6 องค์กรอัดงบหนุน LibongModel เกาะลิบง

บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง ผุด Libong Model ดึง 6 หน่วยงานรัฐ “NIA-depa-พอช.-พลังงาน จ.ตรัง-สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มอ.-กฟก.” ขับเคลื่อนแผนแม่บทชุมชน “เกาะลิบง”

นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ ประธานสมาพันธ์บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการ Libong Model ที่เกิดจากการทำแผนแม่บทชุมชนตำบลเกาะลิบงเมื่อปี 2560 ได้รับการต่อยอดจากหลายองค์กร ทั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) ให้เงินอุดหนุน 1,130,000 บาท ทำโครงการนวัตกรรมระบบปิดการเพาะพันธุ์ปลิงทะเลขาวบนบกแบบครบวงจร,

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa อนุมัติให้ 240,000 บาท ทำโครงการอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ให้กับวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงในการใช้สำหรับเฝ้าระวังทรัพยากรชายฝั่งทะเลและเพื่อการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนยากจน (บ้านมั่นคง) 49 ล้านบาท ให้กับ 6 หมู่บ้านตำบลเกาะลิบง, จังหวัดตรังโดยสำนักงานพลังงานจังหวัดตรังอนุมัติ 1,190,000 บาท,สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่จัดสรรงบประมาณในการวิจัยอาหารทะเลและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปอาหารทะเลให้กับวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้าน

รวมถึงสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสำหรับโซนทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามันจึงได้กำหนด Libong Model เป็นโครงการนำร่องต้นแบบความสำเร็จหมู่บ้านปลอดหนี้ โดยส่งเสริมอาชีพประมงชายฝั่งในรูปแบบ “ฟาร์มทะเลชุมชน” โดยนำร่อง Libong Model ต้นแบบความสำเร็จหมู่บ้านปลอดหนี้แห่งแรกของประเทศไทย

ในการนี้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนำเสนอโครงการ “ฟาร์มทะเลชุมชน” งบประมาณ 8,700,000 บาทหากโครงการฟาร์มทะเลชุมชนที่เกาะลิบงสำเร็จจะขยายผลไปยังจังหวัดฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลตามนโยบายของนายจุรินทร์ ที่กำหนดให้กองทุนผลิต พาณิชย์ขาย

นายลือพงษ์กล่าวต่อไปว่า Libong Model ถือเป็นโครงการต้นแบบความสำเร็จการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นำมาขยายผล โดยบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ในการประชุมสมาพันธ์ฯสัญจรของสมาพันธ์บริษัทประชารัฐฯ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่จังหวัดปัตตานี ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการประกาศ “ปัตตานี” agenda 3 agenda

อันได้แก่ agenda ที่ 1 ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษชุมชนต้นแบบความสำเร็จการพัฒนาที่ยั่งยืน (1ตำบล 1 จังหวัด) agenda ที่ 2 กำหนดภารกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของภาคใต้ 2 ภารกิจ คือ ในด้านโซนทะเลโฟกัสไปที่ “ฟาร์มทะเลชุมชน” (community sea farming)โซนบนบกโฟกัสไปที่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ “โกโก้”

และ agenda ที่ 3 กำหนดตัวชี้วัด SE 3 ตัวชี้วัด คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต การยกระดับสิ่งแวดล้อม และการสร้างกำไรให้กับบริษัทประชารัฐจังหวัด ซึ่งนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรของชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดอยู่ที่การประสานพลังเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นเอกภาพ ภายใต้การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการและการบริหารจัดการแบบองค์รวม

นายลือพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทประชารัฐรักสามัคคีได้มองเห็นศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของชุมชนของพื้นที่ตำบลเกาะลิบง จึงได้พัฒนาสู่เมืองคุณภาพภายใต้ Libong Model ขับเคลื่อนด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกประชารัฐ 5 ภาคส่วน และกระบวนการพัฒนา 5 กระบวนการตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการแบบองค์รวม มองทุกมิติ ทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ 3 น้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ตลอดจนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ภารกิจ 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานด้านการเกษตร กลุ่มงานด้านการแปรรูป และกลุ่งานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีเป้าหมายสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข

“สำหรับพื้นที่ตำบลเกาะลิบงภารกิจด้านการเกษตร (สาขาประมง) บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง โฟกัสไปที่การส่งเสริมให้เกษตรกรประมงพื้นบ้านเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล ในด้านการแปรรูปร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยในพื้นที่ยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ส่วนในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนวางตำแหน่งจุดขาย fresh seafood island from sea to table และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีทะเลโปรแกรมทัวร์ CSR”