วีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ดันรัฐปลุกเศรษฐกิจ-ลงทุนเมืองอุดร บูมฮับโลจิสติกส์-ไมซ์ซิตี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบระยะยาวต่อทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศลึกลงไปถึงระดับจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาค

อย่างอุดรธานีหนึ่งในจังหวัดภาคอีสาน ศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ CLMV ต่อกับจังหวัดหนองคาย มีการค้าขายผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว นครหลวงเวียงจันทน์ ก็จำต้องหยุดชะลอตัวไป ซึ่งคนจาก สปป.ลาว นิยมเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

รวมถึงเข้ามารับการรักษาพยาบาลในจังหวัดอุดรธานีเป็นจำนวนมาก เพราะมีระยะทางห่างกันประมาณ 60 กิโลเมตรเท่านั้น

“วีรพงษ์ เต็งรังสรรค์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 การลงทุนในภาคธุรกิจและการบริโภคของภาคประชาชนลดลงอย่างมาก

โดยเฉพาะช่วง lock down การส่งออกเริ่มติดขัด ไม่สามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้ตัวเลขการค้าลดลงกว่า 40-50% แรงงานจากต่างประเทศกลับคืนถิ่นเข้ามาในจังหวัดเป็นจำนวนมาก

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจมีการปรับตัว ผู้ประกอบการหลายรายหันมาใช้ระบบ social media มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจของตนเองเดินหน้าต่อได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหารทั้งรับ-ส่ง การซื้อของออนไลน์ ธุรกิจขนส่ง และเกิดธุรกิจใหม่อีกหลากหลายที่ใช้ต้นทุนไม่สูงนัก ไม่ต้องมีหน้าร้านก็สร้างรายได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือช็อปดีมีคืน รวมถึงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ผู้ประกอบการในจังหวัดอุดรธานีจึงไม่มีการปรับลดพนักงานลง

ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจในปี 2564 ยังคงทรงตัวเทียบเท่ากับปี 2563 ที่ผ่านมา ทิศทางอยู่ในลักษณะการประคองตัว ไม่มีการลงทุนหรือการจ้างงานเพิ่ม ถึงแม้จะมีข่าวคราวว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเข้ามาในช่วงกลางปีนี้ก็ตาม

“แม้จะมีวัคซีนเข้ามา การเดินทางหรือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีทันใดแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศก็ยังไม่สามารถทำงาน ทำเงินได้คล่องตัว สถานการณ์ดังกล่าวจึงยังคงขาดรายได้มากระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดพอสมควร

แต่ถ้าเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นก็จะเป็นปัจจัยสำคัญให้ภาคเอกชนพร้อมจ้างพนักงานและกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ในโครงการจ้างงานได้ และหากมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs soft loan ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ ก็จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในการลดต้นทุนประคองธุรกิจต่อไป และเริ่มฟื้นฟูธุรกิจได้”

“วีรพงษ์” บอกว่า ปัจจุบันในช่วงเริ่มต้นปี 2564 ผู้ประกอบการธุรกิจพยายามควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากยิ่งขึ้น

และต้องเตรียมเงินสดไว้สำหรับหมุนเวียนในธุรกิจตลอด ต้องดูแลสต๊อกให้คงค้างน้อยที่สุด ยอมขายสินค้าในราคาที่ถูกลง รวมถึงขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น แต่การจะพัฒนาภาคธุรกิจและผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้เติบโตขึ้นได้ต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานภายในจังหวัดไว้ให้ดีด้วย

โดยจังหวัดอุดรธานีนับว่ามีจุดเด่นและศักยภาพพอสมควรในการดึงดูดนักลงทุน ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความเป็น smart city การส่งเสริม MICE city อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ และขยายผล NeEC ให้มาครอบคลุมถึงจังหวัดอุดรธานีด้วย

ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางด้านถนน ระบบรางรถไฟ ให้สามารถเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแหลมฉบัง มาบตาพุด เชื่อมต่อไปยังทางตะวันตก ตะวันออก และขึ้นสู่ทางเหนือ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการลงทุน และจะสร้างให้อุดรธานีเป็นโลจิสติกส์ฮับได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังอยากให้ภาครัฐส่งเสริมภาคเกษตรด้วย

“ในจังหวัดอุดรธานีเรามีศูนย์ AIC : Agritech Innovation Center อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จะเป็นศูนย์ที่สามารถต่อยอดการพัฒนาการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม และมุ่งพัฒนาการเกษตรไปในเรื่องเกษตรปลอดภัย สู่ความเป็นเกษตรอินทรีย์

ถ้ามีระบบชลประทานครอบคลุมจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับเกษตรกรได้ สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเรียนรู้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกด้วย เช่น ปรับสู่การเป็น smart farmer ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ มาช่วยในการผลิต ใช้ application มาช่วยในการวางแผนการเพาะปลูกหรือดูแลผลผลิตระหว่างการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม “วีรพงษ์” บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น บางส่วนยังสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทำให้ภาพรวมการลงทุนของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอด การบริโภคของภาคประชาชนอาจเกิดการชะลอตัวลงและไม่คึกคักเท่าที่ควร

แต่นักธุรกิจในจังหวัดอุดรธานีมองว่าเป็นความตระหนกตกใจในช่วงระยะเวลาสั้น และจะสามารถผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้ รวมทั้งเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาหมุนเวียนต่อได้เหมือนเดิม