พิษโควิดทำไก่บ้านไทยส่งออกลดฮวบ 90%

ยอดความต้องการไก่บ้านไทยส่งออกตลาดกัมพูชา สปป.ลาว พุ่งไม่พอขาย ประธานกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์จังหวัดสุรินทร์ระบุ ช่วงกินไก่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนพฤษภาคม การส่งออกไก่บ้านผ่านด่านช่องจอมเฉลี่ย 10 ตัน/วัน มูลค่ากว่า 100 ล้าน/ปี ประเมินภาพรวมจากทั่วประเทศผ่านทุกช่องทางด่านชายแดนไม่น่าจะต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี ชี้โควิด-19 ส่งผลกระทบเกษตรกรลดการเลี้ยงทำผลผลิตหายกว่า 70-90% หวังรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นายเขมกร เที่ยงนิล ประธานกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์ ผู้ส่งออกไก่บ้านไปกัมพูชา จ.สุรินทร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไก่บ้านจากประเทศไทยถือว่าได้รับความนิยมจากตลาดกัมพูชาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมของทุกปี

หรือช่วงที่กัมพูชาเรียกกันว่า “ช่วงกินไก่” ทำให้การส่งออกไก่บ้านผ่านด่านช่องจอม จ.สุรินทร์ มียอดการส่งออกเฉลี่ย 10-20 ตัน/วัน แต่ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะเกษตรกรลดการเลี้ยงไก่บ้านลง เนื่องจากเกรงว่าจะขายไม่ออกในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไก่บ้านลดลงกว่า 70-90% เดิมทีเคยรับไก่จากเกษตรกรวันละ 10,000 ตัว ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 400-1,000 ตัว หรือลดลงกว่า 90%

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดการส่งออกไก่บ้านไทยทั่วประเทศผ่านด่านศุลกากร ด่านช่องจอมถือเป็นหมายเลข 1 สัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 70% หรือประมาณ 800-1,000 ล้านบาท/ปี จากภาพการส่งออกไก่บ้านประเมินเบื้องต้นผ่านทุกช่องทาง ทั้งทางธรรมชาติและผ่านด่านชายแดน คาดว่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี

ขณะเวียดนามที่เลี้ยงไก่ของตัวเองก็เริ่มเข้ามาตีตลาดทางฝั่งชายแดนกัมพูชากับ สปป.ลาว มากขึ้น ราคาอยู่ที่ 60-70 บาท/กิโลกรัม ต่ำกว่าราคาไก่บ้านไทยเพราะความนิยมของไก่บ้านจากไทยยังถือว่าดีกว่าไก่เวียดนาม

“ผมได้เข้ามาทำธุรกิจส่งออกไก่บ้านได้เพียง 2 ปี เห็นภาพพ่อค้ารับซื้ออยู่ทั่วประเทศและผู้ส่งออกอยู่หลายรายมาก จากการเทียบปริมาณการส่งออกไก่บ้านให้กับผู้บริโภคในประเทศอาเซียน พบว่ากัมพูชาเป็นอันดับหนึ่งในการนำเข้าไก่บ้านไทย

รองลงมาคือ สปป.ลาว แต่ราคาขายไก่บ้านใน สปป.ลาวจะต่ำกว่ากัมพูชาประมาณ 10 บาท/กิโลกรัม ชาวกัมพูชาชื่นชอบไก่บ้านของไทย เป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของตลาดไก่บ้านไทย เพราะเชื่อว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ

แต่ต้องเป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตเองโดยธรรมชาติ และไม่กักขังอยู่ในที่แคบหรือเลี้ยงด้วยหัวอาหาร หากเลี้ยงโดยใช้หัวอาหารเมื่อกินแล้วจะทำให้เจ็บป่วย ฉะนั้น ความต้องการบริโภคไก่บ้านไทยที่เลี้ยงแบบธรรมชาติจึงสูง และคาดว่าคงมีความต้องการในตลาดต่อไปในอนาคต ส่วนคนไทยกลับไม่นิยมกินไก่บ้านเท่าไหร่นัก”

สำหรับกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์เป็นกลุ่มไก่บ้านที่รับซื้อไก่บ้านมาจากเกษตรกรทั่วไป ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ใหญ่นัก ปัจจุบันมีสาขารับซื้ออยู่ที่สามแยกไฟแดงช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และกำลังจะขยายสาขาที่ 2 ซึ่งได้เตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้วที่อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เกษตรกรที่เลี้ยงไก่บ้านเพื่อส่งขายบางรายอาจไม่ได้เป็นผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกของกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์

เพราะสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าคนกลางหรือผู้รับซื้อไก่จากเกษตรกรผู้เลี้ยงหลายจังหวัด ดังนั้น จุดประสงค์ของกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์จึงเป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตลาดรองรับให้กับสมาชิกที่ลงทะเบียนถูกต้องกว่า 1,000 คน แต่ก็ยังมีสมาชิกที่ไม่ลงทะเบียนอีกกว่า 3,000 คนทั่วประเทศร่วมด้วย

นายเขมกรกล่าวว่า เกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงไก่บ้านเพื่อขายให้กับกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์ ควรศึกษาเงื่อนไขและขั้นตอนในการเลี้ยงดูไก่จากกลุ่มให้เข้าใจเสียก่อน เพราะไก่บ้านที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดจะส่งผลให้ขายไม่ออก เกษตรกรจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบเสียเอง หากเลี้ยงดูถูกวิธี ทางกลุ่มไก่บ้านโกอินเตอร์ยินดีรับซื้อไม่อั้น ในราคาขั้นต่ำ 95-120 บาท/กิโลกรัม ตามช่วงเวลา ซึ่งจะส่งออกไปขายให้พ่อค้าจากกัมพูชาเฉลี่ย 1 ตัน/วัน

อย่างไรก็ตาม ในการเลี้ยงไก่บ้านต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 เดือน กว่าไก่จะอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสมในการส่งออก ดังนั้น การฟื้นตัวของธุรกิจไก่บ้านหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือน กว่าระบบจะกลับมาเป็นปกติ แต่หากรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ก็จะส่งผลให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงไก่บ้านขายได้เหมือนเดิม