เศรษฐกิจภาคเหนือ Q3 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อุตฯ แปรรูปอาหารรุ่ง

ภาคเหนือ-เศรษฐกิจ
Photo : Freepik (ภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

เศรษฐกิจภาคเหนือ Q3 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อุตฯ แปรรูปอาหารรุ่งได้ตลาดจีนคู่ค้ารายใหญ่

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า เมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2563 นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3/2563 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ยังหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยภาคการส่งออกหดตัวน้อยลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนก็หดตัวน้อยลงจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐพบว่าขยายตัวจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ แต่ประเด็นที่น่าห่วงใยก็คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

สอดรับกับเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 3 ที่มีการปรับตัวดีขึ้นหลายภาคธุรกิจ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะเริ่มมีความเคลื่อนไหวของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แต่ในภาพรวมก็ถือว่ายังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับภาคเกษตรพบว่ารายได้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวจากราคาขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวแต่ผลผลิตลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง ซึ่งราคาสินค้าเกษตร ขยายตัว +8.4% โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลง และปัญหาด้านการขนส่งของคู่แข่งในต่างประเทศช่วง covid-19 ส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวในต่างประเทศหันมาซื้อข้าวไทยแทน ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นราว 4.5% แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง -3.6% จากภัยแล้ง

นายธาริฑธิ์ กล่าวต่อไปว่า ดัชนีชี้วัดอีกตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3 คือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัวในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรมีการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง โดยมีตลาดหลักและเป็นตลาดใหญ่คือประเทศจีน ที่มีความความต้องการสินค้ากลุ่มผักผลไม้แปรรูป ทั้งนี้ ประเทศจีนมีสัดส่วนตลาดถึง 23% เป็นคู่ค้าสำคัญในการส่ออกสินค้ากลุ่มนี้ของภาคเหนือ

แปรรูปอาหาร ภาคเหนือ

ด้านรายจ่ายของภาครัฐก็พบว่า ขยายตัวต่อเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายในหมวดลงทุนการก่อสร้างถนนและระบบชลประทาน โดยรวมอัตราการเบิกจ่าย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 87.7% ต่ำกว่า 91.8% ของระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ประเด็นที่น่าห่วงใยคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้หดตัวน้อยลงจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ก็ถือว่ายังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

แต่แนวโน้มไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคเหนือ คาดว่าการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลได้เพิ่มวันหยุดยาวในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ก็จะเป็นแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้

นายธาริฑธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป ต้องจับตาหลายประเด็น อาทิ การระบาดของ COVID-19 ในบางประเทศหรือกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่น และนำไปสู่การปิดเมืองที่เข้มงวดเช่นที่ผ่านมา

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินและสินเชื่อของภาครัฐซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป และปัจจัยเรื่องน้ำ

แม้ปริมาณน้ำฝนมีทิศทางปรับดีขึ้น จากอิทธิพลมรสุมและพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าใกล้ไทย แต่ยังมีความเสี่ยงจากน้ำในเขื่อนหลักที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรในระยะต่อไป โดยเฉพาะปัจจัยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังอยู่ในระดับสูง อยู่ที่ 84% ต่อ GDP โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค (ผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง) ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน

เนื่องจากรายได้ที่ฟื้นตัวส่วนหนึ่งต้องนำไปชำระหนี้ โดยสัดส่วนสินเชื่อทั้งประเทศเป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 35% หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค 33% หนี้ยานยนต์ 20% และหนี้เพื่อธุรกิจ 12%