สวนกุหลาบพบพระ ยอดขายวูบ พิษไวรัสฉุดราคา “วาเลนไทน์” ดิ่ง

ชาวสวนกุหลาบพบพระ เดี้ยงพิษโควิดฉุดราคา “วาเลนไทน์” ปี’64 ดิ่ง ยอดขายลดกว่า 70% เกษตรกรส่วนใหญ่แห่ลดพื้นที่ปลูก เบนเข็มปลูกไม้ยืนต้น “ทุเรียน-มะนาว-ผักพื้นบ้าน” ส่งขายตลาดสี่มุมเมือง-ตลาดไท ด้าน “ไร่ปฐมเพชร” ผู้ปลูกรายใหญ่ ยอดขายลดฮวบ 99% ปรับรูปแบบธุรกิจจากตัดดอกสดขาย หันทำ “ดอกไม้สตัฟฟ์” ใส่แพ็กเกจขาย

นายภราดร กานดา เจ้าของ “ไร่ปฐมเพชร” ผู้ปลูกกุหลาบรายใหญ่ อ.พบพระ จ.ตาก เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงวันวาเลนไทน์นี้ หรือ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ราคาดอกกุหลาบตาดว่าจะร่วงลงมาจากปี 2563 เพราะยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

ในปีนี้ยิ่งส่งผลกระทบระยะยาวและหนักกว่าปีที่ผ่านมามาก ตลาดดอกไม้กลายเป็นตลาดที่เปราะบาง จากเดิมมีตลาดกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ตอนนี้ปิดชั่วคราวหลายแห่ง หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายก็ไม่สามารถเปิดตลาดขายได้ สภาพเศรษฐกิจก็ไม่เอื้ออำนวยให้คนอยากซื้อดอกไม้ เพราะถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

สำหรับไร่ปฐมเพชรก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย รายได้จากการทำสวนกุหลาบลดลงถึง 99% ซึ่งได้ปรับรูปแบบธุรกิจจากการปลูกกุหลาบแล้วตัดขายสด หันมาทำดอกไม้สตัฟฟ์ใส่บรรจุภัณฑ์แบบแก้วหรือกุหลาบมหัศจรรย์แทน โดยมีการรับซื้อดอกกุหลาบจากเกษตรกรรายอื่นมาทำด้วย

ซึ่งการขนส่งดอกไม้สตัฟฟ์ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วนสวนกุหลาบปลูกเองก็เปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะหากยังปลูกไว้เพื่อตัดขาย ต้นทุนจะสูงมากและคงทนแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ถึงแม้ความต้องการกุหลาบในช่วงวันวาเลนไทน์จะมีมากกว่าช่วงปกติ แต่เกษตรกรขายดีจริง ๆ แค่ 3-4 วันก่อนวาเลนไทน์เท่านั้น

ด้านนางอรพินทร์ แสงมณี เกษตรอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาขายกุหลาบสดในช่วงวาเลนไทน์ปี 2563 ดอกใหญ่สวมตาข่ายจะอยู่ประมาณ 5-8 บาท/ดอก

ขนาดเล็กลงมาสีแดงและสีขาวประมาณ 1-3 บาท/ดอก สีชมพูประมาณ 1-2 บาท/ดอก และในปี 2564 นี้ราคาน่าจะต่ำลงอีก เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 มีส่วนให้ผู้บริโภคหันไปใช้ดอกไม้ประดิษฐ์ที่อยู่ได้นานกว่า อาจส่งผลให้ช่วงวาเลนไทน์ไม่คึกคัก

ในการซื้อ-ขายกุหลาบของ อ.พบพระ เกษตรกรจะมีตั๋วราคาสำหรับ 1 สัปดาห์ เมื่อตัดกุหลาบส่งขายแล้วต้องรอเวลาอีก 7 วัน โดยไม่มีการประกันราคา เกษตรกรไม่สามารถรู้ราคาของกุหลาบได้ทันทีเพราะราคาจะถูกกำหนดโดยแม่ค้าที่ปากคลองตลาด ฉะนั้น เกษตรกรบางรายเริ่มลดการปลูกกุหลาบลง บางรายเริ่มหันไปปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแซมต้นกุหลาบแล้ว

“นอกจากนี้ เรื่องต้นทุนและราคาที่ไม่สามารถกำหนดได้เองแล้ว ยังมีโรคซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศอีก เช่น ปัญหาฝนตกทำให้เกิดเชื้อราใบจุด ทำให้ใบกุหลาบร่วง โรคจากเพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอน เป็นต้น ทั้งหมดนั้นเป็นปัจจัยทำให้พื้นที่ปลูกกุหลาบของอำเภอพบพระ ซึ่งมีชื่อเสียงในจังหวัดตาก จาก 2,000 ไร่ ลดลงเหลือเพียง 1,000 กว่าไร่ ในปัจจุบัน”

แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบใน อ.พบพระ จ.ตาก เปิดเผยว่า ตนปลูกกุหลาบมากว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูก 50 ไร่ ในปี 2563 ตัดสินใจลดพื้นที่ปลูกเหลือเพียง 5 ไร่ เพราะพิษโควิด-19 กระทบต่อยอดขายกุหลาบประมาณ 70% แต่ก็มีปัญหาเรื่องโรคเชื้อราและหนอนแมลงอยู่มีต้นทุนในการดูแลรักษากุหลาบ 5 ไร่ ใช้เงินประมาณ 10,000 บาท/เดือน เกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบจึงขาดทุนและลดปริมาณการปลูกลงมาก แล้วหันไปปลูกไม้ยืนต้น อาทิ ทุเรียน มะนาว และผักพื้นบ้าน เพื่อส่งไปขายยังตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ดอกกุหลาบจะขายได้อย่างแน่นอน ถึงราคาต้นทุนจะสูงหากดูแลรักษาจนสมบูรณ์ 100% คาดว่าจะขายได้และพอจะมีกำไรอยู่บ้าง ติดอยู่เพียงสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น


หากการระบาดยังคงยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ เกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบรายย่อยจะเริ่มหายไป ได้แต่หวังว่าจุดขายกุหลาบจะกลับมาเปิดตามปกติ โรงแรมหรือกิจกรรมงานต่าง ๆ ที่มักจะสั่งซื้อดอกกุหลาบจะสามารถกลับมาจัดงานได้ตามปกติ