กาแฟลาว หมื่นตัน ลอบสวมสิทธิเข้าไทย ไร่เหนือ-ใต้ สต๊อกบวม

กาแฟ

ชาวสวนกาแฟเหนือ-ใต้บุกพบผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ร้องหวั่นถูกกาแฟลาวกว่า 10,000 ตัน ราคาขายเพียง 10 บาท/กก. ลักลอบสวมสิทธิเข้ามาขายตีตลาด ทำผลผลิตกาแฟไทยที่เพิ่งเริ่มเข้าฤดูเก็บเกี่ยวปี’63/64 เหลือค้างสต๊อกอื้อ ด้านกระทรวงเกษตรฯเร่งประชุมแก้ปัญหา “กาแฟสีเทา” หลังโควิด-19 ทำร้านกาแฟสดหายจากระบบ ยอดวูบ 100% พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ภูเก็ต สมุย

แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนกาแฟเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ชาวสวนกาแฟได้รวมตัวกันเข้าพบผู้บริหาระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือเรื่องผลกระทบจากการลักลอบนำเข้ากาแฟจาก สปป.ลาว หรือเรียกกันในวงการว่า “กาแฟนอกระบบ หรือกาแฟสีเทา” ประมาณปีละกว่า 10,000 ตัน หรือ 100,000 กก. มาทางรอยต่อจังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย โดยเข้ามาในรูปของกาแฟสารดิบ

พร้อมคั่วแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟต่าง ๆ ที่สำคัญกาแฟเหล่านี้มีราคาถูกกว่ากาแฟของไทยประมาณกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม และมีการสวมสิทธิเป็นกาแฟไทย ส่งไปจำหน่ายกระจายให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้กลุ่มพ่อค้า ผู้ประกอบการกาแฟสามารถรับซื้อได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ ส่งผลกระทบให้ชาวสวน และสหกรณ์กาแฟในภาคเหนือไม่สามารถจำหน่ายกาแฟที่ปลูกได้ เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก รวมถึงไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ ไร่กาแฟที่ได้รับผลกระทบหนักจะอยู่แถบ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่มีต่อเนื่องมาทุกปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี เกรงว่ายอดความต้องการจะลดลง โดยที่ผ่านมาเกษตรกรจะรับทราบข้อมูลจากคู่ค้ากาแฟ ที่มีคำสั่งซื้อเป็นประจำ แต่มาในระยะหลัง ๆ เมื่อประสานสอบถามไปยังคู่ค้าว่าจะรับซื้อจำนวนเท่าใด กลับได้รับคำตอบว่ายังมีกาแฟอยู่ในสต๊อก ทั้งที่เคยรับซื้อมีตั้งแต่ขนาด 5-10 ตัน และรายใหญ่ ขนาด 50-100 ตัน เป็นต้น

“ที่สำคัญ กาแฟจาก สปป.ลาวที่ถูกนำเข้ามา วิธีการจะสวมเป็นกาแฟไทยอย่างถูกต้อง ต้องไปหาไร่กาแฟที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้มาสวมว่าเป็นผลผลิตกาแฟไทย อย่างนำเข้าปีละกว่า 10,000 ตัน หรือ 100,000 กก./ปี จะต้องใช้พื้นที่ปลูกกาแฟถึงประมาณ 500 ไร่มาสวม โดยคำนวณจากพื้นที่ปลูกกาแฟ 1 ไร่ จะได้ปริมาณผลผลิตประมาณ 200 กก.ต่อไร่ ซึ่งปัจจุบันจะหาพื้นที่ปลูกกาแฟจำนวนมากไม่ได้ง่ายนัก

เพราะปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น แต่มีเกษตรกรหลายคนเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น แต่ไม่ได้ไปเปลี่ยนการขึ้นทะเบียน เช่น เดิมขึ้นทะเบียนปลูกกาแฟไว้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปปลูกทุเรียน แต่ไม่ได้ไปแจ้งเปลี่ยน ทำให้พื้นที่นั้นยังถือเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟเช่นเดิม ผู้นำเข้าจะหาพื้นที่ลักษณะนี้สวมเข้าไป ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มาซื้อผลผลิตถือว่าซื้อผลผลิตกาแฟไทยอย่างถูกต้อง” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

“กาแฟจาก สปป.ลาวที่เข้าสวมเป็นกาแฟไทยมีต้นทุนถูกมาก เพราะต้นทุนค่าแรงของ สปป.ลาวถูกกว่าไทย ดังนั้น หากนำเข้ามาปีละ 100,000 กก. ราคา 10 บาทต่อ กก. หากมาสวมเป็นกาแฟไทยขายได้ราคา 60-65 บาท/กก. คิดเป็นเงินส่วนต่างไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท สำหรับกาแฟที่นำมาสวมทั้งโรบัสต้า และอราบิก้าน่าจะใกล้เคียงกัน”

สำหรับกาแฟไทยตลาดยังมีความต้องการปริมาณสูง โดยผลผลิตภายในประเทศมีประมาณ 20,000-30,000 ตัน/ปี ขณะที่ความต้องการในการบริโภคประมาณกว่า 80,000 ตัน/ปี จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศปีละ 50,000-60,000 ตัน โดยคนไทยบริโภคกาแฟ 2 กก./คน/ปี หรือปริมาณ 300 ถ้วย/คน/ปี ประเทศญี่ปุ่นบริโภคกาแฟประมาณ 6 กก./คน/ปี ส่วนกาแฟทางภาคใต้ปลูกมากที่ จ.ชุมพร และระนอง ส่วนจังหวัดอื่นไม่มาก เช่น พัทลุง ตรัง สตูล กระบี่นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

นายนัด ดวงใส อนุกรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะกาแฟในปี 2563 โดยในส่วนของกาแฟสดค่อนข้างหดตัวมาก จากการที่ร้านกาแฟสด

โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่เช่น จ.ภูเก็ต สมุย จ.สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่ จ.สงขลา ต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหยุดการเดินทางท่องเที่ยว สำหรับในกลุ่มของตนมียอดคำสั่งซื้อกาแฟสดหดหายไป 100% แต่สำหรับกาแฟทรีอินวันนั้นยอดขายยังไปได้ไม่ถึงกับสูงมากนัก

ทั้งนี้ ราคากาแฟในปี 2563 กับปี 2562 อยู่ที่ใกล้เคียงกัน 67 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาสูงสุดมาระยะหนึ่ง สำหรับกาแฟโรบัสต้า และในส่วนกาแฟอราบิก้า ราคากว่า 90 บาท/กก. ขณะที่รัฐบาลประกันรายได้กาแฟอยู่ที่ 60 บาท/กก.

นายนัดกล่าวอีกว่า ในปี 2562/2563 ผลผลิตกาแฟโรบัสต้าทาง จ.ชุมพร จ.ระนอง ซึ่งเป็นจังหวัดผู้ผลิตรายใหญ่ ผลผลิตปริมาณลดลงเหลือประมาณ 11,000 ตัน ส่วนผลผลิตกาแฟอราบิก้าทางภาคเหนือ มีผลผลิตประมาณกว่า 9,000 ตัน โดยภาพรวมทั้งโรบัสต้า อราบิก้า ประมาณกว่า 20,000 ตัน ทิศทางกาแฟในปี 2563/2564 คาดว่าผลผลิตจะใกล้เคียงกับปี 2562/2563 ที่กว่า 20,000 ตันเช่นกัน

โดยขณะนี้ทางภาคใต้เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว และจะไปสิ้นสุดประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คาบเกี่ยวเดือนมีนาคม 2564 ส่วนอราบิก้าจะเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนธันวาคม 2563 ไปสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564

“ทางด้านราคาในปี 2563/2564 ราคาน่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยโรบัสต้าเริ่มสตาร์ตที่ 63-64 บาท/กก. ส่วนอราบิก้าราคากว่า 90 บาท/กก. กาแฟโรบัสต้า พื้นที่ปลูกรายใหญ่ทางภาคใต้ที่ จ.ชุมพร จ.ระนอง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ปลูกเช่นกัน ส่วนหนึ่งให้ผลผลิตแล้วและส่วนหนึ่งยังไม่ให้ผลผลิต ส่วนอราบิก้าปลูกมากทางภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ พื้นที่ทางภาคเหนือมีแนวโน้มจะขยายการปลูกอราบิก้าให้เติบโต โดยได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ ส่วนทางภาคใต้มีบางพื้นที่ที่ทางการให้การสนับสนุน เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกนั้นพื้นที่อื่นเกษตรกรลงทุนปลูกกันเอง กาแฟตลาดยังมีความต้องการสูง สามารถปลูกได้อีก

เมื่อหลายสิบปีก่อนภาคใต้สามารถผลิตกาแฟได้ถึง 40,000-50,000 ตัน/ปีปลูกมากตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาราคากาแฟลดลงอย่างมาก เกษตรกรจึงเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น เช่น ทุเรียน ทำให้ผลผลิตค่อย ๆ ลดลงเหลือประมาณ 30,000 ตัน และขณะนี้เหลือเพียง 10,000 ตัน ส่วนการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟในภาคใต้ มีที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง เป็นต้น โดยโค่นยางไปปลูกกาแฟส่วนหนึ่ง