รวิชญ์ วงศ์วรกุล ประธาน YEC แพร่ กางแผนพัฒนาบ้านเกิด-ชูท่องเที่ยวดันธุรกิจ

นับว่าเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ได้ก้าวสู่การทำงานในกลุ่ม YEC แล้ว สำหรับ “รวิชญ์ วงศ์วรกุล” ประธาน YEC หอการค้าแพร่ ปีบริหาร 2564-2565 โดยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเรียนจบก็กลับมาบริหารธุรกิจของครอบครัว เป็นผู้บริหารทำสถานบริการน้ำมัน

หรือธุรกิจปั๊มน้ำมันในนาม ปตท. ในเครือบริษัท เอปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งมี 9 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ 6 สาขา อุตรดิตถ์ 2 สาขา และลำปาง 1 สาขา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธาน YEC จังหวัดแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่พอดี

ปัจจุุบันสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในหลายจังหวัดที่ผ่านมา ทุกกิจการในจังหวัดแพร่ก็ได้รับผลกระทบมาก ผู้ประกอบการหลายรายปรับเปลี่ยนเพิ่มกลยุทธ์ในการมาขายสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

อย่างธุรกิจร้านกาแฟร้านอาหารต้องเปลี่ยนจากรอรับลูกค้าที่จะมานั่งร้าน ไปรอลูกค้าสั่งอาหารผ่านการผูกบัญชีกับ application เพิ่มช่องทางการขาย online เป็นการปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้แทน

“รวิชญ์” บอกว่า สำหรับสมาชิก YEC จังหวัดแพร่ ธุรกิจที่อยู่ในการบริหารของแต่ละคนก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้าคนไม่กล้าเดินทางหรือมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของหน้าร้านเพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19ธุรกิจโรงแรม

ร้านอาหาร ก็ต้องจำกัดลูกค้าเข้าร้าน มีมาตรการควบคุมเวลาเปิด-ปิด จนยอดขายลดลงเสียโอกาสในธุรกิจ บางกิจการต้องชะลอการขยายกิจการจากที่วางแผนไว้แล้ว

ในเวลานี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยืดระยะเวลาชำระ ช่วยจ่ายค่าแรง 50% แก่ผู้ประกันตนในกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นอกจากนี้ในฐานะ YEC คนใหม่ อยากส่งเสริมนโยบายเรื่องการสร้างสำนึกรักบ้านเกิดและพัฒนาบ้านเกิดของตนเองให้มีความเท่าเทียมกับจังหวัดอื่น ๆ ด้วยพลังคิดของคนรุ่นใหม่

“รวิชญ์” บอกว่า ภาพลักษณ์ของจังหวัดแพร่อาจถูกมองว่าเป็นเมืองเล็ก แต่ศักยภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าเมืองอื่นเลย เพราะภาคธุรกิจมีความเข้มแข็งพอสมควร ในกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือกลุ่ม YEC ก็มีสมาชิกมากกว่า 100 คนที่พร้อมผลักดันเมืองแพร่ให้พัฒนาควบคู่ไปกับธุรกิจ การท่องเที่ยว และสร้างความเข้มแข็งทางสังคม รวมถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือสังคมพร้อมกัน

“เราได้ร่วมจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดในการเป็นคณะกรรมการด้านต่าง ๆ ปลูกจิตสำนึกในการเสียสละให้แก่คนรุ่นใหม่ สมาชิกมาจากผู้ประกอบการใหม่และทายาทธุรกิจอายุไม่เกิน 45 ปี นอกจากนี้ได้ร่วมกันวางกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ซึ่งกำลังได้รับความนิยม แม้ว่าไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนจังหวัดอื่น แต่เราจะพัฒนาศักยภาพแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยการโปรโมตให้นักท่องเที่ยวรู้จักจังหวัดเรามากขึ้น จากการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และช่องทางโซเชียลต่าง ๆ”

ตอนนี้มีแนวคิดที่จะนำความรู้เทคนิคการถ่ายภาพที่ได้เรียนรู้มาเฉพาะทาง มาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจ เพื่อนำภาพถ่ายไปต่อยอดสู่การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในยุคโซเชียลมีเดีย เพราะในปัจจุบันการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลที่สุดคือช่องทางโซเชียล สามารถทำได้โดยใช้ต้นทุนไม่มาก แต่ต้องอาศัยทักษะและการนำเสนอที่แตกต่าง

โดยจังหวัดแพร่มีจุดแข็งในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการท่องเที่ยวหรือการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการค้าและธุรกิจอื่นในจังหวัดส่วนมากก็เป็นคนในพื้นที่ สามารถบริหารจัดการและพัฒนาจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้

อย่างไรก็ตาม จังหวัดแพร่ถือเป็นเมืองที่ปลอดโควิด 100% ส่วนที่สามารถทำได้ในปัจจุบันคือทำประชาสัมพันธ์กระตุ้นนักท่องเที่ยวด้วยการโชว์จุดเด่นของเมือง ดึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติออกมาขาย โดยได้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมาช่วยอีกทางก็เป็นสิ่งที่ดี เช่น การเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น