CRCC ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างจีนสนใจร่วมทุนขยายสนามบิน-ท่าเรือน้ำลึก-แลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งทะเล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดชุมพรว่า วันนี้( 23 มี.ค.64) ที่หอหารค้าจังหวัดชุมพร นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร พร้อมกรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดชุมพร ร่วมกันให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (เซาธ์อีส เอเชีย) จำกัด (China Railway Construction (Southeast Asia) Co., Ltd.) หรือ CRCC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลจีนกับเอกชน (รัฐวิสาหกิจ) ประกอบด้วย Mr. Liu Qilin, Mr. Luo Wen, Mr. Chen Gui โดยมี นายประธาน อินทรียงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส และ นายเมฆา สิริชัยรุ่งเรือง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด CRCC เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย ทำหน้าที่ล่าม เป็นผู้ประสานงาน

โดยฝ่ายหอการค้าจังหวัดชุมพรได้บรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัดชุมพรให้คณะผู้แทนจาก CRCC รับทราบ ส่วนฝ่าย CRCC ก็ได้บรรยายสรุปผลงานเกี่ยวกับการรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ทั่วโลกให้หอการค้าจังหวัดชุมพรได้ทราบ

จากนั้น เวลา 11.00 น.คณะผู้บริหารหอการค้าจังหวัดชุมพร ได้นำคณะผู้แทนจาก CRCC เข้าคารวะ นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร โดยผู้แทนจาก CRCC กล่าวโดยสรุปว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะผู้ว่าฯ ชุมพร ซึ่ง CRCC รับทราบถึงโครงการหลายโครงการของจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง จึงรู้สึกสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุน เนื่องจาก CRCC เป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆเป็นอันดับ 54 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของจีน มีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 200,000 คน ปีที่ผ่านมารับงานทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งการก่อสร้างทางรถไฟ อาคารขนาดใหญ่ และท่าเรือ ปัจจุบันกำลังเริ่มโครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาด มีทั้งที่เข้ารับผิดชอบการออกแบบและร่วมลงทุนด้วย มีการผลิตเครื่องเจาะภูเขาเพื่อทำอุโมงค์ พร้อมทั้งมีการร่วมสำรวจและออกแบบโครงการต่างๆ มีสาขาทั่วโลก 122 แห่ง

CRCC เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2012 รับงานทั้งการก่อสร้างตึก ทางรถไฟ ถนน และท่าเรือขนาดใหญ่ ในไทยก็มีอาคาร G-TOWER ที่พระราม 9 โครงการ High Speed Train เชื่อมต่อ 3 สนามบินที่ร่วมลงทุน 10% กับ CP ของไทย ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญาเฟส 3 ระยะที่ 1 เมื่อปีที่แล้ว และเมื่อปี 2019 ได้มีการจดทะเบียนถูกต้องเป็นสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทย ครอบคลุม 9 ประเทศ โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ในปีนี้ CRCC สนใจจะลงทุนเพิ่มขึ้นในไทยในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในลักษณะการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ทั้งเรื่องระบบราง ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด และทราบว่ามีโครงการท่าเรือขนาดใหญ่ โครงการขยายสนามบินชุมพร และโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเล ถือเป็นงานที่ CRCC ถนัดและสนใจมาก จึงหวังว่า CRCC คงมีโอกาสร่วมพัฒนาจังหวัดชุมพรไปด้วยกันด้วยความรวดเร็ว

นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจาก CRCC สรุปได้ว่า จังหวัดชุมพรแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีการติดต่อค้าขายกับจีนมาโดยตลอด ในจังหวัดชุมพรมีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก แม้แต่บรรพบุรุษของตนก็มาจากประเทศจีน ดังนั้น จังหวัดชุมพรกับประเทศจีนจึงถือว่ามีสายสัมพันธ์เหมือนญาติสนิทกัน สำหรับการเชื่อมโยงธุรกิจการค้าและการลุงทุน จังหวัดชุมพรมีศักยภาพที่จะเติบโตเรื่องการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ที่ CRCC สามารถเข้ามาดำเนินการได้ แต่โครงการขนาดใหญ่ในเมืองไทยต้องเป็นการตัดสินใจระดับรัฐบาล

ขณะนี้ภาคเอกชนชุมพรกำลังเสนอรัฐบาลเรื่องก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ระบบรถไฟรางคู่ รวมทั้งระบบมอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่างชุมพร-ระนอง ซึ่งรัฐบาลกำลังให้มีการศึกษาใหม่เพื่อเชื่อม 2 ฝั่งทะเลคือฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน หากผลการศึกษาออกมาในทางบวก คงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล จนอาจต้องใช้ระบบ PPP เมื่อรัฐวิสาหกิจ CRCC มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ หากรัฐบาลพิจารณาอนุมัติโครงการ โอกาสที่ CRCC จะได้รับการพิจารณาก็มีความเป็นไปได้สูง ทั้งเรื่องการขยายสนามบิน การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และการก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่เชื่อมชุมพร-ระนอง ที่มีหลายจุดต้องผ่านภูเขาขนาดใหญ่ เมื่อ CRCC เชี่ยวชาญเรื่องการขุดเจาะอุโมงค์ และมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมพรก็คิดว่าคงจะมีโอกาสได้ร่วมกันทำเรื่องนี้

“ปัจจุบันชุมพรมีการส่งสินค้าเกษตรทั้งทุเรียน มังคุด ไปจีนเป็นประจำ หากสามารถเชื่อมโยงจากสนามบินชุมพร หรือจากท่าเรือน้ำลึกชุมพรไปจีนได้ จากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEC) ไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็จะเป็นการขยายการค้าการลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ระบบการลงทุนแบบ PPP ถ้าการตัดสินใจระดับรัฐบาลมีความชัดเจนและขับเคลื่อนเรื่องนี้ CRCC ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็มีโอกาสสูงที่จะได้มาร่วมงานกับจังหวัดชุมพร แม้ชุมพรเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโลกระหว่างสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นการสร้างเส้นทางลัดไปต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกา และสามารถดึงนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาได้แน่นอน ซึ่ง CRCC ถือว่ามีโอกาสสูงมากที่จะได้ร่วมลงทุนโครงการเหล่านี้” นายธีระ กล่าว