การฟื้นตัวของประเทศอาเซียนปี 2021 ‘3 ปัจจัยบวก’ ของเศรษฐกิจโลก

ส่งออก
แฟ้มภาพ
ระดมสมอง
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

1.คาดว่าวัคซีนอย่างน้อย 2 บริษัท คือ บริษัท Pfizer และ Moderna จะเริ่มผลิตและใช้ได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า และจะสามารถกระจายกว้างขวางไปประเทศต่าง ๆ ในปลายปี 2021 และทั่วถึงมากขึ้นในปี 2022

2.การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ จีน

3.นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัจจัยบวกดังกล่าวน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าของประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งอาเซียน โดยแบงก์ออฟอเมริกาคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศ จะขยายตัว 5.8% ในปี 2021 หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 3.7% ในปี 2020 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ

1.การฟื้นตัวน่าจะมีระดับแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยที่สุด โดยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนและเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในปี 2020 (คาดว่าจะโต 2.4%) และจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2021

โดยจะขยายตัวถึง 9.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่ดี การส่งออกฟื้นตัว และที่สำคัญคือ ได้ประโยชน์จากการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ เพราะเวียดนามกลายเป็นจุดหมายที่บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากจีนและประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

มาเลเซีย และสิงคโปร์คาดว่าการฟื้นตัวน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง ขยายตัว 8.2% และ 6.4% ตามลำดับ (เทียบกับปี 2020 คาดว่า -5.1% และ -5.7%) โดยฟื้นตัวจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และได้ประโยชน์จากภาคส่งออก สำหรับอินโดนีเซียนั้นการฟื้นตัวน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง

ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรงที่สุด คือ ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งกรณีของฟิลิปปินส์นั้นเป็นผลจากการล็อกดาวน์ที่ยาวนาน ทำให้เศรษฐกิจภายในหดตัวสูง ประเทศไทยนั้นเป็นผลจากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น

2.โควิดทำให้ศักยภาพการขยายตัวของอาเซียนลดลงจาก 5% ต่อปี เป็น 4% ต่อปีใน 10 ปีข้างหน้า (2020-2030) จากการประเมินของธนาคารโลก ทั้งนี้ ประเทศที่แย่ลง คือ อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของการลงทุนต่ำ และความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกมีแนวโน้มอ่อนแอลง ขณะที่เวียดนาม และมาเลเซียได้ประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิต

3.แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวในปี 2021 แต่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิดจะฟื้นตัวช้ากว่า ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค ตลาดแรงงาน และการลงทุน เนื่องจากความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ในช่วงหน้าหนาว ทำให้คาดว่าจะยังไม่สามารถเปิดประเทศจนกว่าจะครึ่งหลังของปี 2021

4.ผลจากโควิดทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และการใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้น โดยประเมินว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่มีถึง 40 ล้านรายในปี 2020 (เพิ่มจาก 25 ล้านต่อปี ในช่วงปี 2016-2019) และคาดว่าการใช้จ่ายออนไลน์ในอาเซียนจะขยายตัวได้ 24% ต่อปีใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย (คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายมากกว่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025)

5.นโยบายภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2021 โดยจะเห็นว่ารัฐบาลในเกือบทุกประเทศยังอัดฉีดเงินผ่านการขาดดุลการคลัง แม้ว่าจะมีการขาดดุลต่อจีดีพีน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2020 แต่อยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิด ส่วนนโยบายการเงินคาดว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนจะคงระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดรอบใหม่จะมากแค่ไหน การพัฒนาวัคซีนจะเป็นไปตามคาดหรือไม่ และแรงอัดฉีดทางการคลังและการเงินของสหรัฐจะมีความต่อเนื่องหรือไม่