ดร.สาโรจน์ วสุวานิช นำธงยุทธศาสตร์ 8 จังหวัด

อีอีซีEEC
แฟ้มภาพ

ภาคตะวันออก 8 จังหวัดถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ที่เพิ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงนโยบายและทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 8 จังหวัด หลังวิกฤตโควิด-19

นโยบายการทำงาน

การดำเนินนโยบายและการทำงานต้องให้สอดรับกับนโยบายของ นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.วางไว้ ปีก่อนโรคโควิด-19 ยังไม่เกิด ส.อ.ท.มีนโยบายindustry transformation 5 ประการ คือ 1.สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายภาคอุตสาหกรรม 2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3.ยกระดับ SMEs และส่งเสริม made in Thailand 4.เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และ 5.ยกทักษะ ความรู้ และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ เน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม

แต่พอมายุคนี้มีโรคโควิด-19 จะมาทรานส์ฟอร์มสิ่งต่าง ๆ ไม่ไหวแล้ว ทุกคนหมดแรง เลยเปลี่ยนนโยบายใหม่มาเป็น service organization 6 ประการ ได้แก่ 1.การตลาดของภาคอุตสาหกรรม 2.การหาแหล่งเงินทุนมาช่วย SMEs ที่มีปัญหาสภาพคล่อง 3.F.T.I. academy 4.นวัตกรรม 5.การเพิ่มประสิทธิภาพ และ 6.สิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคตะวันออกต้องทำให้สอดรับกับ ส.อ.ท.

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช

โรงงานร้องแก้ผังเมือง EEC

หลังขึ้นมารับตำแหน่งได้จัดประชุมนัดแรกร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง8 จังหวัดไป เพื่อหารือถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เป็นยุทธศาสตร์ภาค ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคตะวันออก

รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ของสมาชิก ซึ่งแต่ละจังหวัดมีข้อเสนอหลายประการ ต้องลงรายละเอียดกันต่อไปโดยเฉพาะ 3 จังหวัดอีอีซี ได้ร้องเรียนเรื่องผังเมืองอีอีซี โดยเฉพาะเรื่องประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

เรื่องแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 เรื่องแผนผังระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งได้ขีดแนวถนนตัดใหม่ไว้หลายสาย โดยห้ามใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ขีดแนวถนนไว้ ส่งผลให้เจ้าของโรงงานไม่สามารถขยายกิจการในที่ดินของตัวเองได้

โรงงานที่ประสบปัญหามีหลายราย โดยเฉพาะในเขตบ้านบึง เขตหนองใหญ่ จ.ชลบุรี ได้รับผลกระทบมาก บางโรงงานซื้อที่ดินไว้ตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน 100 ไร่ สร้างโรงงานแห่งแรกใช้ที่ดินไป 50 ไร่ เหลือที่ดินอีก 50 ไร่ ภายในรั้วเดียวกัน วันนี้ต้องการขยายกิจการ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะผังเมืองไปขีดแนวถนนไว้

ส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม กระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ แทนที่จะเกิดการจ้างงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงอยากให้ทำแผนขยายเส้นทางการจราจรถนนโครงข่ายถนนสายรองควรขยายช่องจราจรให้คล่องตัวมากขึ้น

ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจึงอยากจะให้มีตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ในการจัดทำผังเมืองเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะต้องทำผังเมืองออกมาให้สอดคล้องกับการลงทุนในปัจจุบัน และต้องไม่กระทบกับชุมชนด้วย ส่วนจะเข้าไปในรูปแบบไหนกำลังพูดคุยกับทาง ส.อ.ท.อยู่ เราเองอยากเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่ให้ภาครัฐขีดเส้นแล้วพวกนักอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ

หนุนสภาพคล่อง SMEs

มีการเสนอให้ความช่วยเหลือ SMEs ใช้สินค้า made in Thailand โดยที่ผ่านมา นายสุพันธ์ุ ประธาน ส.อ.ท.ได้ผลักดันเรื่องให้ภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจาก SMEs ไทย ไม่ต่ำกว่า 30% สำเร็จออกมาเป็นนโยบายของภาครัฐตอนนี้เพิ่งจะเริ่มเปิดให้เอสเอ็มอีที่มีความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐลงทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เราก็รับนโยบายเพื่อไปกระจายให้ทุกภาคส่วนรับรู้รับทราบว่ามีนโยบายเรื่องนี้เข้ามารวมถึงอยากส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยวเชิงพื้นที่เชิงสุขภาพในชุมชน เพราะตอนนี้เราอาศัยรายได้จากต่างชาติไม่ได้ เพื่อเพิ่มกระแสเงินหมุนเวียน

ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ถือเป็นนโยบายของ ส.อ.ท.ดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ ทางภาคตะวันออกก็มาดูว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น ควรนำสมาชิกมาทำ CSR ด้วยกันทั้งระดับสภาภาค สภาจังหวัด เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี มีมิติมากขึ้น แต่จะทำอะไรต้องมาคุยกันอีกทีให้ทุกคนไปช่วยกันคิด โดยเฉพาะเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชนด้วย

แนะแก้ปมแรงงานขาด

ปัจจุบันหลายโรงงานมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ๆ งานบางอย่างต้องอาศัยทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน จึงมีการเสนอ เช่น อยากให้เปิดรับต่างชาติที่มาเรียนในประเทศไทย

หรือผลักดันแรงงานไทยให้มี high skill ให้มากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากนักเรียนที่จบออกมาทำงานไม่สอดรับกับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการ เพราะสิ่งที่เรียนมากับสิ่งที่โรงงานใช้ต่างกัน คนสอนไม่ได้มาเรียนรู้ว่า สิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ

สมัยที่ผมรับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีได้ทำ 2 โครงการ คือ 1.โครงการสัตหีบโมเดล เป็นโมเดลแรกของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี ที่ได้ร่วมกับภาคเอกชนในการกำหนดหลักสูตรร่วมกัน ได้งบประมาณสนับสนุนมา 28 ล้านบาท นำร่องพัฒนาแรงงานให้ตรงกับภาคอุตสาหกรรม

ทางวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบก็ไปซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มาใช้สอนเด็ก ซื้อรถไฟฟ้าต้นแบบต่าง ๆ เข้ามา 2.การพัฒนาแรงงานที่วิทยาลัยเทคนิคแหลมฉบัง ส่งนักศึกษาหลักสูตร ปวส. เกือบ 50 คน มาเรียนที่โรงงานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง โดยบริษัทจัดวิศวกรมาสอน

โดยวิศวกรต้องผ่านการอบรมจากสถาบันการศึกษา เพื่อให้มีวุฒิครูเป็นอาจารย์ได้ และนักเรียนได้รับค่าแรงด้วย ทำได้เพียงรุ่นเดียว ช่วงนั้นครูจากวิทยาลัยอาชีวะทั่วประเทศจัดมาดูงานที่โรงงาน ทุกคนก็อึ้งว่าที่นี่ทำได้อย่างไร ทุกอย่างเบ็ดเสร็จหมด ระบบประเมินผล โรงงานประเมิน 70% อีก 30% ทางวิทยาลัยประเมิน เด็กจบไปรับวุฒิ ปวส. เรานำร่องให้

โครงการลักษณะนี้ควรได้รับการสานต่อ โดยทางวิทยาลัยอาชีวะต่าง ๆ ควรเข้ามามีบทบาทชูธงแล้วขอความร่วมมือมายังภาคอุตสาหกรรม ทางสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกพร้อมประสานให้สมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มาเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เหล่านี้

ชงอุตสาหกรรมเกษตร

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี และตราดได้เสนอเรื่องอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และอุตสาหกรรมส่งออกทางการเกษตร รวมถึงเรื่องการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน ตอนนี้ทางจังหวัดตราดมีพื้นที่ชายแดน แต่อยากเพิ่มพื้นที่ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะการเปิดช่องทางธรรมชาติให้เป็นด่านถาวรในการค้าขายกับประเทศกัมพูชา เพื่อให้เกษตรกรซื้อขายได้สะดวกมากขึ้น

รวมถึงเสนอเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทะเล ภูเขา ไม่สร้างมลพิษ อาหารเพื่อการท่องเที่ยว เช่น เมืองจันทบุรี กินอาหารทะเลสด จะกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ มีการเสนอการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเร่งทำรถไฟความเร็วสูง ถนนที่เชื่อมต่อ และขอให้ช่วยส่งเสริมเรื่องอัญมณีในเชิงการท่องเที่ยว

แม้ปัจจุบันจันทบุรีไม่มีวัตถุดิบแล้ว แต่ฝีมือการเจียระไนสุดยอดระดับโลก ทั่วโลกสู้ฝีมือคนไทยไม่ได้

ส่วนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีเสนออยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้ขยายเป็นอีอีซีแห่งที่ 2 ผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าอีอีซี เนื่องจากปราจีนบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมขยายไปจำนวนมาก พื้นที่มีความเหมาะสม

สภาพเศรษฐกิจในอีอีซี

ที่ผ่านมาในจังหวัดชลบุรี ภาคอุตสาหกรรมที่กระทบหนักคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ตอนนี้ธุรกิจเริ่มกลับเข้ามาแล้ว มีออร์เดอร์จากในประเทศ ธุรกิจกลับมาเกือบจะ 100% ธุรกิจเฉลี่ยทั้งปีของอุตสาหกรรมยานยนต์หายไป 35-40% เพราะว่าในช่วงกลางปีหายไป 80-90% ส่วนอุตสาหกรรมต่อเนื่องน่าจะขยับขึ้น


ตอนนี้ธุรกิจเริ่มกลับมาจ่ายเงินเดือนได้ปกติ ส่วนภาคบริการท่องเที่ยวยังแย่อยู่ ส่วนต่างชาติที่เข้ามาวันนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจน แต่มีนักลงทุนญี่ปุ่น และจีนที่ได้คุยกัน บอกสนใจมาลงทุนหากประเทศไทยพร้อมเปิดประเทศ