การขยายตัวของ “ธุรกิจทุ่งสวนดอกไม้” ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่บานสะพรั่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในปีนี้ หากไม่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เชียงใหม่คึกคักด้วยนักท่องเที่ยวเต็มสวนดอกไม้ที่กระจายตัวไปในหลายชุมชน
หมื่นนักเที่ยวฝ่าโควิดชมสวน
จากการสำรวจของ “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาเป็นทุ่งสวนดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยวรวมถึงพื้นที่เอกชน และหน่วยงานภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 30 แห่งกระจายตัวในเขตอำเภอรอบนอก ได้แก่ อำเภอแม่ริม สันกำแพง สันทราย ฮอดสะเมิง และจอมทอง เป็นต้น และพบว่าส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่อำเภอแม่ริม โดยจะคิดค่าเข้าชมที่ 20-50-70 บาทต่อคน
ในช่วงปลายปี 2563 ธุรกิจทุ่งดอกไม้เป็นกระแสการท่องเที่ยวที่แรงมาก และอำเภอแม่ริมถือเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีฐานของธุรกิจดอกไม้สูงสุดในพื้นที่เชียงใหม่มากถึง 1,038 ไร่ มีเกษตรกร 353 ราย โดยเฉพาะที่ตำบลโป่งแยงและตำบลเหมืองแก้ว มีดอกไม้หลักคือ กุหลาบ มาร์กาเร็ต พีค็อก สร้อยไก่ เบญจมาศ
โดยเฉพาะสวนดอกไม้ที่โด่งดังสุดคือ “สวน I Love Flower Farm” ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2563-30 เมษายน 2564 ประมาณการกันว่าในช่วงปลายปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่กว่า 10,000 คนต่อวัน ตามกระแสการแชร์ภาพที่สวยงาม สร้างรายได้ให้เกษตรกรและคนในชุมชนเฉพาะอำเภอแม่ริม มากถึง 80-100 ล้านบาท
รวมถึงกระจายรายได้สู่ organizer ด้านการแต่งงาน การจัดอีเวนต์ เดินแบบ และช่างถ่ายภาพ เป็นต้น ซึ่งหากรวมมูลค่าทุ่งสวนดอกไม้ทั้งหมดในพื้นที่เชียงใหม่ คาดว่าสร้างเงินหมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
ที่ผ่านมามีสวนดอกไม้หลายแห่งได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวทุ่งดอกไม้สะพรั่งกระจายมากขึ้น ขณะที่บางแห่งต้องปิดตัวชั่วคราวตามสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และพื้นที่เชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่ที่มีฐานเศรษฐกิจดอกไม้เป็นหลักอยู่แล้ว
ผลิตไม้ดอกขาย-ท่องเที่ยว
ปัจจุบันมี smart farmer ต้นแบบด้านการผลิตไม้ดอกเพื่อการค้าแบบครบวงจร และกลุ่มสมาชิกผลิตไม้ดอกจำหน่าย ร่วมมือกัน โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต การติดต่อผู้ซื้อหรือ organizer โดยตรง มีการสั่งซื้อล่วงหน้าจึงสามารถวางแผนการผลิตไม้ดอกเป้าหมายให้แก่ตนเองและสมาชิก
สามารถผลิตไม้ดอกตามความต้องการของผู้ซื้อหรือตลาดต้องการ เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ลดปัญหาด้านราคาสินค้าตกต่ำและสินค้าล้นตลาด และยังสร้างรายได้โดยรวมจากการท่องเที่ยวหลาย 10 ล้านบาทต่อปี
นางสาวณวิสา มูลทา เกษตรกรต้นแบบด้านการผลิตไม้ตัดดอกเพื่อการค้าและท่องเที่ยว เจ้าของ I Love Flower Farm ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตำบลเหมืองแก้ว มีเกษตรกรปลูกไม้ตัดดอกจำนวน 78 ราย มีพื้นที่ปลูกไม้ดอกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 203 ไร่
ไม้ตัดดอกที่ปลูกกันมากได้แก่ มาร์กาเร็ต พีค็อก สร้อยไก่ เบญจมาศ ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักดั้งเดิมของเกษตรกรในชุมชน โดยดอกไม้ที่ปลูกทั้งหมดจะส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเริ่มมาตั้งแต่ราว 2-3 ปีที่ผ่านมา
จากกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้สวนดอกไม้ในพื้นที่ตำบลเหมืองแก้วกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นที่ดอกไม้บานสะพรั่งสวยงามในบรรยากาศของฤดูหนาว
“ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมสวนดอกไม้ในพื้นที่ตำบลเหมืองแก้ว หมู่ 3 และหมู่ 4 ราว 10,000 คนต่อวัน รายได้เข้าสู่ชุมชนราว 10 ล้านบาท และปี 2563 ก็อยู่ในระดับ 10,000 คนต่อวันช่วงไฮซีซั่น เฉพาะสวนของ I Love Flower Farm มียอดจองเข้าชมช่วงไฮซีซั่นราว 2 หมื่นคนในช่วง 5 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563”
นางสาวณวิสากล่าวต่อว่า เกษตรกรผู้ปลูกไม้ตัดดอกในพื้นที่ตำบลเหมืองแก้วส่วนใหญ่เปิดสวนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมถือเป็นรายได้เสริมและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และเกือบทุกสวนราว 150-200 ไร่ในอำเภอแม่ริมทั้งตำบลเหมืองแก้วและตำบลโป่งแยงส่งไม้ตัดดอกมาขายให้กับ I Love Flower Farm
ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไม้ตัดดอกส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีตลาดหลักคือกลุ่มออร์แกไนเซอร์ที่จัดงานอีเวนต์แต่งงาน ทั้งตลาดกัมพูชา เมียนมา และไทย ปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายเกษตรกรปลูกไม้ตัดดอกไปใน 4 อำเภอ คือ อำเภอแม่วาง จอมทอง แม่แจ่ม และสะเมิง
แม่โจ้เปิดเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ
นายดำรงค์ องอาจ นายกสมาคมการบินภาคเหนือ เจ้าของสนามบินเชียงใหม่แอร์สปอร์ต อำเภอสันกำแพง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดพื้นที่แอร์สปอร์ตฟาร์มที่ประกอบด้วยสวนดอกไม้ เรือประดับดอกไม้ โซนถ่ายภาพที่นักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสสวนดอกไม้ที่สวยงามพร้อมถ่ายภาพเครื่องบินได้ในพร้อม ๆ กัน
รวมถึงส่วนบริการร้านอาหาร การบินชมทัศนียภาพ เป็นต้น โดยการเข้าชมทางสนาม ให้ความสำคัญกับการคัดกรองตามมาตรการป้องกันโควิด เพื่อให้สนามบินเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ด้านการท่องเที่ยวของสันกำแพง
ขณะที่ล่าสุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้เตรียมเปิดฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ Maejo Open Farm 2021 เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ สามารถชมฟรีทั้งแบบ online และ walk in ระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เตรียมเปิดฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือ Maejo Open Farm 2021 : Online ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ รองรับนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามาเยี่ยมชม
จัดเป็น land mark และจุด check in แห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ปรับให้เป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่ new normal ซึ่งสามารถเข้ามาท่องเที่ยวแบบ online และ walk in เข้าเยี่ยมชมสถานที่จริงได้ โดยแบ่งพื้นที่การจัดงานเป็น 2 โซน คือ โซนภายในมหาวิทยาลัย และโซนฟาร์มมหาวิทยาลัยบนเนื้อที่กว่าพันไร่ โดยจะได้พบกับ 8 ฐานเรียนรู้ไฮไลต์ ที่ต้องเยี่ยมชม
ในส่วนไฮไลต์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้แก่ การจัดแสดงพันธุ์ไม้ฟอกอากาศหลายสายพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดสารพิษจากหมอกควัน แปลงดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ดอกบานชื่น ดอกทานตะวัน ดอกคอสมอส ดอกมาร์กาเร็ต รวมถึงแปลงปลูกกัญชาอินทรีย์ จำนวน 16,700 ต้น
ซึ่งเป็นแปลงปลูกกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมการแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ร่วมวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการปลูกแบบอินทรีย์ ทั้งในระบบปิดและระบบเปิด
อย่างไรก็ตาม กระแสในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนใหญ่สวนดอกไม้ในพื้นที่ยังเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ บางส่วนได้ปิดชั่วคราว ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด เป็นความท้าทายของธุรกิจสวนดอกไม้ว่าจะสะพรั่งหรือห่อเหี่ยวท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19