ฟาร์มหมูใต้ทิศทางดีขยายการเลี้ยงเพิ่ม 10%

ผู้เลี้ยงหมูภาคใต้ส่งสัญญาณปี’64 ขยายการเลี้ยงเพิ่ม 10% หรือเพิ่มเป็น 1.7 ล้านตัว พร้อมถอดโมเดลป้องกันไวรัสโควิด-19 นำมายกระดับมาตรการป้องกันโรค ASF เข้มข้น ชี้เตรียมจับตา “จีน-เวียดนาม-กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา” เริ่มพื้นตัว คาดจะกลับมาเลี้ยงช่วงปลายปีนี้ อาจส่งผลต่อทิศทางราคาสุกรในไทย

นายปรีชา กิจถาวร กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคใต้ปี 2564 ไตรมาส 1 และ 2 มีทิศทางที่ดี

โดยผู้เลี้ยงส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือประมาณ 1.7 ล้านตัว จากปัจจุบันมีแม่พันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ประมาณ 80,000 แม่พันธุ์ ส่วนทิศทางราคาคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเฉลี่ยกว่า 72 บาท/กก.

เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักปรับขึ้นประมาณ 3-5% ทั้งกากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ข้าวโพด ประกอบกับผู้เลี้ยงสุกรแต่ละฟาร์มได้ถอดโมเดลป้องกันไวรัสโควิด-19 นำมาเพิ่มมาตรการยกระดับและมีวินัยในการดูแลป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) อย่างเข้มข้น ทำให้ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/ตัว

สำหรับทิศทางสุกรในปี 2564 โดยภาพรวมทั้งประเทศ จากการรายงานของงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าผลการผลิตสุกรมีปริมาณ 20.50 ล้านตัว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณ 20.45 ล้านตัวของปี 2563

หรือร้อยละ 0.24 ซึ่งมาจากปัจจัยที่ราคาสุกรมีชีวิตมีเหตุจูงใจ จึงได้ส่งผลต่อการขยายการผลิต อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการฟาร์ม ตลอดจนถึงการป้องกันโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้การเลี้ยงสุกรมีปริมาณเพิ่มขึ้น

สำหรับการตลาดและการบริโภคในปี 2564 นั้น คาดว่าการบริโภคสุกรมีปริมาณ 1.31 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.30 ล้านตันของปี 2563 หรือร้อยละ 0.77

โดยสาเหตุมาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทางด้านการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการฟื้นตัวขึ้นจึงทำให้ความต้องการการบริโภคเนื้อสุกรได้ปริมาณเพิ่มขึ้น

นายปรีชากล่าวต่อไปว่า สำหรับการส่งออกสุกรของไทยในปี 2564 คาดว่าการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละและเนื้อสุกรแปรรูปจะลดลงเพียงเล็กน้อยหรือใกล้เคียงกับปี 2563 เพราะตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

แต่ขณะเดียวกันประเทศที่ผลิตสุกรได้รับความเสียหายอยู่ระหว่างกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้วจากการระบาดของโรค ASF ในขณะที่การส่งออกสุกรมีชีวิตโดยเฉพาะของไทย คาดว่าจะทรงตัว

เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านที่ผลผลิตสุกรได้รับความเสียหายจากโรค ASF ยังคงมีความต้องการนำเข้าสุกรมีชีวิตอยู่ แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าราคาสุกรมีชีวิตเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ปริมาณการผลิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้ราคาที่ผู้เลี้ยงขายได้จึงอยู่ในภาวะทรงตัว

“ปี 2560-2562 โรค ASF ที่ระบาดในประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา ส่งผลให้สุกรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากแต่ตอนนี้ทั้ง 3 ประเทศกำลังฟื้นตัว และคาดว่าจะกลับมาเลี้ยงได้ในช่วงปลายปี 2564

ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรไทยจะต้องเฝ้าวิเคราะห์ว่าจะส่งผลต่อการส่งออกและราคาสุกรไทยหรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้เลี้ยงไทยส่งออกสุกรไปยัง 3 ประเทศปริมาณมาก”

ทางด้านราคาสุกรนั้น ที่ผู้เลี้ยงขายได้ในปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ราคา 72.00 บาท/กก. โดยสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยที่ 66.52 บาท/กก. ของปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.24 และราคาในปี 2564

คาดว่าราคาจะใกล้เคียงกับปี 2563 เนื่องจากความต้องการสุกรมีชีวิตยังเพิ่มปริมาณขึ้นมากจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ส่งผลให้ราคาที่ผู้เลี้ยงขายได้ปรับตัวสูงขึ้น หากพิจารณาตัวเลขต้นทุนการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 ราคา 68 บาท/กก. และจะสามารถขายได้กำไรประมาณ 500 บาท/ตัว หรือประมาณ 2-3 บาท/กก.

ส่วนผลกระทบจากโรคระบาดในสุกรอื่น ๆ นั้น แม้ว่าในปัจจุบันการจัดการฟาร์มสุกรจะมีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีขึ้นก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดในสุกรได้เช่นกัน

คือโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) โรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) เป็นต้น จะส่งผลให้ผลผลิตสุกรเสียหาย โดยเฉพาะฟาร์มสุกรที่ยังมีการจัดการฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐานได้คุณภาพ ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบ

ประกอบกับประเทศไทยยังไม่ได้รับการรับรองให้ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) จึงเป็นข้อจำกัดการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ และเนื้อสุกรแปรรูปไปต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนอาหารสุกร เป็นต้นทุนที่สูงที่สุดในการผลิตสุกร

คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของต้นทุนการผลิต ซึ่งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงมีความผันผวนตลอดเวลา เช่น ราคากากถั่วเหลืองในชิคาโก ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 7 ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยลดลง ตลอดจนเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภค ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคสุกรในประเทศให้ลดลงได้