สวนทุเรียนเด้งรับ แรงงานต่างด้าวบัตรสีชมพู ค่าตรวจโควิดเฉียดหมื่น

สภาเกษตรกรเด้งรับมติ ครม.บัตรสีชมพู พร้อมชง 6 เสนอมาตรการผ่อนปรนนำเข้าแรงงานต่างชาติฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้มีนาคม-มิถุนายน 2564

การทวีความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ภาคตะวันออก จนถูกยกระดับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่งผลให้ชาวสวนผลไม้เกรงจะกระทบต่อการเก็บเกี่ยว และการส่งออกผลไม้ มูลค่าเฉียดแสนล้านบาท

นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนผลไม้ จ.ตราดได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 และประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีการแพร่ระบาดและยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รัฐบาลยังคงเข้มงวดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ

ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการเดินทางเข้า-ออกอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ต้องการแรงงานต่างชาติ กัมพูชา เมียนมาโดยเฉพาะปี 2564 ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ และผู้ประกอบการ

จึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ตัวแทนเกษตร จ.ตราด ประธานกรรมการหอการค้า จ.ตราด สภาอุตสาหกรรม จ.ตราด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก กลุ่ม 2 บริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน กำหนดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เสนอ นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการ 6 แนวทาง ดังนี้

1) ออกมาตรการการผ่อนผัน อนุญาตให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการ สามารถจดแจ้งรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนำรายชื่อแรงงานแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวทุกคนเข้าสู่ระบบและลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

2) ออกมาตรการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการจะนำแรงงานทั้งหมดของตนเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19

3) กำหนดแนวทางนำเข้าแรงงานจากประเทศกัมพูชา เข้ามาทำงานในจังหวัดตราด ตามแนวทางจันทบุรีโมเดล (ข้อตกลง MOU) ระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และส่วนราชการของไทยและกัมพูชา และขอให้ผ่อนปรนมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานจากสวนลำไยในเขตจ.จันทบุรี เข้ามาเก็บเกี่ยวผลไม้ใน จ.ตราดได้ กรณีเป็นแรงงานจากประเทศอื่นให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ

4) จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อใช้เป็นจุดคัดกรอง กักตัวแรงงานที่จะเข้ามาใน จ.ตราด ตามมาตรการของสาธารณสุข จ.ตราด

5) ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตผลไม้ปี 2563/2564 เกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อเก็บเกี่ยวผลไม้ในช่วงระยะสั้น ประมาณ 3-4 เดือน (มีนาคม-มิถุนายน) ขอให้จังหวัดอนุญาตให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานต่อแรงงานจังหวัด

และรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อผ่อนปรนมาตรการให้แรงงานสามารถเดินทางเข้าจังหวัด โดยจังหวัดจัดตั้งศูนย์สำหรับคัดกรอง กักกัน ที่พักสำหรับแรงงาน บริเวณพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติและจุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง ต.นนทรีย์ อ.บ่อไร่ จ.ตราด

ตามมาตรการของสาธารณสุข จ.ตราด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ทหาร และตรวจคนเข้าเมืองประจำการอยู่

6) กำหนดมาตรการให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการรายงานจำนวนแรงงานต่อฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่นผู้ใหญ่บ้านและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ของตนเอง เพื่อทราบและติดตามการใช้แรงงานของเกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการ

“มาตรการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่เพิ่งออกมาหลังประชุมกัน เห็นชอบผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักร และทำงานได้เป็นกรณีพิเศษ (บัตรสีชมพู) สอดคล้องกับข้อเสนอข้อ 1 แต่ยังมีรายละเอียดค่าใช้จ่าย ค่าตรวจโรคที่ยังสูงอยู่รวมทั้งสิ้น 9,810 บาท/ราย ระยะเวลา 2 ปี

ในขณะที่ขาดแคลนแรงงานจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยว 2-3 เดือน อาจจะต้องมีการตกลงระหว่างแรงงานกับนายจ้าง แต่ปัญหาคือแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ไม่น่าเพียงพอ เพราะความต้องการใช้เป็น 10,000 คน เศรษฐกิจต้องควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข ภาครัฐต้องระวังการเข้ามาของแรงงานต่างชาติเพื่อให้ควบคุมโรคโควิด-19 ได้ ยังไม่ทราบว่ามติ ครม.จะมีประกาศของหน่วยงานบังคับใช้ทันในฤดูกาลนี้หรือไม่

ส่วนแรงงานจะขอนำเข้าตามจันทบุรีโมเดล ถ้าค่าใช้จ่ายสูง 10,000 บาทเศษ/ราย นายจ้างรับไม่ไหว แต่ได้เสนอมาตรการผ่อนปรนสถานที่พักกักตัวบริเวณชายแดน ควรจัดทำแบบโรงพยาบาลภาคสนาม แยกพื้นที่กักกันตัวแรงงานที่ไม่ติดเชื้อออกมา สร้างเป็นห้องพัก 30-40 ห้อง

หากภาครัฐช่วยค่าตรวจ ค่าใช้จ่ายน่าจะลดลง ประมาณหัวละ 3,000 บาท นายจ้างน่าจะพอรับได้ และข้อเสนอให้ผ่อนปรนกฎหมายห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกเขตจังหวัด ให้นำแรงงานหลังเก็บเกี่ยวลำไยที่ จ.จันทบุรี หมุนเวียนไปใช้กับสวนทุเรียน มังคุด ใน จ.ตราด ตามมาตรการควบคุมด้านสาธารณสุข หากจันทบุรี ตราด ยังเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

เรื่องดังกล่าวนี้ได้นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้ดำเนินการพิจารณาอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเหลือระยะเวลาเพียง 3 เดือน” นายสว่างกล่าว

ทางด้านนายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้า จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบต่อแรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้ปีที่ผ่านมา เกษตรกรที่เป็นชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ล้งมีแรงงานมาตัด แต่สวนมังคุดที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ไม่มีแรงงานเก็บต้องปล่อยทิ้งในสวน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทัน

ปีที่แล้วมังคุดน่าจะเสียหายไปประมาณ 20-30% และราคามังคุดกิโลกรัมละ 50 บาท ร่วงเหลือ 15 บาท เพราะเก็บไม่ทันผลผลิตเสียหาย ส่งออกตลาดต่างประเทศไม่ได้ แต่ละสวนสูญเสียรายได้ไปหลายแสนบาท เข้าใจว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังมีอยู่ ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ในส่วนของมาตรการกักตัว 14 วัน

และตรวจโรค ค่าใช้จ่ายเป็น 10,000 บาท/คน นายจ้างไม่สามารถรับภาระไหว เพราะแรงงานภาคเกษตรเข้ามาระยะเวลาสั้น ๆ 1-3 เดือน ค่าจ้างที่แรงงานจะเสียค่ากักตัวเองจำนวนมากคงสู้ไม่ไหวเช่นกัน น่าจะมีมาตรการที่กักตัวในสวนได้ เพราะมีพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง