“Coffbot” นำร่องกาแฟน่านหนุน 1 ไร่ 1 ล้านหอการค้าฯ

“Coffbot” ตู้ชงกาแฟนวัตกรรมใหม่ Coffbot vending Machine นำร่องกาแฟน่าน เพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร หนุนโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ของหอการค้าไทย ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสดผ่านระบบออนไลน์ 100% พร้อมบุกตลาด 100 เครื่องในปี 2564 ตั้งเป้าขายแฟรนไชส์ในราคา 350,000 บาท/เครื่อง คาดคืนทุนภายใน 1 ปี

นางสาวกรรนิกา บุตรขวัญ Managing Director โครงการ Coffbot เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ Coffbot หรือตู้ชงกาแฟอัตโนมัติได้รับมอบหมายจากหอการค้าไทยให้คิดค้นโครงการที่จะช่วยซัพพอร์ตโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ของหอการค้าไทย

เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกเมล็ดกาแฟ ซึ่งได้คัดเลือกจังหวัดน่านเป็นจังหวัดนำร่อง เพราะเป็นกาแฟที่ผ่านมาตรฐาน ThaiGAP (Good Agriculture Practices) โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณได้รับการสนับสนุนจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ 1.3 ล้านบาท ซึ่งตู้ชงกาแฟ Coffbot จะเริ่มออกสู่ตลาดในต้นเดือนมกราคมปี 2564 พร้อมเปิดจำหน่ายแฟรนไชส์ในราคา 350,000 บาท/เครื่อง

สำหรับ Coffbot จะเป็นตู้ชงกาแฟในระบบออนไลน์ทั้งหมด ซื้อขายผ่านระบบปราศจากเงินสด 100% รวมถึงการเช็กยอดขายในแต่ละวัน ระบบทุกอย่างจะจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคารเพื่อลดต้นทุนในด้านแรงงาน โดยตัวเครื่องสั่ง OEM ทำเครื่องขึ้นมาเอง อุปกรณ์ประกอบมาจากหลายประเทศ

ส่วนแพลตฟอร์มหรือซอฟต์แวร์มีทีมงานในประเทศไทยเขียนขึ้นมาเอง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่เหนือกว่าเครื่องชงกาแฟรายอื่น สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องปรับตัวสู่อนาคต เพราะธุรกิจไร้เงินสดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งตู้ Coffbot ยังสามารถวางได้ทั่วประเทศโดยที่ใช้เวลาติดตั้งไม่นาน

จากการศึกษากลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้บริการคือ กลุ่มโรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย และโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าผู้ประกอบสามารถทำยอดขายได้ 100 แก้ว/วัน จะมีระยะคืนทุนประมาณ 1 ปี

นางสาวกรรนิกากล่าวว่า ปัจจุบันโครงการอยู่ในช่วงของการทดลองซึ่งได้เปิดตัวแล้วในงานไทยเฟ็กซ์ 2020 ของกระทรวงพาณิชย์ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งการขายแฟรนไชส์ทางโครงการจะเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงเตรียมปริมาณวัตถุดิบสำหรับ 100 แก้ว ให้กับผู้ซื้อ พร้อมมีการติดตั้งระบบหลังบ้านเพื่อเช็กสต๊อกวัตถุดิบ

รวมถึงยอดขายในแต่ละวันผ่านระบบออนไลน์ให้ด้วย เบื้องต้นคาดว่าในปี 2564 จะสามารถผลิตตู้ Coffbot vending machine ได้ประมาณ 100 เครื่อง ปัจจุบันได้มีการวางตู้ Coffbot vending machine ทดลองตลาดไปแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 20-30 ตู้

“เราเป็นสมาชิกของหอการค้าแห่งประเทศไทยและได้รับมอบหมายให้คิดค้นโครงการเพื่อส่งเสริมเกษตรกรจังหวัดน่านในเรื่องของเมล็ดกาแฟ จึงได้นำนวัตกรรมมาใช้ร่วมกับบาริสต้ามืออาชีพอย่าง คุณอัครินทร์ ศิวพรพิทักษ์ ในการทำเครื่องชงกาแฟที่ให้รสชาติอร่อยเหมือนกันทุกแก้ว

วัตถุที่จะนำมาใช้ในโครงการตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณได้ อยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยกับเกษตรกรว่ามีกำลังการผลิตมากน้อยขนาดไหน และทางโครงการต้องใช้เท่าไหร่ซึ่งจะพยายามคำนวณ เช่น 1 ตู้จะใช้ปริมาณเท่าไหร่ อีกทั้งต้องคิดไปในอนาคตด้วยเพราะว่ากาแฟมันเก็บผลผลิตได้ปีละครั้ง ดังนั้นต้องวางแผนสต๊อกเอาไว้”

นายอัครินทร์ ศิวพรพิทักษ์ บาริสต้าผู้คิดค้นสูตรการแฟ Coffbot เปิดเผยว่า Coffbot เป็นตู้ชงกาแฟอัตโนมัติในรูปแบบของ coffee vending machine ชงกาแฟอัตโนมัติโดยไม่ใช้คน มีทั้งหมด 3 ขนาด ได้แก่ 1.Coffbot master 2.Coffbot professional 3.Coffbot junior เป็นตู้ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจร้านกาแฟเคลื่อนที่ หรือตู้ชงกาแฟอัตโนมัติบนรถ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Coffbot truck รถยนต์จำหน่ายกาแฟเคลื่อนที่ และ Coffbot mini truck รถสามล้อจำหน่ายกาแฟเคลื่อนที่

ความพิเศษของ Coffbot คือการใช้นวัตกรรมเข้ามาควบคุมระบบการชงกาแฟ อาทิ การคำนวณปริมาณน้ำและอุณหภูมิของน้ำเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม ทำให้กาแฟมีรสชาติเหมือนกันทุกแก้ว นอกจากนี้จะมีระบบหลังบ้านที่คอยดูแลควบคุมการทำงานของตู้ Coffbot จะแจ้งเตือนเมื่อระบบขัดข้อง ผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับปรุงสูตรเองได้

เพราะมีการวางระบบสูตรและการคำนวณการชงกาแฟต่าง ๆ เข้าไปในตู้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากต้องการสูตรใหม่ ๆ ทางโครงการจะมีให้เลือกอยู่ประมาณ 100 สูตร ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเทสต์สูตรใหม่

“เราตั้งใจทำตู้ coffee vending machine ให้มีความพิเศษกว่าตู้กดกาแฟทั่วไป โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการชงกาแฟเพื่อให้ได้รสชาติที่ใกล้เคียงกับการดื่มกาแฟจากร้านคาเฟ่ และมีรสชาติเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีความต้องการทำธุรกิจร้านกาแฟ

แต่ติดปัญหาหลายปัจจัย อาทิ การหาทำเล ต้นทุนในการประกอบกิจการ หรือผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้ในการชงกาแฟ นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดน่านอีกด้วย เพราะเราใช้เมล็ดกาแฟจากเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP อีกด้วย”


ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดกาแฟที่ต้องการสร้างรายได้ 1 ล้านบาท ในพื้นที่การเกษตร 1 ไร่ ซึ่งเป็นเรื่องยาก ต้องหันมาปรับเปลี่ยนเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน เช่น ต้องรอดูซัพพลายเชนหรือกระบวนการจัดการทั้งหมด ซึ่งต้องดูตั้งแต่การปลูก การผลิตหรือแปรรูป จนถึงผู้บริโภค ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าสินค้าตรงไหนได้บ้าง