ยางราคาดิ่งต่อเนื่อง สหกรณ์แปรรูปยางสุราษฎร์บอยคอตไม่ร่วมงานประชุม กยท.

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม การประมูลซื้อขายยางพาราที่ตลาดกลางยางพาราทั้ง 3 แห่งในภาคใต้ ปรากฏว่า ราคาตกหมดทุกแห่ง โดยราคาประมูลยางแผ่นดิบที่ตลาดกลางหาดใหญ่ (สงขลา) ได้ราคา 44.38 บาท/กก. ลดลง 0.52บาท/กก. ผู้ชนะประมูล ร้านหนองขรีการยาง ปริมาณยาง 23,955 ก.ก. ที่ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี ได้ราคา 44.58 บาท/กก. ลดลง 0.63บาท/กก. ผู้ชนะประมูล ร้านหนองขรีการยาง ปริมาณยาง 14,300 ก.ก.และที่ตลาดกลางนครศรีธรรมราช (จันดี) ได้ราคา 44.58 บาท/กก.ลดลง 0.63บาท/กก. ผู้ชนะประมูล ร้านหนองขรีการยาง ปริมาณยาง 15,200 กก.ส่วนราคาน้ำยางสด ณ โรงงานพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 43.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงาน ส่วนราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่โรงงานและในท้องถิ่นที่ จ.สงขลา ราคา 43.1 บาท/กก. ลดลง 0.70 บาท/กก. เศษยาง 37 บาท/กก. ลดลง 0.5 บาท/กก. และที่ จ.สุราษฏร์ธานี ราคา 43 บาท/กก.ลดลง 0.50 บาท/กก. เศษยาง 37 บาท ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช ราคา 43.4 บาท/กก. ลดลง 0.40 บาท/กก. เศษยาง 37.1 บาท น้ำยางสด 41.2บาท/กก. เพิ่มขึ้น 0.10 บาท

นายวุฒิ รักษ์ทอง ตัวแทนสหกรณ์พ่วงพรมคร อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเชิญผู้นำสถาบันเกษตรกร 40 แห่งทั่วประเทศที่แปรรูปและพัฒนาผลผลิตยางพารา ไปประชุมเชิงปฎิบัติการ หัวข้อสร้างตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราพัฒนาสู่การส่งออก ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสหกรณ์จาก จ.สุราษฎร์ธานี จะไม่ไปร่วม เนื่องจากเห็นว่า กยท.มีความล้มเหลวในการบริหารงาน และมีผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการฯคนหนึ่งไม่ผ่านการประเมิน

นายวุฒิกล่าวว่า ภายหลังมีการลงขันเงินทุนจาก 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกยางพารา เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเข้าไปประมูลยางพาราในตลาดกลาง แต่กลับทำให้ตลาดยางปั่นป่วนโดยล่าสุดที่ตลาดกลางหาดใหญ่ไม่สามารถเปิดตลาดได้ เนื่องจากมียางแผ่นดิบที่บริษัทร่วมทุนประมูลได้แล้วไม่นำยางออกจากตลาด มีปริมาณกว่า 700 ตัน จึงเรียกร้องให้ กยท. เร่งนำยางออกจากตลาดให้หมดภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ หากทำไม่ได้เราจะดำเนินการขั้นต่อไป

“ถ้าจะอ้างว่าราคายางขึ้นอยู่กับกลไกตลาดก็คงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินภาษีให้กับผู้บริหาร กยท. และให้ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะทำงานบริหารเหมือนรับใช้นายทุน และหลงทางผิดตั้งแต่ให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งแทนที่จะช่วยดันราคาตลาด แต่กลับเหมือนไล่ต้อนเกษตรกรสวนยางให้ไปอยู่ใต้อำนาจนายทุน ซึ่ง กยท.น่าจะสำนึกได้ว่า เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงที่มีกินใช้อยู่ทุกวันมาจากภาษีของเกษตรกรไม่ใช่นายทุน” นายวุฒิกล่าว

นายวุฒิกล่าวและว่า ที่ผ่านมา กยท.ไม่ได้สนใจส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความมั่นคงด้านราคา โดยรัฐบาลและ คสช.เข้ามาบริหารและมีนโยบายแก้ไขปัญหาราคายางพาราโดยส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราใช้งบกว่า 2,000 ล้านบาท และให้สหกรณ์ลงทุนสร้างโรงงาน แต่ถึงขณะนี้ผลผลิตที่แปรรูปของสถาบันเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายได้จนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จึงเชื่อว่างบกว่า 2,000 ล้านบาทเป็นการลงทุนสูญเปล่าและเครื่องจักรที่สหกรณ์ถูกปล่อยไว้เป็นอนุสาวรีย์

 


ที่มา : มติชนออนไลน์