สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ชู ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบของสงครามการค้าตั้งแต่ช่วงปี 2562 ตามมาด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 รอบแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563

ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน หลายภาคส่วนธุรกิจได้รับผลกระทบซวนเซ ปิดกิจการ มีคนจำนวนมหาศาลตกงาน และยังไม่รู้จะดำเนินอาชีพอะไร ช่วงที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของภาครัฐเร่งออกมาให้ความช่วยเหลือ รวมถึง “กรมการพัฒนาชุมชน”

ถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาช่วยพยุงขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไว้อย่างมั่นคง ด้วยหลากหลายแผนงานที่มุ่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยเฉพาะโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลถึง 4,700 ล้านบาท

เพื่อสร้างต้นแบบให้กับชุมชนที่ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ

ดัน “นักพัฒนาต้นแบบ” หมื่นคน

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บอกว่า โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นโครงการที่ทำให้หลายคนรู้จักกรมการพัฒนาชุมชนมากขึ้น จากการน้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

มาใช้ในการพัฒนาคนช่วงปีงบประมาณ 2563 ที่รัฐบาลมีเงินกู้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้ส่วนราชการต่าง ๆ จัดทำโครงการของบประมาณกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล

โดยโครงการโคก หนอง นา โมเดล ได้รับความเห็นชอบและได้รับอนุมัติงบประมาณ 4,700 ล้านบาท เพื่อมาพัฒนาครัวเรือนต้นแบบกว่า 25,000 ครัวเรือนเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวที่รัฐบาลอนุมัติให้ใช้งบฯเงินกู้ก้อนนี้ในรอบแรกซึ่งเป็นมิติใหม่ของระบบราชการ

หลักสำคัญของโคก หนอง นา โมเดล คือการพัฒนาคนให้เป็นคนที่สามารถบริหารจัดการชีวิตได้ ให้พึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องกลัวราคาพืชผลตกต่ำที่สำคัญที่สุดสามารถช่วยประชาชนเจ้าของโฉนด น.ส.3 หรือมีพื้นที่อยู่ในที่ดิน ส.ป.ก. ป่าสงวนฯ เขตอุทยานฯ ให้สามารถทำกินได้โดยมีการประสานกับหน่วยงานผู้ดูแลเรื่องนี้เพื่อดำเนินการร่วมกัน

โครงการนี้ได้เปิดรับสมัครบุคคลมาเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ช่วงวันที่ 11-17 พ.ย. 63 จำนวน 9,188 อัตรา ปฏิบัติงานในพื้นที่ 73 จังหวัดทั่วประเทศ และจะดำเนินโครงการต่อไปจนสิ้นสุดในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 งบประมาณในโครงการบางส่วนจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ้างงานคนในพื้นที่ประจำศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบลกว่า 3,347 ตำบล

ประมาณ 10,000 คน ในตำแหน่งที่เรียกว่า “นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ” ด้วยสัญญาจ้าง 1 ปี 9,000 บาท/คน/เดือน รวมกว่า 992,304,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกที่จ้างงานคนว่างงานให้เป็นเกษตรกรโดยไม่จำกัดคุณวุฒิ ไม่จำกัดสายอาชีพ ไม่ดูประวัติอาชญากรรม ช่วยให้คนที่อยากพัฒนาตัวเองสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้

ร่วมมือขับเคลื่อน 73จังหวัด

“สุทธิพงษ์” เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมามีผู้สมัครใจมาเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบใน 73 จังหวัดเข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการรวมทั้งสิ้นจำนวน 29,674 ราย เพราะนอกจากจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จุดที่ดำเนินโครงการหรือศูนย์ระดับตำบลยังสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้ด้วย ถือเป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชนภาคภูมิใจมาก

“เป้าหมายเราคือสร้างงานให้คนในพื้นที่โดยไม่ต้องข้ามถิ่นไปทำงานที่อื่น ปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ในระยะที่ 1 อยู่ระหว่างฝึกอบรมเป็นรุ่นตามขั้นตอน ขั้นแรกเป็นการฝึกอบรม คนที่จบการฝึกอบรมจะสามารถออกแบบพื้นที่และดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตรได้เลย แบ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบระดับครัวเรือน

ชื่อย่อคือ HLM (household lab model for quality of life) ให้พื้นที่ 1-3 ไร่ และพื้นที่ต้นแบบระดับตำบล CLM (community lab model for quality of life) ให้พื้นที่ 10-15 ไร่”

สำหรับการฝึกอบรมนั้นจะใช้เวลา 5 วัน 4 คืน เพื่อเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง เป็นการเข้าค่าย learning by doing ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน (ศพช.) กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ 11 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก สระบุรี ยะลา ชลบุรี

และยังมีคนจากภาคีเครือข่ายจาก “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ” ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” มาเป็นพี่เลี้ยงด้วย และได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มอบบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาช่วย 2 คน คือ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจน์ไพบูลย์ มาช่วยเป็นที่ปรึกษา

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งคณะสงฆ์ที่ต้องการขับเคลื่อนรูปแบบบวร บ้าน วัด และราชการ ผนึกกำลังกันในการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้เกิดขึ้นเพื่อใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตคน ที่สำคัญต่อมาคือ โครงการนี้เน้นเรื่องของงานวิจัยด้วยงบประมาณ 116 ล้านบาท เพื่อเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ ดิน ให้เป็นระบบ

โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จะจัดเก็บภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ตั้งแต่ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการ และข้อมูลนี้จะกลายเป็นสมบัติของประชาชนทุกคน สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับพื้นที่เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

ยกระดับต้นแบบชุมชนปี’64

“สุทธิพงษ์” บอกว่า สรุปวิธีการสร้างต้นแบบโคก หนอง นา โมเดลนั้นมีอยู่ 7 ขั้นตอน 1.ฝึกอบรมเพิ่มทักษะการพัฒนากสิกรรม 2.สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล

และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบระดับครัวเรือน 3.สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน

4.กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือน ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน 5.บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล 6.พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย และ 7.พัฒนาระบบ digital รองรับ local economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การทำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลนั้นจะมีไม้ยืนต้นเกิดขึ้นในพื้นที่ ตามหลักการต้องปลูกไม้ 5 ระดับ คือ ไม้สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน หรือไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน หรือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

เช่น ใต้ดินจะมีมันแกว มีกลอย มีเถาวัลย์เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้ไม่สูง ส่วนต้นไม้สูงใหญ่ เช่น ยางนา ประดู่ ต้นกระบกป่า ทั้งหมดคือป่าที่ทำให้มีกิน มีอาหาร สามารถนำมาเป็นไม้ใช้สอย ทำเครื่องมือได้ อาทิ เอามาทำแคร่ไม้ไผ่ ทำเครื่องมือทางการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย

และจะสามารถสร้างไม้ยืนต้นระดับสูงได้ถึง 10 ล้านต้น พันธุ์ไม้ที่จะลงในพื้นที่ถึงมือชาวบ้านจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจากงบประมาณบางส่วนของโครงการให้ชาวบ้านไปซื้อพันธุ์ปลูกเองด้วย

“ทิศทางขับเคลื่อนการทำงานของกรมการพัฒนาชุมชนในปี 2564 จะเป็นปีแห่งการเสริมสร้างและยกระดับขีดความสามารถของชุมชน เพื่อให้คนยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ มีรายได้ทำให้เศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัวและสามารถพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างสมดุล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตัวเองได้”