หอการค้าชุมพรชงรัฐบาลผุด “ท่าเรือน้ำลึก” กระตุ้นเศรษฐกิจใต้

หอการค้าชุมพรดันรัฐบาลผุด “ท่าเรือน้ำลึกชุมพร” คู่ขนาน “รถไฟทางคู่เชื่อมชุมพร-ระนอง” หวังกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้เติบโต

จากกรณีที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลาง-ยาว

ในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เส้นทางรถไฟทางคู่ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบยาวประมาณ 90 กิโลเมตร

ซึ่งจะเชื่อมจากเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง มาถึงท่าเรือระนอง และเป็นเส้นทางที่เสนอตั้งแต่ครั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และได้ทราบประวัติความเป็นมาของเส้นทางรถไฟเส้นนี้ว่าเป็นเส้นทางที่ญี่ปุ่นเข้ามาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นมาก่อสร้างเส้นทางรถไฟไว้ 2 เส้น เส้นหนึ่งคือเส้นทางรถไฟที่ จ.กาญจนบุรี

ที่เชื่อมไปถึงเมียนมาตามยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นจะยกทัพจากเมียนมาไปยังอินเดีย และเป็นรถไฟทางคู่เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้(SEC) เ

พื่อพัฒนาเศรษฐกิจระนองเป็น “เมืองท่าฝั่งขวา” เป็นเส้นทางเศรษฐกิจไทยเชื่อม BIMSTEC (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) หรือ BIST-EC สมาชิกเบื้องต้น 4 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทยนั้น

นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมชุมพร-ระนอง

แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือ ท่าเรือน้ำลึกชุมพรที่เคยมีการศึกษาความเป็นไปได้มาแล้วว่ามีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างที่แหลมคอกวาง ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) เคยจัดประชุมเรื่องท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร โดยมีการเสนอว่า หากจะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่แหลมคอกวาง ควรสร้างทางด้านทิศใต้ของแหลม

ซึ่งมีความลึกประมาณ 12 เมตร ไม่ควรสร้างด้านหน้าแหลมที่มีความลึกเพียง 5 เมตรเท่านั้น อีกทั้งยังทราบว่าขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยชื่อดังทำการศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้

โดยใช้งบฯกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ได้มีการวางแผนแก้ไขไว้แล้ว ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดชุมพรพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้กับรัฐบาลเต็มที่ เพราะถ้าสามารถสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกชุมพรควบคู่กับการสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ชุมพร-ระนองได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ โดยเฉพาะชุมพรกับระนองแน่นอน

นายอนัน รามพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร กล่าวว่า เส้นทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนอง ถือเป็นความหวังของคนทั้ง 2 จังหวัด

เพราะจะเป็นการเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเลเข้าด้วยกัน ทำให้การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัดมีความสะดวกมากขึ้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเคยสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างชุมพร-ระนองมาแล้ว

หากสามารถรื้อฟื้นทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนองขึ้นมาได้ ก็จะเป็นผลดีต่อลูกหลานของเราในอนาคต และสอดรับกับสนามบินของทั้ง 2 จังหวัด รวมทั้งยังสามารถจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ด้วย

การสร้างทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนองในบางจุด อาจต้องมีการขุดอุโมงค์ให้รถไฟลอด เพราะต้องผ่านเขาซึ่งจะกลายเป็น unseen ของทั้ง 2 จังหวัดได้อีกทางหนึ่งด้วย

นายชยศ สุวรรณพหู ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวปัจจุบันชุมพรกับระนองรวมกันในกลุ่มการค้าจังหวัดภาคใต้ตอนบนอยู่แล้ว

หากมีทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนอง ทำให้การคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่าง 2 จังหวัดมีความสะดวกมากขึ้นและสามารถเชื่อมโยงกันระหว่างรถยนต์ รถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน รวมทั้งยังสอดรับกับโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งทะเลด้วย ต่อไปการเดินทางระหว่างชุมพร-ระนอง จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น


จากเดิมที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ส่วนเรื่องผลกระทบที่คงต้องมีบ้าง ทราบว่าเคยมีการศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเอาไว้แล้ว หากมีการคมนาคมระบบรางเข้ามาเสริมระหว่าง 2 จังหวัด ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแน่นอน