลไม้ไทยมาแปรรูป จะให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพเป็นหลัก เพราะในยุคปัจจุบันผู้คนต่างให้ความสนใจและใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น อาหารจำพวกสแน็กก็ใช้วิธีอบโดยไม่ใช้น้ำมัน ใช้การอบแบบสุญญากาศแทน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่าง ๆ และคงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ส่วนการปรุงรสเนื้อจระเข้จะนำสมุนไพรมาใส่ค่อนข้างมาก”

เบื้องต้นผลไม้ที่ใช้จะมีปริมาณไม่เท่ากันตามแต่ละชนิด อย่างเม็ดมะม่วงหิมพานต์ใช้ปริมาณ 10-15 ตัน/เดือน การรับซื้อผลไม้ในอนาคตจะมีการวัดมาตรฐาน GAP จากแหล่งที่มาของสินค้าด้วย เพราะนอกจากทำขายในประเทศแล้วยังมีแผนที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ คาดว่าหากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดีขึ้น และกลับมาเป็นปกติจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 ปี

เน้น OEM ตั้งเป้าบุกตลาดจีน

“เจษฎา” บอกว่า ตอนนี้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง ยอดขายหายไปประมาณ 95% ส่วนที่ส่งออกได้เหลือเพียง 10% จากแผนการตลาดที่มองไว้ว่าจะบุกตลาดจีนไม่สามารถเดินทางไปหาลูกค้าได้ ปีนี้ส่งออกได้เพียง 2-3 ตู้คอนเทนเนอร์ เฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 2 ตัน/ตู้

กลยุทธ์ในตอนนี้คือไปกับหน่วยงานภาครัฐที่จัดตามงานต่าง ๆ หรืองานแสดงสินค้าในต่างประเทศ แต่ต้องดูความนิยมของตลาดในประเทศไปด้วย เพราะจะมีความต้องการแตกต่างกัน ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภาพรวมของตลาดสินค้าสแน็กจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะเป็นอาหารว่างไม่ใช่อาหารหลัก ต้องขึ้นอยู่กับผลการตอบรับจากผู้บริโภค และตลาดที่ตกลงกันอยู่ในตอนนี้ยังคงเป็นตลาดเดิมกับลูกค้าเก่าประมาณ 3-4 ราย ถึงจะมีลูกค้ารายใหม่เข้ามา 4-5 รายแต่ยังชะลอตัวอยู่

อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทสแน็กที่ทำจากผลไม้จะไปโฟกัสที่ตลาดจีนก่อน เพื่อหาตัวแทนผู้ขายให้ได้ เพราะจะเน้นไปที่การรับจ้างผลิต (OEM) เป็นหลัก สามารถสร้างแบรนด์ได้หลายแบรนด์ มีโปรดักต์ให้ผู้ค้าเลือกได้หลายตัว รวมถึงการทำ OEM ให้กับลูกค้า โดยมีทีมออกแบบตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร