โรงงานอิฐแดงใต้อ่วมพิษโควิด-น้ำท่วม-ไม้ฟืนขึ้นราคา

ธุรกิจโรงงานผลิตอิฐแดงรายใหญ่ภาคใต้อ่วมหนัก 3 เด้งในรอบปี 2563 หลังเจอพิษโควิดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์-ท่องเที่ยวชะลอ ล่าสุดโดนน้ำท่วมใหญ่เสียหายหนัก แถมราคาไม้ฟืนเชื้อเพลิงหลักใช้เผาอิฐราคาพุ่งจาก 70 สตางค์ต่อกก. พุ่งขึ้นไปถึง 1.25-1.35 บาทต่อกก.

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของโรงอิฐแดงก่อเกียรติดินทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจหลายแขนงได้รับความเสียหาย

โดยในส่วนธุรกิจโรงงานผลิตอิฐแดงที่มีอยู่ทั่วภาคใต้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะศูนย์กลางโรงงานผลิตอิฐแดงรายใหญ่ ที่ตั้งอยู่บริเวณอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 46-47 โรง รวมประมาณ 180 เตา

ได้รับความเสียหายไปประมาณ 20 โรง บางแห่งได้รับความเสียหายมีมูลค่าประมาณ 300,000-500,000 บาท รวมถึงโรงงานผลิตอิฐแดงก่อเกียรติดินทองได้รับความเสียหายไปประมาณ 300,000 บาท

“ภาวะน้ำท่วมสูงส่งผลให้โรงงานอิฐแดงได้รับความเสียหายมากน้อยขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตขนาดโรงงานใหญ่ กลาง และเล็ก โดยเฉลี่ยแต่ละโรงมีจำนวนเตาตั้งแต่ 4-7 เตา แต่ละเตามีกำลังการผลิตประมาณ 120,000 ก้อนต่อเดือน

อย่างโรงอิฐแดงก่อเกียรติดินทองได้รับความเสียหายสาเหตุจากอิฐแดงที่เข้าบล็อกเป็นรูปแล้ว กำลังรอเข้าสู่เตาเผาออกมาเป็นอิฐสำเร็จรูป ก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันเร็วและสูงมาก ส่งผลให้อิฐถูกน้ำท่วมขัง อิฐแดงที่เป็นรูปก้อนละลายชำรุดเสียรูปเสียหายในที่สุด” นายทศพลกล่าว

นายทศพลกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้โรงงานผลิตอิฐแดงได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ต่างชะลอการสั่งอิฐแดงไปใช้ในการก่อสร้าง

โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้แผนการลงทุน แผนการพัฒนาก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ชะลอยุติลงทั้งหมด และล่าสุดต้องมาประสบกับภัยธรรมชาติน้ำท่วมหนักอีกระลอก นอกจากนี้วัตถุดิบคือไม้ฟืนที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอิฐแดงราคาได้ขยับขึ้นประมาณ 1.25-1.35 บาทต่อกิโลกรัม

จากเดิมราคาประมาณ 70 สตางค์ต่อกก. โดยทิศทางราคาได้ขยับขึ้นต่อเนื่องมาตลอด ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายอิฐแดงยังทรงตัวประมาณ 3 บาทต่อก้อน ประเภท 8 รู และราคา 1.10 บาท/ก้อน ประเภท 4 รู โดยไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวม

“ตลาดอิฐแดงตลาดยังมีความจำเป็นและยังเป็นธุรกิจที่ไปได้ แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เราจำเป็นจะต้องหาแหล่งเงินมาเป็นทุนฟื้นฟู และเงินทุนสำรองไว้ใช้หมุนเวียนด้วย ขณะที่หนี้สินเก่ายังมีอยู่ และจะต้องมาสร้างหนี้ใหม่อีกระลอกจากภาวะอุทกภัย แต่ธุรกิจมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนกิจการไปข้างหน้า

ซึ่งประเด็นนี้อยากจะให้รัฐบาลเข้ามาดูแลสนับสนุน โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเยียวยาจากการถูกสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่โรงงานผลิตอิฐแดง ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไป” นายทศพลกล่าว