ผัก “เมดิคอลเกรด” บูม แนะเกษตรรุ่นใหม่เพิ่มมูลค่า

การปลูกพืชแบบโรงเรือนระบบปิด

ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทยในการปลูกพืชแบบโรงเรือนระบบปิด หรือ
“แพลนต์แฟคตอรี่” ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และการปรับตัวอย่างมาก “กฤษณะ ธรรมวิมล” ผู้ก่อตั้งบริษัท MARS ONE Plant Factory Startup ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

หลังจากได้ทุนทำงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เพื่อสร้างอาชีพใหม่ ได้บุกเบิกการปลูกพืชแบบแพลนต์แฟคตอรี่จนประสบความสำเร็จ และมองว่าธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตสูง

“กฤษณะ” บอกว่า บริษัท MARS ONE Plant Factory Startup ถือว่าเป็น startup เจ้าแรกในไทยที่สร้าง plantfactory เชิงพาณิชย์ และกำลังจะทำพื้นที่ปลูกรวมถึงวางแผนไว้ในอนาคตจำนวน 6 สาขา ในชื่อแบรนด์ตามสถานที่ตั้ง

กฤษณะ ธรรมวิมล

ซึ่งแต่ละสาขามีลักษณะแตกต่างกันออกไป ได้แก่ 1.วังรีเฟรช (Wangree Fresh) ตั้งอยู่หมู่บ้านวังรี จ.นครนายก ซึ่งจะย้ายมาอยู่พื้นที่เขตกรุงเทพฯเร็ว ๆ นี้ 2.เชียงใหม่เฟรช (Chiang Mai Fresh)

เป็นฟาร์มปลูกผักสำหรับร้านอาหารในท้องถิ่นและชาวต่างชาติ 3.ภูเก็ตเฟรช (Phuket Fresh) มีพื้นที่ประมาณ 400 ตร.ม. มีเอาต์เลตจำหน่ายผัก เฉลี่ยเบื้องต้นทั้ง 3 สาขา จะสร้างกำไรสาขาละประมาณ 50 ล้านบาท/ปี

ส่วนสาขาที่ 4.พัทยาเฟรช (Pattaya Fresh) และ 5.บางกอกเฟรช(Bangkok Fresh) โดยบางกอกเฟรชจะมี 4 สาขาย่อยที่อยู่ในระหว่างการสำรวจและวางแผน คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถสร้างกำไรได้มากกว่า 100 ล้านบาท/ปี

สำหรับ economies of scale ของการปลูกแต่ละสาขาจะใช้พื้นที่ต่อโรงเรือนประมาณ 40 ตารางวา หรือ 10 x 18 เมตร เงินลงทุนอยู่ที่ 5 ล้านบาท ปลูกผักได้ประมาณ 5 หมื่นต้น/เดือน หรือให้ผลผลิตประมาณ 5 ตัน/เดือน เทียบเท่ากับการปลูกผักปกติ 10 ไร่ และใช้แรงงานเก็บผักเพียง 3 คน เฉลี่ยเก็บผลผลิตได้ 160 กก./วัน

“ตอนนี้แพลนต์แฟคตอรี่มีอัตราการเติบโตปีละเท่าตัว ผักไม่พอขายในช่วงโควิด-19 ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่โรงเรือนเท่าเดิม เพราะซัพพลายบางอย่างในการก่อสร้างขาดแคลน

ทำให้ไม่สามารถทำโรงเรือนเพิ่มได้ แต่ธุรกิจก็มีการขยายตัวไปยัง สปป.ลาว ที่เวียงจันทน์ และสิงคโปร์ ในเวียงจันทน์จะเป็นการนำเทคโนโลยีแพลนต์แฟคตอรี่ไปติดตั้งและเปิดเป็นศูนย์จำหน่ายผัก

ภายใต้ชื่อ เวียงจันทร์เฟรช (Vientiane Fresh) จะเริ่มดำเนินการเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ส่วนที่สิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิตที่แพงกว่าในไทย จึงเป็นการส่งออกผักสดจากฟาร์มในไทยมากกว่าไปลงทุนด้วยตัวเอง มีฟาร์มแพลนต์แฟคตอรี่เป็นเหมือนโชว์เคส (showcase) ไว้ให้คนเข้ามาเรียนรู้เท่านั้น”

นายกฤษณะเล่าว่า แพลนท์แฟคทอรี่ในประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงที่คนไทยหันมาสนใจรักสุขภาพมากขึ้น แต่อยู่ในวงสนใจของคนกรุงเทพฯมากกว่าคนต่างจังหวัด กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทย

ฉะนั้น ตลาดที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศไทยอันดับ 1 คือ ภูเก็ต 2 กรุงเทพฯ และ 3 พัทยา เป็นลูกค้าประเภท niche marketing กว่า 80% ส่วนที่เหลือ 20% เป็น mass market

“อันที่จริงตลาดเรามีทุกระดับ ทุกรูปแบบ แต่ไม่มีผลผลิตพอส่งขายทั้งที่ขายได้ราคาดีด้วย ถ้าขายในราคาเหมือนผักทั่วไปตามท้องตลาดจะได้กำไรอยู่ประมาณ 70-150%

และสาเหตุที่กลุ่มเป้าหมายหลักอันดับ 1 เป็นจังหวัดภูเก็ตนั้น เพราะมื้ออาหารของชาวยุโรปทั่วไปจะกินผักประมาณ 60% โปรตีน 40% คนจีนและสิงคโปร์กินผัก 70% โปรตีน 30%”

ทั้งนี้ การปลูกผักแบบแพลนต์แฟคตอรีเป็นการปลูกผักที่เรียกว่า เมดิคอลเกรด (medical grade) ใช้น้ำดื่ม RO (reverse osmosis) ในการปลูกโรงเรือนแบบระบบปิด 100% สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 21-30 วัน ปลูกผักได้ถึง 15 รอบ ใน 1 ปี รวมมีการควบคุมองค์ประกอบหลักในการปลูก 5 อย่าง คือ

แสง คาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ/ความชื้น ธาตุอาหาร และกระแสลมในระบบ ต่างจากการปลูกพืชในดินปกติที่ใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน

นับเป็นทิศทางธุรกิจที่ดีสำหรับการปลูกพืชแบบแพลนต์แฟคตอรี่ในประเทศไทย แม้ตอนนี้อัตราการเติบโตของแพลนต์แฟคตอรี่อันดับ 1 ของโลกจะอยู่ที่อเมริกา

“ปัญหาการปลูกพืชแบบแพลนต์แฟคตอรี่่ไม่ใช่เรื่องคู่แข่งหรือตลาดผู้บริโภค เพราะถ้าทำได้มีกำไรและขายได้แน่นอน แต่อยู่ที่เงินทุนและการปรับตัวรูปแบบของเกษตรกร ซึ่งการลงทุนนั้นค่อนข้างสูงในมุมของเกษตรกรทั่วไป

ถ้าต้องลงทุนถึง 5 หมื่นบาทก็คิดหนักแล้ว และ plant factory ลงทุนระบบโรงเรือนขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านบาท จึงเหมาะกับธุรกิจแบบ startup โดยเฉพาะ young smart farmer เด็กรุ่นใหม่อายุ 20-35 ปี


เรียนรู้เรื่องนี้ได้เร็ว สามารถกลับไปสอนพ่อแม่ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดโอกาสได้ นับเป็นทิศทางธุรกิจที่ดีสำหรับการปลูกพืชแบบแพลนต์แฟคตอรี่ในประเทศไทย”