เชียงใหม่ กางแผนแก้วิกฤตไฟป่า-ฝุ่นควัน-PM 2.5 ปี64

วันนี้ (26 มกราคม 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่า นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแถลงเรื่อง การบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เน้นย้ำให้ความสำคัญเชิงพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้านทุกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป้าหมายปี 2564 ฝุ่นควันไฟป่าในแต่ละพื้นที่จะต้องลดลงให้ได้ 25%

นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งแผนการจัดระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยที่ผ่านมาได้ให้ อปท. 400 กว่าแห่งจัดทำแผนชุมชน ล่าสุด ได้ตรวจดูแผนต่างๆของชุมชนเกือบทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งวางเครือข่ายชุมชนกว่า 20,000 คน ที่จะเป็นเครือข่ายหลักในการช่วยดูปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ได้ให้แต่ละ อปท.จัดทำงบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน เพื่อนำเม็ดเงินไปสนับสนุนคนดับไฟและเพื่อทำแนวกันไฟ

นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวถึงการแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหาไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสั่งการของกรมป่าไม้ โดยเฉพาะประเด็นการลดปริมาณเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การชิงเก็บ และการทำแนวกันไฟ เพื่อที่จะเป็นการลดโอกาสในการเกิดไฟป่าในพื้นที่ให้ลดลง หรือหากเกิดไฟป่าขึ้น ไฟก็จะมีความรุนแรงน้อยลง สามารถควบคุมไฟได้โดยง่าย

สำหรับการชิงเก็บ เป็นการเก็บเอาใบไม้ เศษไม้หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี โดยนำมาอัดเป็นก้อน ล่าสุด มีปริมาณที่ทำได้ทั้งหมด 60 ตัน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำเสวียน หรือคอกเก็บใบไม้เสวียน ซึ่งการจักสานไม้ไผ่ให้เป็นวงกลม มีขนาด 1.5 เมตร ความสูง 1 เมตร มีชุมชนที่ร่วมทำจำนวน 239 เครือข่ายๆละ 30 เสวียน ล่าสุด ทำเสวียนไปแล้วรวม 7,000 แห่ง สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้กว่า 363 ตัน

ส่วนการจัดทำแนวกันไฟ มีขนาดความกว้าง 8-10 เมตร โดยจะกำจัดเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดไฟป่าออกไป เช่น ใบไม้ หญ้า เพื่อตัดช่วงความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง เป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไปในพื้นที่อื่น โดยดำเนินการเป็นแนว กว้าง 8-10 เมตร ระยะทาง 720 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 112,320 ไร่ รวมถึงจัดทำเส้นทางลำลอง ทางตรวจการ ป้องกันไฟ ให้ชุมชนลาดตระเวนเป็นทางตรวจการณ์ป้องกันไฟป่า และเป็นแนวกันไฟได้อีกทางหนึ่ง ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 90 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 14,040 ไร่ นอกจากนี้ ได้จัดทำแนวกันไฟ ที่สามารถควบคุมพื้นที่วิกฤตได้แล้ว 423 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 126,360 ไร่

นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ในพื้นที่เกษตร) ปี 2564 มีวัสดุเหลือใช่ทางการเกษตรจำนวน 778,398 ตัน (1,094,854 ไร่) โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ร้อยละ 75 (583,780 ตัน) บริหารจัดการเผา ร้อยละ 15 (115,458 ตัน) และปล่อยย่อยสลายตามธรรมชาติ ร้อยละ 10 (79,160 ตัน)

ทั้งนี้ พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ของจังหวัดเชียงใหม่จะมีจำนวนราว 319,950 ตัน (พื้นที่ 405,000 ไร่) ข้าวนาปี 317,850 ตัน (พื้นที่ 489,000 ไร่) ไม้ผล (ลำไยในฤดู) 140,598 ตัน (พื้นที่ 200,854 ไร่) โดยได้วางแผนโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรในปี 2564 นี้ เป้าหมายเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา 540 ราย พื้นที่ 8 อำเภอ (ชุมชนละ 60 ราย) และพื้นที่เกษตรปลอดการเผา 6,750 ไร่ ในพื้นที่ต้นแบบ 9 แห่ง/ชุมชน