ผวาโควิดลามสมุทรสงคราม “มหาชัย” ปรับแผนคุมแรงงาน

เครดิตภาพ : สนง.ประชาสัมพันธ์สมุทรสาคร

สมุทรสงครามผวาโควิด-19 ระบาด หลังค้นพบกลุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์ใหม่จากคนเดินทางไปทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับข้ามจาก “แม่กลอง” เข้าไป “มหาชัย” วันละ 2,400 คน กระจายอยู่ในโรงงาน-สถานประกอบการ 690 แห่ง รวมคนใกล้ชิดที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอีก 8,800 คนที่ต้องเฝ้าระวัง หลังเกิดเคสแม่ค้าขายหมูติดเชื้อ ผู้ว่าสมุทรสงครามเชื่อมั่นคุมอยู่

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครจนต้องออกประกาศมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยการสั่งห้ามลูกจ้างสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน-เขตพื้นที่ควบคุม ห้ามลูกจ้างเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่ชุมชน ใน ต.ท่าทราย-ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร

จนนำมาซึ่งการบังคับใช้มาตรการ bubble & seal หลังจากที่พบการติดเชื้อสะสมไปแล้วถึง 15,215 คน ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ล่าสุดความกังวลว่าการติดเชื้อจะแพร่ระบาดไปยังจังหวัดข้างเคียงอย่างจังหวัดสมุทรสงครามก็เกิดขึ้น เมื่อมีการค้นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เกิดจากกิจกรรมการเดินทางไปทำงานแบบไปกลับข้ามจังหวัดมากกว่า 2,400 คน

ทำให้จังหวัดสมุทรสงครามต้องกลับมาใช้มาตรการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมและค้นหาเชิงรุกอย่างเข้มข้นในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เมือง อัมพวา และบางคนที

แม่กลองเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จังหวัดมีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มคนสมุทรสงครามที่เข้าไปทำงานในจังหวัดสมุทรสาครแบบเช้าไป-เย็นกลับมีจำนวน 2,426 คน แบ่งเป็นคนทำงานในโรงงาน 50% กระจายอยู่ในสถานประกอบการถึง 690 แห่ง

ส่วนที่เหลืออีก 50% เป็นพ่อค้าแม่ค้าและคนขับรถ รวมถึงคนในครอบครัวของกลุ่มนี้อีกประมาณ 8,800 คน ซึ่งจังหวัดถือเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย

2) กลุ่มคนสมุทรสาครที่ข้ามเข้ามาทำงานในจังหวัดสมุทรสงคราม ในส่วนนี้มีประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ตามส่วนราชการต่าง ๆ -เจ้าหน้าที่ อบต. และเทศบาล เฉพาะส่วนข้าราชการในช่วงแรกทางจังหวัดได้ให้หยุดทำงานที่บ้าน หรือ work from home และมาส่งงานบ้างเป็นครั้งคราว รวมไปถึงการเหลื่อมเวลาการทำงานเพื่อลดความเสี่ยง

ที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้าไปตรวจเชิงรุกคนกลุ่มนี้แล้ว 2,300 คน หรือเกือบจะ 100% แล้ว ผลตรวจค่อย ๆ ทยอยออกมา ทำให้ช่วงนี้จังหวัดพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันละ 4-6 คน “ถือว่าไม่ได้มาก” เฉลี่ยแล้วพบคนที่ติดเชื้อไม่ถึง 1% ของคนที่ไปทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร เพราะจังหวัดมีมาตรการล็อกดาวน์คนกลุ่มนี้มาตั้งแต่ต้นจนสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ดี

ส่วนการพบกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่ตอนนี้ยังรอผลตรวจอีกประมาณ 1,000 กว่าคน เหลือตรวจเชิงรุกอีกไม่กี่คน ส่วนคนในครอบครัว 8,800 กว่าคน

จังหวัดไม่ได้เข้าไปตรวจเชิงรุกทั้งหมด เพราะการตรวจจะรู้ผลแค่เพียงวันนี้ แต่ถ้าพรุ่งนี้กลับเข้าไปทำงานที่จังหวัดสมุทรสาครอีก กลับมาพบปะคนในครอบครัวก็เสี่ยงที่จะติดเชื้ออีก ดังนั้นทางจังหวัดจะตรวจหาเชื้อคนในครอบครัว เมื่อคนที่เข้าไปทำงานที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วติดโควิดกลับมา

ใช้ อสม.เฝ้าระวังพิเศษ

เฉพาะข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนสมุทรสงครามข้ามไปทำงานในสมุทรสาครนั้น ทางจังหวัดเพิ่งทำการสำรวจหลังพบโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่เมื่อเกิดเหตุการณ์จังหวัดสมุทรสาครเป็นจุดแพร่ระบาดใหญ่มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยความที่จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ติดกับจังหวัดสมุทรสาคร

ส่งผลให้คนทั้ง 2 จังหวัด “มีความใกล้ชิดกันมาก” จนเกิดความกังวลกันว่า จะพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เพราะมีพื้นที่ติดต่อกัน จากการเข้าไปสำรวจพบว่าคนกลุ่มนี้มีบ้านพักอาศัยกระจายอยู่ใน 3 อำเภอ คือบางคนที, อัมพวา และ อ.เมืองสมุทรสงคราม

ดังนั้นทางจังหวัดจึงทำการแยกคนกลุ่มนี้ออกมาแล้ว “ล็อกดาวน์คนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้น” โดยใช้วิธีให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปล็อกดาวน์ เมื่อทำงานแล้ว อย่าไปแวะที่ไหน ไปทำงานได้ รัฐบาลไม่ได้ห้าม และไม่มีมาตรการเยียวยา ทุกคนต้องไปทำงานเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัวของตัวเอง

รวมไปถึงญาติพี่น้องอีกประมาณ 8,800 คน ที่กระจายไปทำงานในสถานที่ต่าง ๆ เช่นกัน ทางจังหวัดก็เข้าไปล็อกโดยแจ้งไปยังที่ทำงานของคนเหล่านี้ด้วย ส่งผลให้โรงงานและบริษัทกลัวถูกสั่งปิดหากมีคนติดเชื้อโควิด-19 ขึ้น

ดังนั้นโรงงานแต่ละแห่งก็จะมีมาตรการเฝ้าระวัง เมื่อกลับมาถึงบ้านทุกคนต้องเข้าระบบ โดยทุกวันจะมี อสม.ไปวัดอุณหภูมิทุกคนในครอบครัว 11,226 คน อย่างไรก็ตามยอมว่าจังหวัดสมุทรสงครามความเสี่ยงต้องมีแน่นอน เพียงแต่ว่ายังควบคุมได้อยู่ในกลุ่มที่กำหนดแล้ว ไม่ได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น

“เราเป็นจังหวัดเดียวที่มีการเฝ้าระวังแบบพิเศษ โดยให้ อสม.ไปให้ความรู้ในแต่ละบ้านเลยว่า เมื่อบ้านนี้มีคนไปทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้มาติดคนที่บ้าน อย่างน้อยให้ความรู้ประชาชน จะได้ระมัดระวัง ที่ผ่านมาคนสมุทรสงครามกระจายกันไปทำงานหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร มีจุดใหญ่จุดเดียวที่ไปทำงานโรงงานเดียวกัน 30-40 คน ซึ่งในกลุ่มนี้พบผู้ติดเชื้อไปแล้ว 8 คน เพราะไปทำงานในโรงงานใหญ่ที่มีการระบาดมาก

แต่เมื่อมาตรวจคนในบ้านบางบ้านคนที่ไปทำงานสมุทรสาครติดเชื้อ แต่คนในบ้านตรวจแล้วไม่พบเชื้อเพราะปฏิบัติตัวดี ถือว่าจังหวัดสมุทรสงครามควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิดได้ พบก็จำนวนน้อยมากเพราะเราแยกหัว-แยกท้ายตั้งแต่ต้น เราล็อกดาวน์คนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นประชาชนทั่วไปของผมปลอดภัยหมดแล้ว ผมแยกส่วนตั้งแต่แรก”

ส่วนโรงงานที่มีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ทางจังหวัดได้มีการออกมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามมีแรงงานต่างด้าวเกือบ 20,000 คน ถูกสั่งให้ล็อกดาวน์มาตั้งแต่ต้น คือทำงานได้ถ้าอยู่ในโรงงานและมีการวางระบบโรงงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิมาตั้งแต่ต้น และคีย์ข้อมูลเข้าระบบทั้งหมดวันต่อวัน ออนไลน์มาตลอด

“ส่วนกรณีที่มีข่าวแม่ค้าขายหมูที่อาศัยอยู่อัมพวาถูกระบุว่าเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ไปแพร่เชื้อให้คนอีก 87 คน ใน 5 จังหวัดนั้น ถือเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อน แม่ค้าขายหมูเป็นคนสมุทรสงครามที่ไปติดเชื้อจากตลาดรถไฟมหาชัย จ.สมุทรสาคร

เราไม่ได้เป็นคนที่ไปแพร่เชื้อ ข่าวที่ออกมาทำให้การค้าขายการท่องเที่ยวที่ตลาดอัมพวาได้รับผลกระทบมาก ทางจังหวัดกำลังเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้อนรับตรุษจีน คนที่กำลังจองที่พักก็หายไปหมดเลย”

มหาชัยปรับแผน Bubble ใหม่

มีรายงานข่าวจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาว่า ที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครได้วางแผนการตรวจเชิงรุกเฝ้าระวังอยู่ประมาณ 3,000-5,000 คน บางช่วงมีการตรวจเชิงรุกขยายไปถึง 10,000 คนต่อวันนั้น เป็นเพราะช่วงนั้นจังหวัดตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะตรวจให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2564

และช่วงนั้นมีการขอโควตาประกันสังคมในการที่จะตรวจโควิด-19 เพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้จังหวัดนำโควตาตรงนั้นมาจัดสรรและกระจายการตรวจออกไปอย่างกว้างขวาง สามารถให้บริการตรวจแล็บได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

“ยอมรับว่าในจังหวัดยิ่งตรวจมากก็ยิ่งเจอมากขึ้น ทำอย่างไรจะตรวจครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้ทั้งหมด จนเป็นที่มาของการออกมาตรการ bubble & seal 28 วัน เพื่อควบคุมโรคที่แพร่ระบาดบริเวณพื้นที่สีแดงในเขตอำเภอเมือง 2 ตำบลคือ ท่าทราย กับนาดี และบางส่วนของ ตำบลบ้านเกาะ ไม่ให้แรงงานที่ทำงานในโรงงานไปแพร่เชื้อที่อื่น

ตอนนี้ก็กำลังปรับวิธี bubble ที่แรงงานแยกกันอยู่หลายแห่ง จัดให้เข้าไปอยู่ในหอพักเดียวกันหรือบางโรงงานที่จัดทำสถานที่กักตัว (factory quarantine – FQ) ที่เดิมกักตัวกลุ่มผู้ติดเชื้อก็ให้ย้ายผู้ติดเชื้อออกมาที่โรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร และให้นำคนงานเข้าไปกักตัวอยู่รวมกันอยู่ภายในโรงงานให้ได้มากที่สุด

เพราะคนงานที่อยู่ในกลุ่มที่จะต้องดำเนินมาตรการ bubble & seal มีถึง 50,000 กว่าคนอาจจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด”

ทั้งนี้โรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำเนินการ bubble & seal ทันทีมีอยู่ 7 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอาหารทะเลชื่อดังและโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่