“สมศักดิ์ จังตระกุล” ส่งซิกเอกชนเร่งเครื่องยนต์ฝ่าวิกฤต

สัมภาษณ์

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจหลายจังหวัดยังทรุดหนักจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มีอีกรายจังหวัดที่เริ่มฟื้นตัวเพราะพึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในจังหวัด และตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมศักดิ์ จังตระกุล” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ แนวโน้มและทิศทางของนโยบายที่จะเดินหน้าฝ่าวิกฤตไปอย่างช้า ๆ แต่ทว่า มั่นคงภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่มีความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นจากทั้งภาครัฐและเอกชน

สมศักดิ์ จังตระกุล
สมศักดิ์ จังตระกุล

ไมซ์ซิตี้-อุตฯค้ำเศรษฐกิจเดิน

สถานการณ์โควิด-19 กระทบจังหวัดขอนแก่นไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นได้เปรียบเมืองอื่นที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยขอนแก่นถือเป็นเมืองไมซ์ ซิตี้ (MICE city) ตัวเลขผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดส่วนใหญ่มาเพื่อประชุมสัมมนาและจัดนิทรรศการ หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายต่าง ๆ ธุรกิจก็เดินหน้าต่อได้ ธุรกิจโรงแรมกว่า 70% อยู่ในภาวะที่ดี

เราปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดมาให้ ทั้งตั้งจุดคัดกรองอย่างเข้มงวด อย่างต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองในช่วงนี้บริเวณ 10 จุดเสี่ยงชายแดนไทย-เมียนมา ขอนแก่นได้ตั้งด่านสกัดและคัดกรอง รวมถึงออกตรวจแรงงานตามโรงงานต่าง ๆ ที่ใช้แรงงานต่างด้าว จุดไหนที่มีรายงานจากพี่น้องประชาชนส่งมา เราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทันทีเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ยังไม่เกิดผลกระทบร้ายแรงอะไร เศรษฐกิจของขอนแก่นยังเดินหน้าต่อไปได้เป็นปกติ ทางจังหวัดเองส่งสัญญาณไปถึงทุกภาคส่วน หากเราตั้งหลักได้ก่อนจังหวัดอื่นอย่ายอมเสียโอกาสให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับลง แม้จะมีภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นยังมีความต้องการแรงงานอยู่ ส่วนภาคการเกษตร การปศุสัตว์ก็มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องไม่มีปัญหา

ชงสมาร์ทซิตี้ ครม.สัญจรอีสาน

โครงการภายในจังหวัดเองได้มีการประชุมปรับแผนต่าง ๆ ในงบประมาณปี 2563 เชื่อมไปถึงปี 2564 มีการทุ่มงบประมาณไปปรับปรุงถนน โลจิสติกส์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการสัญจรที่ดี โดยใช้งบฯลงทุนจากยุทธศาสตร์ของจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ไม่รวมเงินจากกรมทางหลวงประมาณ 300 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงถนนในตัวเมืองเก่า เขตสมาร์ทซิตี้เมืองใหม่ เฟส 1 อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชุมแพ มีโครงการปรับปรุงสนามบินก็จะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2564

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่แต่ละโครงการมีความก้าวหน้า เช่น โครงการท่าเรือบก การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ลงมาดูพื้นที่แล้วและจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดูเหมือนว่าจะมีการเร่งรัดสร้างท่าเรือบกที่อำเภอน้ำพองให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม ซึ่งทางจังหวัดยังไม่รู้ข้อมูลส่วนนี้

โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 342 กิโลเมตร การก่อสร้างเริ่มจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ไปสิ้นสุดที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทางที่อำเภอบ้านไผ่ ขนาด 140 ล้านลิตร ตามแผนจะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2564

ภาครัฐและเอกชนในจังหวัดได้ประชุมระดมมความคิดเห็นกันว่า หากคณะรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดในภาคอีสาน เราได้มีการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ให้พิจารณา โดยโครงการต่าง ๆ ที่จะนำเสนอต้องสอดรับกับแผนพัฒนาเมืองของเรา ตามเป้าหมายที่จะก้าวสู่เมืองสมาร์ทซิตี้ในอนาคต

นอกจากนี้ มีโครงการต่าง ๆ ที่รองบประมาณมาพัฒนา โดยเฉพาะโครงการที่ต้องใช้งบประมาณต่อเนื่องระยะเวลา 4 ปี เช่น การพัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อน เพื่อดึงน้ำจากบึงหนองโคตรบ้านเป็ดไปเก็บไว้ เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชนเมืองที่มีการขยายตัวออกไป ซึ่งโครงการนี้ใช้งบประมาณจากกรมชลประทาน งบฯยุทธศาสตร์จังหวัด และงบฯของกรมโยธาธิการและผังเมือง

โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมือง บริเวณอำเภอชุมแพ ซึ่งต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงโครงการของกลุ่มจังหวัดที่จะมีการขอสร้างสะพานข้ามปลายเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งจะลดเวลาการเดินทางจากภูเวียงไปจังหวัดหนองบัวลำภูได้ถึง 40 นาที เป็นต้น

ปี’64 พ้นวิกฤตแล้ง

สำหรับสถานการณ์น้ำของจังหวัดขอนแก่นตอนนี้ถือว่าดีมาก แม้พายุหลายลูกจะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดโดยตรง แต่ทำให้ฝนไปตกยังต้นน้ำของเรา เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำรวมถึงแก้มลิงของเราด้วย โดยน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ทางทิศตะวันตกในจังหวัดชัยภูมิค่อนข้างมีอิทธิพลต่อขอนแก่น ตอนนี้มีน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 92% เกือบเต็มความจุ และน้ำได้ไหลเข้ามาเขื่อนอุบลรัตน์สู่อ่างเก็บน้ำในจังหวัดขอนแก่นแล้ว 14 อ่างเก็บน้ำที่เป็นแก้มลิงจนเต็ม

ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดขอนแก่น มีน้ำที่ใช้การได้เกินจาก dead storage แล้ว 600 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำในปี 2562-2563 ที่เรามีน้ำรวมทั้งระบบเพื่อใช้ในฤดูแล้งเพียงแค่ 647 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น จากนี้ไปถึงปี 2564 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและน่าพึงพอใจ เฉพาะจังหวัดขอนแก่นเรามั่นใจว่าจะสามารถมีน้ำใช้ไปได้ถึงฤดูแล้งปีหน้า 100%

ขณะเดียวกัน เราติดปัญหาอยู่ว่าจังหวัดตอนล่างที่อยู่ติดกับจังหวัดขอนแก่นปีนี้มีปริมาณน้ำเพียง 800 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจจำเป็นต้องส่งน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงไปช่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด ทางจังหวัดคงต้องให้สำนักงานชลประทานที่ 6 ประชุมกันอีกทีว่าจะต้องผันน้ำไปให้จังหวัดท้ายน้ำที่ติดกับจังหวัดขอนแก่นในช่วงฤดูแล้งจนถึงฤดูฝนระหว่าง 1 พฤศจิกายน-31 พฤษภาคม 2564 หรือไม่ และต้องคิดคำนวณเรื่องอัตราการระเหยและรั่วซึมด้วย เพราะประมาณการปีที่ผ่านมามากถึง 270 ลูกบากศ์เมตร

ดูในภาพรวมของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่งที่กระจายอยู่ใน 26 อำเภอของขอนแก่น รวมความจุ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร วันนี้มีรวมแล้ว 99 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น ในปีนี้จนถึงปี 2564 น้ำในจังหวัดขอนแก่นค่อนข้างสมบูรณ์