เมืองเลยเตรียมรับอานิสงส์ “อ่างน้ำลาย” กรมชลฯ ทุ่ม 1,000 ล้านดันเศษฐกิจชุมชน

จังหวัดเลยเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคอีสานตอนบน มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาสลับแนวเทือกเขา มีอ่างเก็บน้ำหมานในเขตอำเภอเมืองเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแห่งเดียว

จึงมักประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง กรมชลประทานจึงเร่งผลักดัน “โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน

“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลายเป็นโครงการในพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลและดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบทางสภาพแวดล้อมเบื้องต้น

รวมถึงพูดคุยกับประชาชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ซึ่งได้ร่วมงานกับ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด, บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ทำโครงการได้ทั้งหมด 16,609.54 ไร่ ในเขตบ้านไร่ทาม ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย แบ่งเป็นพื้นที่หัวงานโครงการ 64.41 ไร่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,985 ไร่ ท่อส่งน้ำ 298.14 ไร่ ถนนทางเข้าหัวงาน 9.99 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 13,249 ไร่

ประกอบไปด้วยอาคารหัวงาน อาคารประกอบทางระบายน้ำล้น อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (river outlet) และอาคารท่อส่งน้ำ (irrigation outlet) ซึ่งจะเป็นระบบส่งน้ำแบบท่อและคลองส่งน้ำรูปตัวยูครอบคลุม 2 ตำบลในเขต อ.เมือง จ.เลย ได้แก่ ต.นาอาน และ ต.ชัยพฤกษ์ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์รวม 17,200 ไร่

“เฉลิมเกียรติ” บอกว่า การสร้างอ่างน้ำลายจะสามารถของบประมาณเปิดโครงการได้ในปี 2565 ตัวเขื่อนและระบบส่งน้ำคาดแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ประมาณปี 2566-2568 รวมวงเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ล้านบาทแบ่งเป็นค่าเวนคืนพื้นที่ 2,520 ไร่

ประมาณ 532.65 ล้านบาท และค่าก่อสร้างโครงการไว้ประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถจุน้ำได้ 28 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำรองรับการผลิตประปาอีกประมาณ 9-10 ล้าน ลบ.ม/ปี และวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์แล้วว่าให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน

“นอกจากนี้ โครงการอ่างน้ำลายจะเป็นส่วนช่วยให้การประมงน้ำจืดคงอยู่ต่อไปได้ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และทางกรมชลฯยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาต่าง ๆ

พร้อมวางแนวทางแก้ไขอย่างครอบคลุม เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้ประชาชนกว่า 200 ครัวเรือนที่เสียสละพื้นที่ให้โครงการ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ซึ่งเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้ การแก้ปัญหาจุดกระทบสุสานบรรพบุรุษตามประเพณีวัฒนธรรม”

อย่างไรก็ตาม “ไพเราะ ชุมพล” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านไร่ทาม ต.นาอาน อ.เมืองเลยบอกว่า ชาวบ้านบางส่วนยังกังวลเกี่ยวกับการย้ายออกจากพื้นที่เดิมที่เคยอยู่อาศัย

เพราะยังไม่มีพื้นที่สำรองไว้รองรับ และกังวลว่าเงินชดเชยที่ได้จะไม่คุ้มค่า แต่ก็ไม่ได้คัดค้านโครงการเพราะกรมชลประทานเปิดโอกาสให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปจับจองพื้นที่ทำกินเป็นกลุ่มแรกหลังโครงการแล้วเสร็จ เป็นอีกแนวทางในการทำอาชีพใหม่ ๆ หรืออาจทำประมง เลี้ยงปลากระชัง ทดแทนการทำการเกษตรที่ผลผลิตไม่แน่นอน

“ประดิษฐ์ ปิ่นกระจาย” ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำน้ำลาย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อ่างเก็บน้ำน้ำลายจะถูกเพิ่มให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.เลย

และคาดว่าจะช่วยเสริมภาคการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ประชาชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้จากการท่องเที่ยวหลากหลาย อาทิ การทำเป็นแพริมน้ำ ร้านอาหาร หรือการเปิดบริการอื่น ๆ

เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2-3 กิโลเมตร ติดกับอุทยานภูบ่อบิด ซึ่งเป็นจุดชมทะเลหมอก จากการศึกษาได้มีการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของประชากรและพื้นที่การเกษตรว่าจะได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย