ด่านแม่สาย ตรวจโควิดคนขับรถทุก 14 วัน พ่อค้าร้องต้นทุนพุ่ง

ด่านแม่สาย เข้มตรวจโควิด-19 คนขับรถทุก 14 วัน ทำพ่อค้าเมียนมาร้องต้นทุนพุ่ง

วันที่ 7 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีประเทศไทยและเมียนมา มีข้อตกลงให้เปิดจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตรงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เพื่อขนส่งสินค้ากับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนคนขับบริเวณสะพานเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น

ล่าสุดทางศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) อ.แม่สาย ได้มีมติ ศปก.อ.ครั้งที่ 1 ให้มีการตรวจหาเชื้อในคนขับรถทั้งหมดด้วย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.นี้เป็นต้นไป มีกำหนดตรวจทุก ๆ 14 วัน โดยผู้ที่จะได้รับการตรวจมีทั้งคนขับรถสินค้าที่เปลี่ยนคนขับจาก อ.แม่สาย ไปยังฝั่งประเทศเมียนมา และจากฝั่งเมียนมามายังประเทศไทย

น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย กล่าวว่าปัจจุบันได้มีกลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนกับด่านควบคุมโรคเบื้องต้นจำนวน 163 คน และได้มีข้อกำหนดว่ากรณีเป็นคนขับรถชาวไทยจะบริการตรวจหาเชื้อให้ฟรี แต่หากเป็นชาวเมียนมาจะต้องเสียค่าตรวจคนละ 1,200 บาท นอกจากนี้หากมีคนขับรถที่มาจากจังหวัดควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด จะต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจทุก ๆ 7 วัน

ขณะที่การค้าชายแดนด้าน อ.แม่สาย ยังคงขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องวันละ 30-50 ล้านบาท โดยเดือน ต.ค. มีมูลค่าการค้ารวม 1,032.906 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 1,020.630 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 12.276 ล้านบาท

ส่วนเดือน พ.ย. 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 1,030.17 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 971.933 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 58.237 ล้านบาท หลังจากตลอดปีงบประมาณ 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 11,885.88 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับมาตรการดังกล่าวมีขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้าตรวจหาเชื้อในผู้ปฏิบัติงานที่ด่านพรมแดน ทั้งศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทหาร ฝ่ายปกครอง ตรวจพืช สัตว์ คนขับรถ พนักงานขนส่ง ฯลฯ ประมาณ 300-400 คน เป็นครั้งคราวแล้วแต่สถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อยังมีการระบาดใน จ.ท่าขี้เหล็ก กระทั่งมีมติให้มีการตรวจเป็นกำหนดการณ์ชัดเจนในครั้งนี้ดังกล่าว

ขณะที่ในปัจจุบันมีรถบรรทุกสินค้าทั้งรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง รถบรรทุกสินค้าอื่น ๆ และรถตู้ ที่ขนสินค้าจากฝั่งไทยไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก จำนวนประมาณ 280 คัน

อย่างไรก็ตาม พบว่ามาตรการดังกล่าวได้ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและคนขับรถชาวเมียนมาต่างไม่สบายใจกันอย่างมาก เพราะต้องเสียต้นทุนในการตรวจเดือนละ 2,400 บาทต่อราย นอกจากนี้ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการของทางการเมียนมาที่มีมาตรการให้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุก ๆ 14 วันเช่นเดียวกัน แต่มีการเก็บค่าตรวจรายละ 10,000 จัาต หรือคิดเป็นเงินบาทไทยได้จำนวน 300 บาท กระนั้นก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการของทั้ง 2 ฝั่งประเทศ เพื่อให้มีรายได้จากการขนส่งสินค้าดังกล่าวต่อไป