เกษตรกรเลี้ยง “ไก่บ้าน-โคขุน” สุรินทร์ ดันใช้ประโยชน์ FTA ส่งขายกัมพูชา

การทำเกษตรและปศุสัตว์ถือเป็นพื้นฐานอาชีพของสังคมไทยที่สร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับผู้คนมาอย่างยาวนานทุกยุคทุกสมัยแต่ปัจจุบันการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น เกษตรกรต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อแข่งขันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

แต่การพัฒนาดังกล่าวยังติดปัญหาอยู่มาก ยกตัวอย่างพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในจังหวัดอีสานใต้ ซึ่งมีชายแดนติดประเทศกัมพูชา โดยมี “ด่านช่องจอม” เป็นประตูการค้าสำคัญ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อสำรวจศักยภาพสินค้าเกษตร สร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) พร้อมเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรไทย รองรับการค้าเสรี” กับตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสมัยใหม่ปราสาท ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรในพื้นที่ไปสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ข้าว ไก่เนื้อ โคเนื้อ สุกรมีชีวิต อินทผาลัม ผัก และผลไม้ประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

“อรมน” บอกว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่น่าสนใจมีสินค้าส่งออกหลากหลาย อาทิ ไก่พื้นเมือง สุกร โคเนื้อ และยังเป็นจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์

โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่น่าจะตอบสนองความต้องการของตลาดและเทรนด์คนรักสุขภาพในอนาคตได้ดีมีตลาดรองรับ สินค้าเกษตรหลายตัวเกษตรกรสามารถส่งขายที่ Tops Supermarket ของจังหวัดในโครงการ “ตลาดจริงใจ” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในหน่วยงานหน้าด่านไปเปิดตลาดสินค้าของไทย

โดยเห็นว่าเกษตรกรไทยควรใช้ FTA หรือการค้าเสรีที่ประเทศไทยมีให้เป็นประโยชน์ เพราะผู้บริโภคจากหลายประเทศให้การยอมรับ และจังหวัดสุรินทร์มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมถึงสินค้าปศุสัตว์ในพื้นที่ สามารถหมุนเวียนผลิตสินค้าขายได้ตลอดทั้งปี

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อหารือกับตัวแทนเกษตรกรถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรของไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ เราเน้นเรื่องการเพิ่มโอกาสในการส่งออกจากเอฟทีเอด้วย

เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-กัมพูชา ได้ลดและยกเลิกภาษีให้กับสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากไทยแล้ว ทำให้แม้จะเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 การส่งออกสินค้าเกษตรยังเติบโตได้ดี รวมมูลค่า 354.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 270 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562”

ในการเสวนามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ไก่พื้นเมืองเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคกัมพูชา เกษตรกรสามารถทำราคาได้ดีแต่กัมพูชายังเก็บภาษีที่ 5% ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันเป็นลำดับต่อไปเพื่อขยายตลาดหรือหาตลาดเพิ่มขึ้น และที่สำคัญกัมพูชาเป็สมาชิกความตกลงอาเซียนการค้าเสรีอาเซียน เช่นเดียวกัน

ฉะนั้นเบื้องต้นสินค้าเกือบ 99% จะไม่มีภาษีศุลกากรระหว่างกัน ข้อมูลดังกล่าวจะนำไปเจรจาในเวทีอาเซียนเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคทางการค้า รวมถึงพูดคุยดูความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“สุวรรณี โชติสิรินันท์” ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง จ.สุรินทร์ บอกว่า ยังมีไก่เนื้อแปรรูปพร้อมทานที่ได้รับความนิยมในตลาดของจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง แต่เป็นลักษณะไก่ผิวเหลืองหรือเรียกว่าไก่บ้าน

โดยกรมปศุสัตว์ได้คิดค้นสายพันธุ์ให้เป็นไก่บ้านที่เนื้อแน่นใช้เวลาเลี้ยงสั้นให้กับเกษตรกรแล้ว และแทบทุกครัวเรือนในพื้นที่ถือว่ามีพื้นฐานการเลี้ยงไก่อยู่แล้ว ผลผลิตสามารถส่งขายผ่านไปด่านช่องจอมได้

แต่น่าเสียดายว่าเกษตรกรที่เลี้ยงส่งออกไก่บ้านจำนวนมากเข้าไปยังตลาดกัมพูชากลับเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงจากจังหวัดอื่นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ เพราะเกษตรกรในจังหวัดยังไม่สามารถผลิตอาหารได้เอง หรือลดต้นทุนลงได้ โดยการเลี้ยงไก่ด้วยอาหารสำเร็จรูปทำให้มีต้นทุนสูง ทั้งที่ในจังหวัดมีวัตถุดิบในการผลิตอาหารให้ไก่ค่อนข้างพร้อมทั้งหญ้าหวาน และปลายข้าวอินทรีย์

ด้าน “วิเชียร จินดาศรี” ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนกาบเชิงเพื่อการส่งออก จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตลาดวัวหรือตลาดโคในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ระดับ คุณภาพเนื้อจะต่างกัน ตลาดล่างจะเป็นเนื้อวัวเขียงมีสัญลักษณ์เป็นขาวัวห้อยคุณภาพอยู่ได้ 3 วัน

ถัดมาเป็นตลาดล่างแพ็กขายใน Supermarket และตลาดบนจะเป็นตลาดเนื้อมันแทรก ในจังหวัดสุรินทร์พื้นเพเดิมคือเลี้ยงวัวเพื่อป้อนตลาดล่าง ซึ่งเป็นฐานตลาดใหญ่ที่สำคัญกว่า 90% แต่ไม่เพียงพอต่อตลาดบน ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนกาบเชิงได้รับอานิสงส์จาก FTA และได้ทุนจากกระทรวงพาณิชย์แล้ว

“กลุ่มเกษตรกรเรามีวัวอยู่แล้วตอนนี้ แค่ทำหน้าที่นำเนื้อวัวนั้นออกไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างกัมพูชาให้ได้ แต่ปัญหาของเราคือติดเรื่องโควิด-19 อยู่ เรากำลังจะนำคนเข้าไปยังกัมพูชาเพื่อหาตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายที่บริโภคเนื้อ กำลังพยายามทำเนื้อวัวเพื่อการส่งออกโดยขายแยกชิ้นส่วน ใช้โรงเชือดอยู่ในตัวจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะสามารถสร้างงานให้คนในชุมชนได้มากขึ้นกว่าขายเป็นตัว”

นอกจากนี้ นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตรพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ระบุว่า สินค้าเกษตรหลักของจังหวัดสุรินทร์ คือ ข้าว ถัดมาเป็นมันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และที่มีปัญหาประจำแทบทุกปีจะเป็นข้าว ซึ่งปลูกมากในจังหวัดกว่า 3 ล้านไร่ โดยปัจจุบันราคาไม่ค่อยดีนัก ก็อาศัยโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ส่วนหนึ่ง

สาเหตุคือการแข่งขันในตลาดราคาค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะคู่แข่งหลักอย่างเวียดนามที่มีการผลิตต่อไร่สูงและต้นทุนต่ำกว่าไทย เมื่อแข่งในตลาดโลกจะได้เปรียบเกษตรกรไทย เบื้องต้นประเด็นนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยดูแลและทางจังหวัดต้องดำเนินการตามมาตรการต่อไป