ขอนแก่นเร่งฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมรับมือโควิดรอบใหม่

เศรษฐกิจขอนแก่นฟื้นตัวหลังโควิด-19 จากช่วงต้นปีกว่า 70% รับอานิสงส์แรงบวกหลายปัจจัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชูโครงการคนละครึ่งกระตุ้นกำลังซื้อ ระบุมีตัวเลขการใช้จ่ายพุ่งสูง 800 ล้านบาท

ขณะที่กระแสโควิด-19 ระลอกใหม่ทำอีเวนต์ส่งท้ายปีแผ่ว หน่วยจังหวัดเตรียมออกตรวจแรงงานต่างด้าวกว่า 7 พันคน พร้อมตั้งด่านคุมเข้มผู้เดินทางเข้าเมือง ด้านเทศบาลเตรียมยกเลิกอีเวนต์-เคานต์ดาวน์ 2021

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นเคลื่อนตัวไปได้ด้วยดี ฟื้นตัวหลังโควิด-19 เมื่อต้นปีจากการท่องเที่ยวและกิจกรรมต่าง ๆ กว่า 70%

และมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการคนละครึ่งมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ภาพรวมนับตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2563 จนถึงสิ้นสุดโครงการเฟสแรกวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีการประเมินไว้ว่าจังหวัดขอนแก่นจะมีการใช้จ่ายผ่านโครงการประมาณ 630 ล้านบาท

แต่ตัวเลขปัจจุบันกลับพุ่งสูงถึง 700-800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแรงบวกอีกหลายเรื่อง

ทั้งนี้ กระแสการเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดมากนัก ต้องใช้เวลาประเมินอีกครั้งประมาณ 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งทุกหน่วยภายในจังหวัดได้เฝ้าระวังผู้คนเดินทางเข้าเมืองอย่างเข้มงวด

โดยไม่มีการผ่อนปรนภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมขยายเวลาการตั้งด่านเพิ่มและให้ครอบคลุมเส้นทางเข้าจังหวัดหลายจุดมากขึ้น

“เป็นที่คาดการณ์กันว่าเชื้อโควิดระลอกใหม่มาจากแรงงานต่างด้าว จากตัวเลขของแรงงานจังหวัดขอนแก่นนั้นระบุว่ามีอยู่ประมาณ 7,000 คน เบื้องต้นเป็นแรงงานจากเมียนมา 3,000 กว่าคน จาก สปป.ลาว 2,000 กว่าคน และกัมพูชาประมาณ 800 คน

โดยทางจังหวัดจะเริ่มปูพรมออกตรวจแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งแรงงานที่ทำงานอยู่เดิมรวมถึงผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองมาด้วย นอกจากนี้ยังต้องลงพื้นที่ตรวจสถานบริการสถานบันเทิงต่าง ๆ ว่ายังไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการอยู่หรือไม่”

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่และเป็นแหล่งกระจายสินค้าหลากหลายชนิด นอกจากตรวจสอบแรงงานและสถานบริการแล้ว จำเป็นต้องตรวจร้านค้า พนักงานขับรถ พนักงานขนส่งสินค้า ที่เดินทางไปยังจุดเสี่ยงด้วย

แม้ขณะนี้จะยังมีความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมได้ แต่ไม่อยากให้ประชาชนประมาทหรือตื่นตระหนก ซึ่งทางจังหวัดได้มีการรวบรวมข้อมูลประชุมและประเมินสถานการณ์อยู่ทุกระยะ

สำหรับกิจกรรมกระตุ้นเศรฐกิจที่จะเกิดขึ้นปลายปี หลายฝ่ายมีความเห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ แต่หากพิจารณาแล้วไม่เห็นควรหรือมีเหตุสมควรยุติ ทางคณะกรรมการควบคุมโรคก็จะสั่งให้ยุติทันที แม้ภาพรวมจะยังไม่มีผลกระทบอะไรมาก

เพราะจังหวัดขอนแก่นได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วอย่างน้อย 2 งานอีเวนต์ใหญ่ คือ 1.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ที่มีการรำบวงสรวงศาลหลักเมือง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 10 แห่ง เป็นการรวมพลขนาดใหญ่ประมาณ 60,000 คน ซึ่งมาตรการที่ได้เตรียมไว้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี

2.เทศกาลงานไหมและประเพณีผูกเสี่ยว มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการขายผ้าไหมทำรายได้หมุนเวียนไปยังเศรษฐกิจฐานรากประมาณ 50 ล้านบาท แม้ภายในงานจะงดกิจกรรมบางอย่างลง เช่น งานกาชาด การประกวดนางงามไหม การจัดเวทีคอนเสิร์ต

“ปัจจุบันเราได้เสริมสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในทุกมิติ ผมเชื่อมั่นและบอกกับประชาชนชาวขอนแก่นได้ว่าให้ช่วยกัน เพราะเราจะเป็นจังหวัดที่เอาอยู่สำหรับกิจกรรมขนาดใหญ่ จาก 2 อีเวนต์ที่ผ่านมาทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็จะไม่ประมาท และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เรามีงานมหัศจรรย์พรรณไม้ ซึ่งจะจัดไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 คาดว่าเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท”

ด้านนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากนี้ยังเหลืองานอีเวนต์ใหญ่อีก 2 งาน คือการจัดงานสวนเรืองแสงกับเคานท์ดาวน์ 2021

แต่จากการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ทุกระยะถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทางเทศบาลนครขอนแก่นจะเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดขอนแก่นเพื่อยกเลิกจัดงาน และน่าจะเหลือเพียงการประดับไฟและตกแต่งเมืองให้มีสีสัน

เพื่อไม่ให้บรรยากาศซบเซามากจนเกินไป ส่วนกิจกรรมตักบาตรปีใหม่จะให้คณะกรรมการควบคุมโรคพิจารณาอีกครั้งว่าควรจัดหรือไม่

เดิมทีสภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นถือได้ว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เมื่อกิจกรรมท้ายปีถูกระงับอาจจะไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าไหร่ แต่ก็นับว่าเสียดายโอกาสที่การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้น

“เดิมที่เราคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในกิจกรรมต่าง ๆ รวมกันเกือบ 300 ล้านบาท แต่ตอนนี้น่าจะหายไป 100 กว่าล้านบาท และในสถานการณ์แบบนี้การจัดกิจกรรมใหญ่ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล ต่อให้วางมาตรการดีแค่ไหนก็จะถูกจับตามองและทำให้หลายคนไม่สบายใจ แม้แฟนศิลปินที่อยากมาร่วมงานไม่อยากให้ยกเลิก

แต่กลุ่มผู้ใหญ่ก็แสดงท่าทีเป็นห่วงอยู่มากพอสมควร ซึ่งการแพร่ระบาดดูท่าจะกลับมาแบบนี้ เราต้องคิดรอบคอบและให้งดกิจกรรมไปก่อน แม้จะลำบากใจมากอยู่ก็ตาม เพราะเดิมกำหนดงานนั้นเริ่มงานตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป มีเงินสะพัดนับร้อยล้านบาท” นายธีระศักดิ์กล่าว