ตลาดทุเรียนจีน 5 หมื่นล้านเดือด ดัน “ชะนี” ผงาดเทียบ “หมอนทอง” แข่ง “มูซันคิง”

ทุเรียน

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก และประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น แต่ในฐานะครัวของโลกยอดการส่งออกผลไม้หลายชนิดยังมีความต้องการสูงและราคาดี

เห็นได้จากรายงานตัวเลขส่งออก 7 เดือนแรกปี 2563 ผลผลิตส่งออก 515,002 ตัน มูลค่า 54,840.5 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ไทยส่งออกผลผลิตทุเรียน 682,720 ตัน มูลค่ารวม 51,161.9 ล้านบาท

โดยส่งออกไป 3 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน 357,492 ตัน หรือ 71.3%, ฮ่องกง 72,951 ตัน หรือ 14.5% และเวียดนาม 60,650 ตัน หรือ 12.1% โดยทุเรียนไทยครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้มากที่สุด

แต่มีปริมาณส่งออกเพียง 30% ของความต้องการตลาด ยังเติบโตได้อีก 70% แต่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่เปลี่ยนไป และไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งอย่างประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม

จี้พัฒนาคุณภาพ-เปิดด่านตงซิง

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (Thai Durian Association : TDA) ได้เปิดตัวสมาคมพร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ทุเรียนไทยในสงครามทุเรียนโลก” ว่า อนาคตทุเรียนไทยต้องวางแผนแก้ 4 ปัญหา คือ 1) พื้นที่ปลูกและผลผลิตทุเรียนในอาเซียน 8 ประเทศรวมทั้งไทยเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันไทยส่งผลสดเข้าจีนได้ประเทศเดียว

หากหลายประเทศนำเข้าผลสดได้มากขึ้น ราคาทุเรียนอาจจะตกหรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิต 2) ปัญหาระบบการขนส่ง ที่ผ่านมารถขนทุเรียนไปติดที่ด่านโหย่วอี้กวนเป็นเวลานานถึง 10 วัน จากเดิมใช้เวลา 4-5 วัน ทำให้ผลไม้เกิดความเสียหาย ทุเรียนซื้อไป 200 บาทต่อ กก. เหลือ 20-30 บาทต่อ กก.

ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนกลับมาช้าไม่เพียงพอ ส่งผลให้ค่าเช่าตู้แพงขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามมีชายแดนติดจีนและลาว ปี 2564จะเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปคุนหมิง

อนาคตมาเลเซียจะพัฒนาท่าเรือขนส่งไปจีนเป็นศูนย์กลางท่าเรือใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถ้ามาเลเซียนำผลสดเข้ามาได้จะได้เปรียบการขนส่งทางเรือที่ใกล้กว่าแหลมฉบัง ดังนั้น ทางการไทยต้องเร่งผลักดันให้จีนเปิดด่านตงซิงเร่งด่วนก่อนถึงฤดูกาลผลไม้ปี 2564

3) ปัญหาคุณภาพทุเรียนไทย บางครั้งตัดอ่อน มีหนอนเจาะ ราดำ ต้องทำคุณภาพเพื่อแข่งขันกับมาเลเซียและเวียดนาม และ 4) รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนทำประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ เช่น มาเลเซีย โปรโมตทุเรียนพันธุ์มูซันคิงทั้งภายในและต่างประเทศ ยกระดับให้เป็นทุเรียนพรีเมี่ยม

ออนไลน์จีนชอบไซซ์เล็ก 2 กก.

นายสุวัฒน์ รักทองสุข ผู้บริหาร บริษัท เลิศ โกบอล กรุ๊ป จำกัดกล่าวว่า ประสบการณ์การทำการค้ากับจีนมา 16 ปี และเป็นผู้จัดการตลาดออนไลน์ในหางโจว เซี่ยงไฮ้ กรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดเจนว่า ธุรกิจออนไลน์ในจีนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่ Gen Y มาก จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนสูงถึง 900 ล้านคน และกดไลก์ e-Commerce ถึง 265 ล้านคน มีการซื้อขายสินค้ากลุ่มอาหารถึง 57.1%

โดยเฉพาะความนิยมซื้อผลไม้ไทยและทุเรียนออนไลน์มากขึ้น ทุเรียนมีตลาดใหญ่มาก แต่ไทยต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องดูพฤติกรรมความนิยมของผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะการคำนึงถึงคุณภาพสุขลักษณะไม่มีสารพิษ ไม่มีไวรัสโควิด มีความสดใหม่

รวมถึงการสร้างเรื่องราว เนื้อหาของทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจ รสชาติอร่อย เป็นของแปลกล้ำค่าหายาก

“ช่วงโควิด-19 รอบแรกได้รับผลกระทบด้านราคาขายในช่วงต้น ๆ เล็กน้อย แต่ต่อมาจีนมีกำลังซื้อกลับมาเหมือนเดิม ตลาดทุเรียนออนไลน์ยังไปได้ดี จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ของจีนเพิ่มสูงขึ้น”

นางเจียวหลิง พาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด ผู้ค้าทุเรียนออนไลน์ในจีน กล่าวกับ “ประชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทขายทุเรียนออนไลน์ส่งจีนเป็นปีที่ 7 แล้ว ตลาดทุเรียนในจีน 98% เป็นทุเรียนไทย ถือเป็นผลไม้ที่มีอนาคตในตลาดจีน

แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมทุเรียนไซซ์เล็ก น้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม/ลูก ทำตลาดจีนง่ายเนื่องจากราคาถูกกว่าทุเรียนลูกใหญ่น้ำหนัก 5-6 กิโลกรัม/ลูก

เพราะสังคมเป็นครอบครัวขนาดเล็กและนิยมทุเรียนหลากหลายพันธุ์ เช่น ลูกผสมจันทบุรี 10 นวลทองจันทร์ เนื้อสีส้ม เหลืองรสชาติดี ไม่เป็นทุเรียนอ่อน คุณภาพต้องสม่ำเสมอ ลูกค้าตอบรับดีมาก แต่ยังมีปริมาณไม่มาก

“ที่ผ่านมาการทำตลาดออนไลน์มีแพลตฟอร์มสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการไลฟ์สดในสวน นำเสนอ story ทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ มีกิมมิกใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการขายได้

แต่ปีนี้ทำตลาดออนไลน์ได้เพียง 200 ตู้เพราะทุเรียนคุณภาพมีปริมาณน้อย ล้งแย่งกันซื้อและยังต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ทุเรียนลูกเล็กเดิมราคา 30-40 บาท/กก. ตอนนี้ปรับขึ้นไปสูงกว่า 100 บาท/กก. ชาวสวนต้องปรับตัวตามตลาดผู้บริโภคทั้งขนาดและคุณภาพ

ต่อไปบริษัทจะเข้าไปซื้อโดยตรงกับชาวสวนที่มีใบรับรองมาตรฐาน GAP โดยลูกค้าตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทุกกล่อง คาดว่าปี 2564 การส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ตู้

อย่างไรก็ตาม อนาคตไทยมีคู่แข่งจากมาเลเซีย เวียดนาม ถ้า 2 ประเทศนี้นำเข้าผลสดได้ ปริมาณทุเรียนในตลาดจีนเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้ราคาตก ตลาดต้องนำการผลิตเมื่อตลาดเปลี่ยนชาวสวนผู้ปลูกต้องปรับตัว ตลาดออนไลน์เป็นเทรนด์กำลังมาแรงแต่ต้องบวกด้วยคุณภาพที่สม่ำเสมอ”

นายโหยว จื้อเฉียง ผู้บริหาร บริษัท นิรันดร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทร่วมทำการค้ากับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแจ็ก หม่า อาลีบาบา ปริมาณทุเรียนที่ส่งไปในจีนตอนนี้มีเพียง 30% อนาคตทุเรียนใน 10 ปียังสดใส บริษัทมีเป้าหมายรับซื้อปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะโอกาสการขยายตลาดที่ยังเติบโตได้มีอยู่ถึง 70% ปี 2564 เป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการส่งออกเป็นเท่าตัวจาก 4,000 ตู้ เป็น 8,000-10,000 ตู้

ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพคัดเลือกตัวแทนสาขาผู้รับซื้อต้องมี GMP และควบคุมคุณภาพ มีโรงงานบรรจุเป็นเครือข่าย 24 แห่งในจันทบุรี และจะเพิ่มอีก 24 แห่งในปีนี้ เกษตรกรต้องมีใบรับรอง GAP การรับซื้อแบ่งเป็นไซซ์ A และ B น้ำหนัก 2-6 กก./ลูก รูปทรงสวย 3 พูขึ้นไป ขนาดไซซ์ C น้ำหนัก 7 กก./ลูก และ D น้ำหนัก 1.8-1.9 กก./ลูก ราคาถูกเหมาะกับตลาดครอบครัวเล็ก ๆ และผลทุเรียนต้องสุก 75-85% ไม่ใช่ตัดทุเรียนอ่อนมาขาย โดยปีที่ผ่านมาเริ่มรับซื้อขนาดเล็กลง 1.2-1.7 กก./ลูก แต่ยังมีปริมาณน้อย

“การปรับตัวของตลาดต้องการไซซ์เล็กลง แต่ขนาดใหญ่ยังคงซื้อปกติเพราะตลาดมีความต้องการต่างกัน บริษัทแม่จะขายเองทั้งหมด มีชั้นวางจำหน่ายในห้างร้านชั้นนำ 26 มณฑล ซึ่งต้องเน้นคุณภาพ ก่อนเปิดฤดูกาลผลไม้ประมาณเดือนมกราคม 2564 จะมีการชี้แจงเครือข่ายที่เป็นโรงงานแพ็กทั้ง 24 แห่ง และเกษตรกรที่เป็นลูกค้ามาทำความเข้าใจนโยบาย การทำตลาดของบริษัท”

ยอดชะนีพุ่งเบียดหมอนทอง

นางรัชวลัญช์ แซ่หยาง ผู้จัดการ บริษัท ฟู่ซิน สยามอินเตอร์ฟรุต ซึ่งทำธุรกิจค้าส่งในจีน ภายใต้แบรนด์ “พาโกดา” (pagoda) กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้พฤติกรรมผู้บริโภคทุเรียนจีนเปลี่ยนไปจากความนิยมหมอนทองสูงสุด ตอนนี้พันธุ์ดั้งเดิมชะนีได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 สูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากที่ไม่มีคนรู้จัก

ด้วยจุดเด่นสีทองสวย เนื้อเหนียว รสชาติหวานมันใกล้เคียงพันธุ์มูซันคิงของมาเลเซีย เนื่องจากชะนีตัดแก่ 80% ทำให้ราคาพุ่งขึ้นเกือบเท่าหมอนทอง

โดยบริษัทวางจำหน่ายตลาดชั้นหนึ่ง 4,000 กว่าสาขา ราคาสูงเพราะมีการรับประกันคุณภาพ ทุเรียนชะนีหากได้รับการประชาสัมพันธ์แบบมูซันคิง มีโอกาสทำการตลาดได้กว้างขึ้นเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะหันไปปลูกชะนีเพิ่มขึ้นไม่ได้มุ่งแต่หมอนทองอย่างเดียว

“ตลาดจีนไม่ใช่รู้จักเพียงทุเรียนหมอนทอง เคยนำก้านยาวเข้าไปขาย แต่ราคาค่อนข้างสูง รสชาติไม่โดดเด่น เทียบกับชะนีไม่ได้ พวงมณี 4-5 ปีเคยนำเข้าอันดับ 1 รสชาติตอบโจทย์ผู้บริโภคใกล้เคียงกับมูซันคิง เช่นเดียวกับหลงลับแล หลินลับแล

แต่ราคาสูงกว่ามูซันคิง หลังจากนั้น 2-3 ปีแผงอื่นซื้อตาม ๆ กัน แย่งซื้อกัน ทำให้ผู้บริโภคได้ทุเรียนไม่ดีและราคาสูงเกินไป ตลาดไม่ติด จึงเปลี่ยนมาเป็นชะนี ตอนนี้มูซันคิงราคาถูกกว่าหมอนทอง คุณภาพดีกว่า อร่อยกว่าเพราะสุกจากต้น หมอนทองต้องทำคุณภาพไม่ตัดอ่อนหรือใช้ยาเร่งสุกป้าย รสชาติธรรมชาติหายไป โอกาสระยะยาว 4-5 ปีข้างหน้าปริมาณการปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น การส่งออกต้องทำคุณภาพ นั่นคือโอกาสทำการตลาดทุเรียนไทยให้อยู่ในใจของผู้บริโภค”

หมอนทองยังแรง…ตัดแก่ 80-85% ห่วงน้ำหนักหาย 10%

ด้านนายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดทุเรียนไทยในจีนอีก 10 ปีน่าจะไปได้ดี แม้ว่าเพื่อนบ้านจะปลูกแต่ทำไม่ได้ง่าย ๆ ความนิยมพันธุ์ชะนีไม่น่าแทนที่หมอนทองได้แต่เสี่ยงต่อโรคสูง รูปทรงไม่สวย มีผู้ปลูกน้อย ปี 2562 มีผู้ปลูกชะนี 6.56% หมอนทอง 89.59%

ทำให้ชะนีราคาสูง หมอนทองนิยมปลูกมากเพราะเป็นทุเรียนเนื้อมาก มีช่องทางจำหน่ายมากกว่าทั้งผลสดและแปรรูป ความนิยมขนาดเล็กลงมาเป็นไซซ์กลางและเล็กลูกละ1.7-5 กิโลกรัมนั้น เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์

ทำให้ตลาดมีกำลังซื้อมากกว่าลูกใหญ่ และตลาดผู้บริโภคคนจีนเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ทุเรียนขนาดมาตรฐานส่งออกลูกละ 5-6 กิโลกรัม ยังคงส่งออกได้ตามปกติ ส่วนการตัดแก่หรือแขวนทุเรียนไว้บนต้นประมาณ 80% จะไม่เพิ่มต้นทุนมากนักเพราะอยู่ในระยะเก็บเกี่ยว 110 วัน แต่ต้องมีวิธีบริหารจัดการใส่ปุ๋ยบำรุงดินเพื่อไม่ให้ต้นโทรมมีปัญหาผลผลิตปีต่อไป

แต่ที่มีผลต่อเกษตรกรชัดเจนคือน้ำหนักทุเรียนสุก 80-85% จะหายไปประมาณ 10% ทำให้เม็ดเงินลดลงมาก ล้งรับซื้อต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรและปรับราคาสูงขึ้นตามระยะเวลาการแขวน

“ทุเรียนไซซ์เล็ก คือ ไซซ์ C ตกไซซ์ขนาดลูกละ 1.7-1.8 กิโลกรัม แต่ถ้าทำคุณภาพเนื้อดี สีสวยรสชาติดีแข่งขันกับมูซันคิงทุเรียนเกรดดีขนาดลูกละประมาณ 2 กิโลกรัมได้ ตลาดส่วนหนึ่งต้องการ เช่น ตลาดออนไลน์ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกเพราะทุเรียนลูกเล็กไม่ต้องตัดแต่งดอกมากเหมือนทุเรียนลูกใหญ่ที่ทำมาตรฐานส่งออก

ที่มีตลาดอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะตลาดกลุ่มพรีเมี่ยม อย่างไรก็ตาม ชาวสวนไม่นิยมทำทุเรียนลูกเล็กเพราะน้ำหนักเบา มูลค่าน้อย ต่างจากทุเรียนลูกใหญ่ที่มีตลาดกว้างกว่า และได้น้ำหนักดีกว่า”