สวนกล้วยไม้ 9 จังหวัด ปิดกิจการสูญ 6 พันล้าน

ผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้กระทบหนัก ประกาศเลิกกิจการ 70% สูญรายได้ 6,000 ล้านบาท รุกกำลังซื้อภายในประเทศลดลง ส่งออกค่าระวางแพง 2-3 เท่า ราคาตกต่ำเหลือช่อละ 60-80 สต. ร้องรัฐบาลเยียวยา 20,000 บาทต่อไร่ คาดใช้เวลา 2 ปีตลาดกล้วยไม้ฟื้นตัว

นายพยงค์ คงอุดมทรัพย์ เจ้าของสวนแอ๊ดวานซ์ การ์เด้น ดีไซน์ & ประธานสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ต่อเนื่องถึงการระบาดรอบใหม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจกล้วยไม้

ถือว่าเป็นวิกฤตหนักที่รุนแรงที่สุดของผู้ประกอบการกล้วยไม้ สร้างมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท จากที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีการส่งออกกล้วยไม้ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันเกษตรกรมีการรื้อแปลงทิ้งประกาศเลิกกิจการกว่า 70%

เนื่องจากประคับประคองธุรกิจไปไม่ไหวเพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ ทั้งค่าแรงพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปุ๋ย ฯลฯ ในที่สุดเกษตรกรหรือผู้ประกอบการปลูกกล้วยไม้จะเริ่มหายไป

“สหกรณ์ดูแลผู้ประกอบการกล้วยไม้ทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และปทุมธานี มีสมาชิกหลายพันคน มีผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ธุรกิจกล้วยไม้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน

ตอนนี้ชาวสวนกล้วยไม้ลำบากกันมาก อีกทั้งยังเจอน้ำทะเลหนุน น้ำในเขื่อนก็จะหมด กลายเป็นน้ำเค็มหนุนเข้ามาในพื้นที่ไม่สามารถนำมาใช้รดกล้วยไม้ได้ ซึ่งทางสหกรณ์ได้พยายามช่วยเหลือให้ชาวสวนพยุงธุรกิจไปให้ได้”

ADVERTISMENT

นายพยงค์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากล้วยไม้ถือว่าเป็นสินค้าอีกหนึ่งชนิดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และอันดับ 1 ของโลกที่มีการส่งออก เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาโดยการจ่ายค่าชดเชยสวนกล้วยไม้ 20,000 บาทต่อไร่

ซึ่งทางสหกรณ์ได้มีการยื่นเรียกร้องไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 แต่ไม่มีผลตอบรับกลับมา ครั้งที่เจอวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ตอนนั้นรัฐบาลมีการเยียวยาและธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งและสร้างรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมหาศาล แต่ในคราวนี้ธุรกิจกำลังล้ม

ADVERTISMENT

และหากไม่มีการเยียวยาคงล้มไปเกือบหมด ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเหลียวแลและหันมามองธุรกิจนี้บ้างเพราะผู้ประกอบการกล้วยไม้ที่มีรายได้ก็เสียภาษีเหมือนกัน

“อยากจะเป็นเสียงสะท้อนจากชาวสวนกล้วยไม้ไปถึงรัฐบาลว่า สิ่งที่เรียกร้องมันไม่ได้เยอะเลยกับการที่จะประคองอาชีพกล้วยไม้ให้คงอยู่ต่อไป เราเข้าใจว่ารัฐบาลก็ลำบากเพราะต้องกู้เงินมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจในประเทศ

และไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ทุกคนก็ลำบากเพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะหายเมื่อไหร่ ก็อยากจะให้โรคโควิด-19 หายไปเร็ว ๆ แล้วเรามาเริ่มต้นกันใหม่ไม่ว่าอาชีพไหนก็คนไทยด้วยกัน”

นายสุวิทชัย แสงเทียน เจ้าของสวนกล้วยไม้บ้านโป่งออร์คิด & ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกล้วยไม้ จ.ราชบุรีกล่าวว่า ภาพรวมของตลาดกล้วยไม้ในประเทศตอนนี้ได้รับผลกระทบเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

โดยตลาดในประเทศที่ผ่านมาจะนำดอกกล้วยไม้ไปไหว้พระ ซึ่งยังมีการซื้อขายปกติ แต่ถือว่าขายได้ไม่มาก ด้านการบริโภคใช้ในงานอีเวนต์ อาทิ งานแต่งงาน งานศพ แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ

ส่วนการส่งออกสามารถระบายออกไปได้ปกติในตลาดจีนและตลาดเพื่อนบ้านในแถบใกล้เคียง แต่ฝั่งโซนยุโรปยังส่งออกได้น้อย ทำให้ยอดจำหน่ายกล้วยไม้ลดลงเป็นเท่าตัว ผู้ประกอบการต้องหันมาส่งเสริมการบริโภคในประเทศ แต่ก็ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด

เพราะปกติปริมาณการส่งออกที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้แบ่งสัดส่วนไว้ประมาณ 50% ขายตลาดภายในประเทศ 50% แต่ลักษณะของสวนที่เลี้ยงกล้วยไม้ได้ดีมีคุณภาพ ส่งออกประมาณ 70% และขายในประเทศประมาณ 30% ซึ่งการผลิตยังคงเดิม แต่ความต้องการน้อยลง

“ตอนนี้กำลังเจอปัญหาเรื่องการส่งออก เพราะค่าขนส่งแพงขึ้น 2-3 เท่าตัวถึงเราจะมีสินค้ามากเพียงใด แต่เครื่องบินมีจำกัด ทำให้ยอดจำหน่ายลดลงเพราะเป็นเครื่องบินขนส่ง

ซึ่งปกติจะเป็นเครื่องบินที่มีผู้โดยสารและขนสินค้าไปใต้ท้อง เมื่อไม่มีคนเดินทางไปด้วย ค่าขนส่งก็แพงขึ้นเป็นเรื่องปกติ เป็นไปตามสถานการณ์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบในเรื่องของราคาที่ตกต่ำลง จากเดิมเคยขายในราคา 1-2 บาท/ช่อ ปัจจุบันขายได้ 0.60-0.80 บาท/ช่อ เนื่องจากกล้วยไม้ล้นตลาด”

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการประกาศเลิกกิจการ ส่วนใหญ่เป็นสวนขนาดเล็กที่มีพื้นที่ประมาณ 5-20 ไร่ ส่วนสวนขนาดใหญ่มีการลดพื้นที่การปลูกลง 20-30% เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง อาทิ ค่าแรงงาน

ตอนนี้บางรายก็ปล่อยให้โรงเรือนว่างโดยที่ไม่มีการรื้อถอน เพื่อให้มีการใช้แรงงานน้อยลง และดูแลในส่วนที่ยังคงมีการปลูกกล้วยไม้อยู่ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ขยายกลับไปยังโรงเรือนเดิม

“จากการสังเกตมีผู้ประกอบการเริ่มถอดใจและจะไม่ทำต่อประมาณ 10-20% และถ้ากระแสกล้วยไม้ยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติภายในกลางปี’64 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเลิกกิจการเพิ่มขึ้นสูง

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง การบริโภคค่อย ๆฟื้นกลับมา คาดว่าไม่เกิน 2 ปีตลาดกล้วยไม้จะฟื้นตัวเพราะจากการเลื่อนงานอีเวนต์ที่สะสม”